ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๑. เรียนรู้จากการประชุม Coordinators ของ PMAC 2014



          วันที่ ๑๖ พ.ค. ๕๖ ที่โรงแรม รอยัลพลาซ่า เมือง มงเทรอซ์  ผมเปลี่ยนสวิตช์สมองจาก tourist mode เป็น working mode  ในการเข้าร่วมประชุม Coordinators ของ PMAC 2014  ซึ่งมีกำหนด ๒ วันคือ ๑๖ - ๑๗ พ.ค. ๕๖ 

          เนื่องจากผมอาวุโสที่สุด จึงถูกสั่งให้เป็นประธาน  ผมทำหน้าที่ประธาน ๒ นาที คือกล่าวต้อนรับและขอบคุณ  แล้วมอบให้ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ทำหน้าที่ดำเนินการประชุม  เพราะท่านรู้จักคน และรู้เรื่องการเตรียมการประชุมอย่างดี  ปรากฏว่า ท่านทำหน้าที่ประธานได้อย่างดียิ่ง  เข้าใจว่าท่านเตรียมตัวมาทำหน้าที่ประธานล่วงหน้า  เพราะรู้เชิงกับผมเป็นอย่างดี 

          ผมไม่เคยเข้าร่วมการประชุม Coordinators Meeting ของ PMAC ปีก่อนๆ เลย เพราะเป็นการลงรายละเอียดของการประชุม,   ในฐานะประธานของ IOC (International Organizing Committee) ผมไม่ลงรายละเอียด  แต่การประชุม PMAC 2014 เป็นเรื่อง การศึกษา/การเรียนรู้ของนักวิชาชีพสุขภาพ  ที่เป็นเรื่องที่ต้องมีการขับเคลื่อนต่อในประเทศไทย อย่างมากมาย  ผมจึงจัดเวลาเข้าร่วม  รวมทั้งหาโอกาสชวนสาวน้อยไปพักผ่อนที่สวิส ตามที่เล่าแล้วในบันทึกก่อนๆ

          ผมได้เข้าใจว่า ทำไมการประชุม PMAC แต่ละปี จึงมีคุณภาพสูงยิ่ง  เพราะการประชุม CM นี้ลงรายละเอียดเชิงเนื้อหาและกระบวนการ  ผู้เข้าประชุมเป็นผู้รู้ผู้ทำงานในเรื่องของการประชุม PMAC หลากหลายด้าน  และมีการเสนอความเห็นที่สนับสนุน และแตกต่างกันอย่างตรงไปตรงมา

          ทีม secretariat ของไทย ที่นำโดย รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา ทำงานเก่งมาก  ยิ่งได้กุนซืออย่าง นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ยิ่งทำให้มีความล้ำลึก และมีสีสันยิ่งขึ้น  นอกจากนั้นยังมี ดร. ตวง (วไลพร พัชรนฤมล) มาร่วมด้วย ยิ่งทำให้ทีมยิ่งแข็งขึ้น 

          การประชุมวันที่ ๒  คือ ๑๗ พ.ค. ๕๖  ช่วยให้ผมเข้าใจประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ ความเป็นธรรม (equity) ของวิชาชีพสุขภาพ  เชื่อมโยงสู่การพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นธรรม  

          ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง  มีความไม่เป็นธรรมสูงของระบบสุขภาพ และของระบบ บุคลากรสุขภาพ (health workforce inequity)  และจริงๆ แล้ว ประเด็นนี้ก็เป็นความท้าทายของประเทศไทยด้วย  แม้เราจะมีเรื่องราวของความสำเร็จประปรายอยู่ในมาตรการหลายมาตรการ  ได้แก่ การบังคับบัณฑิตแพทย์ ทำงานใช้ทุนในชนบท ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ (และภายหลังในบัณฑิตวิชาชีพอื่นๆ ), โครงการ CPIRD, โครงการ ODOD และการให้แรงจูงใจ ส่งเสริมให้บุคลากรสุขภาพทำงานอยู่ในระบบบริการในชนบท ด้วยมาตรการที่หลากหลาย  (และกลายเป็นประเด็นขัดแย้งเรื่อง P4P อยูในขณะนี้) 

          การที่ประเทศไทยเราจัด PMAC เพื่อทำประโยชน์ให้แก่โลก  และมีวิธีจัดการการประชุม อย่างมีคุณภาพสูงสุด  จนเป็นที่กล่าวขวัญเป็นตัวอย่างของการประชุมนานาชาติที่มีคุณภาพ  ถือเป็นการประกาศเกียรติคุณของประเทศ  ยิ่งการประชุมนี้ เป็นการประชุมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนก  การจัดการประชุมให้มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ  และทีมงานก็ได้รับ ความชุ่มชื่นในหัวใจ ที่ได้บำเพ็ญตนตามพระยุคลบาท


วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ค. ๕๖  เพิ่มเติม ๗ มิ.ย. ๕๖  










หมายเลขบันทึก: 541026เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2013 07:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท