วาทกรรมกับรายการ Thailand's Got Talent ตอนที่ 7 วิเคราะห์ในแนวฟูโกต์


    ผมเห็นว่าวาทกรรมเรื่องนี้คือการขยายระหว่างความบ้ากับความปกติให้กลับมาเชิดฉายอีกครั้งในสังคมไทย ในเทปแรกนี้ปฐมบทของการปูเรื่องไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างคอมเมนเตเตอร์พิธีกร และผู้ชมในห้องส่งที่เป็นตัวแทนของ “คนปกติ” ในสังคมที่รู้จักการสื่อสารกับผู้อื่น กับ “สิทธัตถะเอมเมอรัล” ที่เป็นตัวแทนของคนที่พูดจาห้วนๆเข้าสังคมไม่เป็นหรือเป็นคนบ้าตามแนวคิดของฟูโกต์
   สิ่งที่รายการพยายามนำเสนอคือความเป็น“ตัวประหลาด” ของเอมเมอรัลโดยหาได้เจาะเข้าไปว่าเขามีความบกพร่องหรือผิดปกติทางจิตหรือไม่ทั้งๆ ที่ผู้ชมทางบ้านนั่งดูเทปนี้แค่ไม่กี่นาทีก็รู้ว่าเอมเมอรัลมีความผิดปกติบางอย่างในการสื่อสารกับผู้อื่นแต่ทีมงาน กรรมการหรือคอมเมนเตเตอร์ พิธีกรบนเวทีตลอดจนผู้ชมในห้องส่งที่เห็นเขาและอยู่ใกล้ชิดกับเขามากกว่าคนดูทางบ้านกลับไม่รู้หรือปฏิเสธที่จะรับรู้ว่าเขาไม่ปกติ การแสดงท่าทางดูถูกหมิ่นหยามผู้ที่มีอาการบกพร่องทางจิตเสมือนว่าเขาไม่ใช่มนุษย์เหมือนคนที่กำลังหัวเราะเหมือนผลักมนุษย์คนหนึ่งออกไปเป็นตัวตลกท่ามกลางฝูงชนที่นั่งดูพฤติกรรมเช่นนี้สำหรับสังคมไทยแค่เพียงเป็นคนทั่วไปก็คงรับไม่ได้แล้วแต่นี่เป็นคนที่มีความบกพร่องทางจิตและการเข้าสังคมเรื่องนี้จึงกลายเป็นการเขียนบทให้ทุกคนในรายการแสดงท่าทางเยาะเย้ยและดูถูกผู้มีความบกพร่องทางจิตอย่างเปิดเผยแบบนี้ไม่มีทางที่ใครจะรับได้ถ้าหากอ้างอิงถึงฟูโกต์นี่คือการให้วาทกรรมความเป็นปกติไปเทียบกับความบ้าเพื่อบอกให้คนทั้งหลายรู้ รู้สึก ตระหนักว่า ตนยังเป็นปกติอยู่มิใช่บ้าไปแบบสิทธัตถะ เอมเมอรัล

     ในแง่นี้ผู้ชมที่อยู่ในห้องส่งพิธีกร และกรรมการทั้ง 3 ท่านจากก็ตกอยู่ในวาทกรรมแบบคนปกติทั้งสิ้นการตกในวาทกรรมแบบคนปกติทำให้เกิดอาการหยามหมิ่น ดูถูก กดขี่ ห้ามปรามเอมเมอรัลในขณะนั้น

     ลึกลงไปต่อกรณีที่เกิดขึ้นประเด็นใหญ่ที่ถูกจุดขึ้นมา ก็เลยมีวาทกรรมเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อทั้งหลายเรื่องก็คือเรื่องจริยธรรมของรายการโชว์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันซึ่งถูกมองว่าขาดทักษะในการเข้าสังคมมาแสดงและยืนเป็นตัวตลกให้คณะกรรมการรุมวิพากษ์วิจารณ์ และผู้ชมคนดูก็นำไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อด้วยการละเลงคีย์บอร์ดในเฟซบุ๊คกันสนุกมือประเด็นใหญ่ในที่นี้ก็คือใครจะมีคุณธรรมมากกว่ากันโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธัตถะ เอมเมอรัล เช่น ทางด้านสุภาพร โพธิ์แก้วอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ส่วนตัวจะยังไม่ได้ดูคลิปดังกล่าว แต่หลังจากที่ทีมข่าวเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ถึงกรณีที่เกิดขึ้น เธอได้วิเคราะห์ให้เห็นในภาพรวมว่าตามหลักของการทำรายการโชว์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ หากมองในเชิงธุรกิจ ก็คือการสร้างกระแสให้ผู้ชมคนดูสนใจ เพราะยอดคนดูที่มีผลต่อเรตติ้ง และเม็ดเงินโฆษณา แต่ถ้าพูดในเชิงคุณธรรมจริยธรรม การใช้คน (ผู้เข้าแข่งขัน) มาเป็นหมากในการสร้างกระแสเรียกเรตติ้งคือสิ่งที่ผู้ผลิตรายการต้องคิดให้รอบคอบเพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ผู้เข้าแข่งขันบางรายเสื่อมเสียได้

      ส่วนในมุมของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อสารมวลชนอีกหนึ่งท่านได้เขียนบทความถึงกรณีดังกล่าวไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยตั้งชื่อว่า"ปัญหาจริยธรรมในรายการโชว์"โดยนักวิชาการท่านนี้ได้เขียนถึงสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ และตระหนักเท่าทัน ซึ่งผมขอหยิบยกบางส่วนบางตอนมานำเสนอต่อ
 "รายการนี้ถ่ายทำตามคัมภีร์ การผลิตตามลิขสิทธิ์ที่ซื้อจากฝรั่งมามีการดัดแปลงโปรดักชั่นในบางส่วนบ้าง เช่น พิธีกร หรือ กลยุทธ์การตลาดโฆษณาแต่โดยรวม ต้องถ่ายทำตามตำราอ้างอิงหรือนายฝรั่งอ้างอิงซึ่งเป็นคนขายแฟรนไชส์รายการนี้ให้ เป็นที่แน่ชัดว่า ในอเมริกา การเลือกปฏิบัติหรืออคติหรือการทำให้คนแข่งขันดูเป็นตัวตลกนั้น ยอมรับไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็เป็นที่รับรู้ว่า การแสดงใดๆ เป็นความยินยอม เต็มใจ ของผู้แสดงผู้เข้าประกวดแข่งขันเองทั้งสิ้น จะไปฟ้องร้องบริษัทในภายหลังมิได้
      ดังนั้นก่อนการผลิตจึงต้องมีการเซ็นสัญญา เพื่อป้องกันความผิดพลาด หรือการเปิดโปงเปิดเผยข้อมูลการผลิตแต่ถึงอย่างไรก็ตามจริยธรรมในการผลิตกับความยินยอมในทางกฎหมายถูกเชื่อมด้วยผลประโยชน์ของรายการผ่านการตอบแทนด้วยค่าจ้างและกำไรโฆษณา การละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้แข่งขัน และผู้ดู ผู้ชม จึงถูกชดเชยได้ด้วยเงิน!อย่างในกรณีรายการไทยแลนด์สก็อททาเลนต์ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีจริยธรรมวิชาชีพสื่อสารมวลชนในการผลิต"

      นอกจากนั้น ยังกล่าวต่อไปอีกว่า คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากที่สุดคือ ผู้เข้าแข่งขัน (บางราย) แต่เป็นกฎกติกา ปกติของสังคมที่สาธารณะล้วนแสดงความรู้สึกได้ ชอบ ไม่ชอบ ผ่าน ไม่ผ่าน กลายเป็นวัฒนธรรมผู้ดูผู้ชม ที่มีสิทธิในการแสดงออกความเห็นส่วนตัวเต็มที่คนแข่งต้องยอมรับการถูกละเมิดจากรายการ จากกรรมการ จากคนดูในห้องส่ง และจากสาธารณะสังคม

    อย่างไรก็ดี นักวิชาการท่านนี้ ได้พูดถึงการกำกับดูแลควบคุมเนื้อหารายการ โดยมุ่งไปที่กสทช. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล และลงโทษได้หากพิจารณาว่าเป็นการผิดกฎหมายในเนื้อหาที่ปรากฏ "วรรคทอง คือเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี ในมาตรา 37" ซึ่งใช้ได้เดียวกับกรณีเปลือยนมวาดรูป
 
    "ประเด็นคือปรับน้อยเกินไปไม่คุ้มกับกำไรที่รายการได้เฉพาะค่าโฆษณาต่อตอนก็หลายล้านบาทไปแล้ว วิธีการ และทางเลือกสำหรับกสทช. คือสั่งระงับ แบน และยกเลิกออกอากาศในตอนที่เหลือ แม้จะดูว่ากสทช. มีสิทธิทำได้ แต่กสทช.ไทยคงไม่บ้าจี้ตามนี้ ด้วยเหตุผลบางอย่าง
      สำหรับคนดู ที่ยังชื่นชอบกับความบันเทิงจอมปลอม ฉาบฉวย ก็ดูกันต่อไปสำหรับคนดู ที่อาจจะมีสติ ก็พิจารณาด้วยปัญญา สำหรับคนดู ที่อยู่ตรงกลางๆก็ดูเอาบันเทิง รู้เท่าทัน และไม่ต้องสนับสนุนสินค้าโฆษณาที่สนับสนุนรายการที่มีปัญญาจริยธรรมในการผลิต ที่สุด ก็แล้วแต่ทางเลือกของคุณในระบบเสรีสื่อ"
      ถ้าเทียบกันระหว่างสุภาพร โพธิ์แก้วกับ ธาม เชื้อสถาปนศิริในสายตาของฟูโกต์แล้วผมเห็นว่าธามเป็นผู้มีศีลธรรมยิ่งกว่าสุภาพรเพราะธามวิจารณ์ทั้งรายการที่ต้องมีการเซ็นสัญญาระหว่างรายการกับผู้ชมและผู้เข้าแข่งกัน เสนอให้ทั้งผู้ดูที่อยู่ทางบ้านว่าถ้าอยากเอาความบันเทิงจอมปลอมก็ขอให้ดูถ้าคนมีสติก็อาจดูเพื่อความบันเทิงและไม่สนับสนุนสินค้าให้สนับสนุนแต่รายการที่มีศีลธรรม และให้กสทช.เข้ามาจัดการ /จัดระบบรายการนี้ก็คือสั่งระงับ แบน และยกเลิกออกอากาศในตอนที่เหลือ อย่างไรก็ตามการเข้ามาจัดระบบจัดการเป็นการสร้างเอกลักษณ์อัตตลักษณ์ และความหมายถือเป็นการกักกัน เก็บกด ปกปิดมิให้รายการอย่างนี้ดำรงอยู่ในโลกนั่นเอง 

     สุดท้ายเรื่องนี้ต้องมาจบลงที่จิตแพทย์ เพราะจิตแพทย์เป็นผู้มีความรู้มากที่สุดเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นกลาง สามารถสอบถามคนบ้าได้อย่างเป็นปรนัย เป็นผู้หนึ่งในบรรดาคนที่ปกติทั้งหลายจิตแพทย์อย่าง นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุลคุณหมอท่านนี้ได้เขียนให้ความเห็นถึงความอัปยศของวงการสื่อเมืองไทย(บางเจ้า) ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นเดียวกันโดยเฉพาะตอนล่าสุดของรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้โดยจิตแพทย์ท่านนี้มองว่าการเอาคนที่ไม่ว่าจะป่วยทางจิตจริงหรือเตี๊ยมกันมาโดยไม่ได้เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเอามาล้อเลียนหรือพูดจาดูถูกเหยียดหยามเป็นเรื่องตลกขบขันถือเป็นเรื่องที่แย่มาก
 
 "รายนี้ผมมองด้วยคอมมอนเซนส์ก็พอจะรู้ว่าจิตไม่ปรกติและคนที่ถูกคัดเลือกมาเป็นกรรมการรายการแบบนี้ รวมถึงโปรดิวเซอร์ควรจะรู้อะไรมากกว่านี้ หรือว่ารู้ แต่ยอมเอามนุษย์คนนึง (หรือตัวแทนคนป่วยทางจิต)มาเหยียบย่ำเพื่อความบันเทิงของรายการตัวเอง เพื่อเรตติ้งของรายการของตัวเองผมว่าเหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดในประเทศอื่นๆ ที่เจริญแล้วคนเขาให้การยอมรับและให้เกียรติคนในสังคมมากกว่านี้ไม่ว่าจะจิตปรกติหรือไม่ปรกติก็ตาม 
 
 "ผมว่ามาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมและมาตรฐานความสามารถของทีมงานรายการนี้ต่ำมากระวังว่าวันหนึ่ง พวกคุณเกิดป่วยทางจิตขึ้นมาแล้วทำอะไรตลกขบขันแล้วคนอื่นเขาไม่รู้ และเอาคุณไปด่าหรือประณามหยามเหยียดบ้าง จะรู้สึกอย่างไรเวรกรรมมันมีจริงนะจะบอกให้ อย่ามัวแต่หลงระเริงกับหน้าตาหรูๆชื่อเสียงโด่งดังในสังคมอย่างเดียว อะไรๆในโลกนี้ล้วนอนิจจังทั้งนั้นผมมีคนไข้ที่เคยดูดีๆแบบพวกคุณไม่น้อยเลย"

   

    ภาคการปฏิบัติการของฟูโกต์ อาจมีได้ 2 แง่ก็คือ 1. เทคนิค/กระบวนการในจัดระเบียบเพื่อให้การพูดถึง เขียนถึง ขบคิด วิเคราะห์ถึงความบ้ากับคนปกติเป็นไปได้ และเทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดก็จะเป็นการทำให้เรื่องนี้กลายเป็นแขนงวิชา หรือความรู้ที่ใช้โดยคนปกติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสื่อ และนักจิตวิทยาทั้งหลาย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือคนปกติใช้วาทกรรมเรื่องนี้ไปได้กับคนที่ไม่ปกติในการเพิ่มอำนาจของตนเหนือพวกคนไม่ปกตินั่นเอง และ 2. เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ในทางเวป และสื่อสารมวลชนเป็นจำนวนมากมาก เอาเป็นว่าในช่วงนั้นมีแต่คนวิจารณ์สิทธัตถะ เอมเมอรัลทั้งในแง่เห็นด้วยและเหยียดหยาม

    แล้วเราจะสามารถยกเอาความแตกต่างระหว่างความบ้ากับความปกติออกไปจากตัวเราได้อย่างไร ในเมื่อกรรมการ ผู้ดู และพิธีกรต่างเป็นวาทกรรมฝ่ายปกติ เอมเมอรัลและคนดูที่ไม่ชอบการเหยียดหยามมนุษย์ก็เป็นฝ่ายเข้าข้างความบ้า นอกจากนี้ยังมีวาทกรรมของผู้เชี่ยวชาญเรื่องสื่อก็ระบุว่ารายการนี้ดูถูกคนบ้า และยังมีวาทกรรมของนายแพทย์นักจิตวิทยาที่ระบุว่าถ้าทราบว่าเขาไม่มีความปกติแล้วยังทำเช่นนี้ก็เรื่องที่แย่มาก  นอกจากนั้นแล้วทั้งหมอ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสื่อ และคนดูที่เข้าข้างความบ้านั้นก็กำลังแข่งขันกันว่าใครจะเป็นผู้มีศีลธรรมในระดับสุดยอดมากกว่ากัน

หนังสืออ้างอิง
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา:อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. สำนักพิมพ์วิภาษา:กรุงเทพฯ

กฤษณ์  จันทร์ทับ.บทความวิเคราะห์ มิเเช็ล ฟูโกต์ :ร่างกายใต้บงการปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่.http://www.artsedcenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539325313&Ntype=9  เข้าถึงเมื่อวันที่5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

WeerapongWorrawat. บทที่ 2 วาทกรรมกับการวิเคราะห์วาทกรรม.http://worrawat.exteen.com/20071128/2-discourse-and-discourse-analysis เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Sila Phu-Chala.“วาทกรรม” คำนิยมร่วมสมัยของ Foucault.http://www.gotoknow.org/posts/469291  เข้าถึงเมื่อวันที่5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ถิรนัย อาป้อง. อำนาจ: ว่าด้วยมโนทัศน์ทางแนวคิดทฤษฎี.http://chornorpor.blogspot.com/2011/09/blog-post_22.htmlเข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร. มิเชล ฟูโกต์: วาทกรรม อำนาจ ความรู้. http://www.ajarnjak.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=67616&Ntype=4เข้าถึงเมื่อวันที่ 5มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้เขียน.ทางบ้านไม่สอน "จรรยาบรรณ" TGT+ เสี่ยตาเรียกเรตติ้งฆ่า “เอมเมอรัล” ทั้งเป็นบนเวที

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9560000068959  เข้าถึงเมื่อวันที่5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้เขียนสับเละ! กรณี 'สิทธัตถะ เอมเมอรัล'จริยธรรมรายการโชว์..อยู่ไหน?

http://www.mgronline.com/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000066730  เข้าถึงเมื่อวันที่5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์.ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง (2).

http://pjanderson.blogspot.com/2010/10/blog-post_08.html  เข้าถึงเมื่อวันที่5 มิถุนายน พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 541194เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไม่ดูรายการนี้เลย

ขอบคุณสำหรับการวิเคราะห์ครับอาจารย์ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท