หัวใจสำคัญของการโค้ช: ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


การฟังเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างสูง ไม่น้อยไปกว่าทักษะการตั้งคำถาม เพราะคำถามที่ทรงพลังเกิดจากการฟังที่ลึกซึ้ง ฟังอย่างเข้าถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูด ฟังอย่างลึกซึ้งถึงสภาวะอารมณ์ ค่านิยม รูปแบบการคิด ความต้องการเบื้องลึก หรือแรงจูงใจ

สตีเฟน อาร์. โคววีย์ ผู้เขียนหนังสือ ‘7 อุปนิสัย สำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง ได้แบ่งประเภทของการฟังออกเป็น 5 ระดับ

ระดับที่ 1: ไม่ฟังเลย

ระดับที่ 2: แสร้งฟัง

ระดับที่ 3: เลือกฟัง

ระดับที่ 4: ฟังอย่างตั้งใจ

ระดับที่ 5: ฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ

ในการโค้ช หากโค้ชฟังอย่างตั้งใจ โค้ชจะสามารถเข้าใจความหมายของเนื้อหาหรือสารที่โค้ชชี่ต้องการจะสื่อ แต่อาจเข้าไม่ถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสารนั้น ดังนั้น โค้ชจึงต้องฟังถึงระดับสูงสุดคือระดับที่ 5 ฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathic Listening) เพื่อให้โค้ชสามารถเข้าถึงสภาวะอารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม วิธีคิด แรงจูงใจ ความต้องการเบื้องลึกของโค้ชชี่ ยิ่งโค้ชสามารถฟังได้ลึกซึ้งเท่าไร โค้ชจะยิ่งสามารถตอบสนองต่อโค้ชชี่ได้อย่างมีประสิทธิผลมากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อเนื่องที่สอดคล้องและทรงพลัง การสรุปประเด็นที่ชัดเจนและสะท้อนความจริงบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในความคิด หรือจิตใจของโค้ชชี่ รวมถึงการให้ Feedback อย่างสร้างสรรค์

การฟังเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ และสำหรับบางคน มันเป็นความสามารถพิเศษ โค้ชผู้มีทักษะการฟังที่ยอดเยี่ยมมักมีแนวทางการปฏิบัติตนหรือฝึกฝนตนเองในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

·  รู้จักปล่อยวางความคิด อารมณ์ ความรู้สึกทั้งหมดของตนก่อนเริ่มการโค้ช

·  ฝึกฝนตนเองให้มีสติ อยู่กับปัจจุบัน สามารถตระหนักรู้ตนเองเมื่อเกิดความคิด หรืออารมณ์ต่างๆ

·  ทำสมาธิ ฝึกจิตใจให้ว่างเปล่าจากความคิดทั้งปวง

·  มีความตระหนักในอัตตาของตน และสามารถละวางอัตตาของตนเพื่อผู้อื่นได้

·  มีความสามารถในการแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากการตีความเมื่อรับฟังสิ่งต่างๆ

·  เป็นนักสังเกตการณที่ดี สามารถจับน้ำเสียง สังเกตสายตา สีหน้า และภาษากายของโค้ชชี่ในระหว่างการสนทนา

เนื่องจาก ‘ความไว้วางใจ’ เป็นศูนย์กลางของการโค้ช โค้ชชี่จะไว้วางใจโค้ชที่ฟังตนเองอย่างแท้จริง เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว มนุษย์ต้องการให้คนฟังตนเอง ต้องการคนเข้าใจ การที่รู้สึกว่ามีคนที่พร้อมจะรับฟัง และเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง โดยไม่ตัดสินนั้นเปรียบเสมือนการได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้โค้ชชี่รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง สบายใจ มั่นใจ และไว้วางใจในตัวโค้ช และความสัมพันธ์ที่มีกับโค้ช ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศในการโค้ช ความร่วมแรงร่วมใจ ความสามารถในการเรียนรู้ และการเติบโตจากภายในตนเองของโค้ชชี่


หมายเลขบันทึก: 541929เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท