โรงเรียนเกษตรกรแนวเรียนรู้สู่ทางรอดของชาวนาไทย


        

              จากสถานการณ์ปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวที่สูง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โดยนายสมพิศ  พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท นำทัพนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรนำกลยุทธ์โรงเรียนเกษตรกรมาใช้  เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของเกษตรกร ในการลดต้นทุนการผลิตข้าว 3 ประเด็นหลัก ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้อย่างแท้จริงคือ 1, ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 2, ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และ 3, ลดการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ซึ่งเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณไร่ละ 2,000 – 3,000 บาท การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นการเรียนรู้เพื่อการค้นหาปัญหาของการทำนา และการเข้าถึงองค์ความรู้การทำนาอย่างแท้จริงด้วยการจัดทำแปลงศึกษา การฝึกปฏิบัติ การสำรวจวิเคราะห์ระบบนิเวศน์ในนาข้าว ก่อนนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหานั้นๆ ในทุกสัปดาห์ๆ ละ 1 วัน เพื่อสร้างความหลากหลายทางวิชาการสู่การพัฒนาอาชีพของเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์สุวัฒน์ ทรัพยะประภา นักวิชาการอิสระ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการเรียนรู้ของเกษตรกร ตลอดฤดูการผลิตข้าว


                     นายสมพิศ  พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีต้นทุนการผลิตที่สูงมากเนื่องจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากเกินความจำเป็น และบริหารจัดการอย่างผิดวิธีส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและระบบนิเวศน์ในนาข้าว ก่อเกิดปัญหาการผลิตข้าวในทุกระยะการเจริญเติบโต เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยการผลิตด้วยความคาดหวังว่าจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือสูงกว่าเพื่อนเกษตรกร จากสภาพปัญหาดังกล่าว การถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรให้รับรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ด้วยการอบรมในห้องเรียนหรือการใช้สื่อต่าง ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่พึ่งพาอาศัยปัจจัยจากภายนอก และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานได้ เนื่องจากเกษตรกรไม่เข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง


                    ดังนั้น การเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เพื่อส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรด้วยนำการควบคุมป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ให้เกษตรกรประยุกต์ใช้วัสดุภายในไร่นา และชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงประหยัดสุด โดยจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรและคัดเลือกเกษตรกรผู้สมัครใจเข้าเรียนรู้ร่วมกันจำนวน 2  กลุ่มๆ ละ 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยอาจารย์สุวัฒน์  ทรัพยะประภา  นักวิชาการอิสระ เป็นพี่เลี้ยง ดำเนินการเรียนรู้ทุกวันพฤหัสบดี ณ หมู่ที่ 3 ตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา และทุกวันศุกร์ ณ หมู่ที่ 12 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี การเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ต้นฤดูฝนคือเดือนพฤษภาคม  2556 เรียนรู้จนถึงการเก็บเกี่ยวประมาณกลุ่มละ 20 ครั้ง สำหรับหลักสูตรการเรียนรู้นั้น ผู้เรียนร่วมพิจารณาเสนอข้อคิดเห็นปัญหาการทำอาชีพเกษตรและตัดสินใจร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่การทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง  ตามแนวพระราชดำริ เป็นการลดต้นทุนการศึกษา การเรียนรู้แต่ละครั้งผู้เรียนจะต้องลงสำรวจแปลงนา เพื่อเรียนรู้การเจริญเติบโต ระบบนิเวศน์ในแปลงนา และได้จัดทำแปลงสาธิตการใช้เมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างกัน คือ 5 กก./ไร่ 10 กก./ไร่ 15 กก./ไร่ และแปลงของเกษตรกรเดิมเป็นแปลงเปรียบเทียบ นำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงประกอบการตัดสินใจการเลือกวิธีการบริหารจัดการ และวางแผนการเรียนรู้ในสัปดาห์ถัดไป ควบคู่กับการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในไร่นาของเกษตรกรอย่างง่ายและทำได้ ตรงตามหลัก 3 ป. คือ ประหยัด ปลอดภัย และปฏิบัติได้ สรุปแต่ละประเด็น ดังนี้

                   1, ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ เหลืออัตราเมล็ดพันธุ์ 5-15 กก./ไร่ เช่นเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 ถัง แช่เมล็ดพันธุ์ด้วยน้ำผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา หลังจากบ่มข้าวปลูกแล้วนำมาคลุกเคล้ากับน้ำฮอร์โมนไข่สูตรซูเปอร์ 20 ซีซี กับน้ำสกัดจากเมล็ดสะเดา จำนวน 20 ซีซี เสร็จแล้วนำมาคลุกกับฟ้าทะลายโจรผง จำนวน 1 ขีด ตากให้แห้งก่อนนำไปหว่านในนา ถ้าใช้ 5 กก./ไร่ เพื่อป้องกันหนู และนก ขณะหว่านต้องสังเกตเมล็ดข้าวตกลงนาห่างกันประมาณ 9-10 ซม.

                  2, ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ด้วย ไถกลบตอซังและฟางข้าว ด้วยการเกลี่ยฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักจากหน่อกล้วย 5 ลิตรต่อไร่ ผสมกับน้ำผสมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เพื่อช่วยในการสลายของตอซังและฟางข้าว รวมทั้งเมล็ดข้าวดีดที่ตกหล่นในนา

                    3, ลดการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรเรียนรู้ ระบบนิเวศน์ในนาข้าว โรค-แมลงที่เป็นมิตรและศัตรูในนาข้าว การใช้เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราไตรโคเดอร์มา และสมุนไพรต่างๆ ควบคู่กับการให้น้ำแบบแห้งสลับเปียก รวมทั้งการผลิตและการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ ฮอร์โมน และสมุนไพรต่าง อย่างหลากหลายเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต การป้องกันโรคและแมลงศัตรูข้าว


                      นายวิมล  บุญเงิน สมาชิกโรงเรียนเกษตรกร หมู่ที่ 12 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี กล่าวด้วยรอยยิ้มและภูมิใจที่ได้สาธิตการใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 5 กก./ไร่ ในแปลงนาของตัวเอง เพราะข้าวที่ขึ้นมาแข็งแรง งอกงามเจริญเติบโต ไม่ถูกนก หนู และหอยเชอรี่ กัดกิน ตรงตามคำแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนไข่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา สารสกัดเมล็ดสะเดา และฟ้าทะลายโจรผง “เมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านลงไปศัตรูพืชไม่ชอบ” กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดอีกว่า “ทำอย่างไรก็ได้ให้กลิ่น และรสชาติของข้าวทำให้ศัตรูของข้าวไม่ชอบอีกต่อไป” แต่ต้นทุนการผลิตถ้าไม่รวมค่าเช่านาคงจะเกิน 3,000 บาทไม่มากนัก เพราะค่าน้ำมันและค่าแรงช่วงนี้แพงมาก 


พาน้องแอม จากช่อง 7 สี มาทำสารคดีเกษตร
หมายเลขบันทึก: 542030เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ตามมาให้กำลังใจพี่น้องชาวกรมส่งเสริมการเกษตรทุกท่านครับ

-ลุงวิมล เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ดีและน่านำไปเป็นตัวอย่างครับ

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท