รออ่านของจริง


เรื่องราวของ อ.มิตซูโอะ ดังที่ปรากฎในข่าวนั้นเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายของผมจริงๆ ครับ ก่อนหน้านี้ทันทีที่ได้ข่าวท่านสึกผมก็นึกว่าท่านคงหนีความวุ่นวายของความเป็นพระดังแล้วกลับญี่ปุ่น ผมยังอนุโมทนาว่าเป็นสิ่งที่สมควรแล้วเพราะท่านเหมือนคนใกล้เกลือกินด่าง ในฐานะคนญี่ปุ่นก็ควรได้กลับไปศึกษาศาสนาพุทธในแบบของญี่ปุ่นที่ไม่ได้แพ้แบบไหนในโลก

แต่เมื่อรูปการณ์ออกมาในลักษณะนี้ผมก็ยังอนุโมทนาอีกว่าเป็นเรื่องที่ดีอีกเหมือนกัน ผมคาดหวังว่าเราจะได้อ่านหนังสือดีๆ จากท่านในอีกไม่นานนี้ และเป็นหนังสือที่ใช้ประสบการณ์ชีวิตจริงเป็นฐานของการเขียนครับ

ปัญหาของพระที่บวชตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็คือไม่ได้สัมผัสความทุกข์โดยตรงแบบมือหนึ่ง (หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า first-hand experiences) ถ้าเราอ่านหนังสือที่เขียนโดยท่านเหล่านี้จะเห็นว่าความทุกข์ที่ท่านอ้างอิงนั้นมาจากได้อ่านได้ฟังมาทั้งนั้น ไม่ค่อยจะมีที่ประสบมากับตัวเอง ความเข้าใจในทุกข์มือสอง (second-hand experiences) นั้นอย่างไรก็ไม่เท่าความทุกข์มือหนึ่งครับ

ปัญหาอีกประการของการบวชตั้งแต่อายุน้อยคือไม่มีความรู้เท่าทันต่อโลกมากนัก เรียกว่าเห็นโลกนี้สวยงามกว่าความเป็นจริงนั่นเองครับ เรื่องบางเรื่องที่คนที่เจอความทุกข์มามากและเจอคนมาหลายแบบอาจจะรับรู้ได้ในทันที แต่พระที่บวชมาตั้งแต่อายุน้อยๆ อาจจะไม่รู้ครับ

ไม่ว่าศาสนาไหนก็ตาม จะมีคำสอนหนึ่งที่พูดเหมือนกันก็คือ "ถ้าไม่เจอทุกข์ ก็ไม่เห็นสุข" ดังนั้นผมคิดว่าเราทุกคนที่พบเจอความทุกข์ในการมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้นั้นที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ดียิ่ง เพราะทำให้เราได้เห็นความสุขที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ความทุกข์เหมือนกระจกส่องความสุขนั่นเองครับ

ศาสนาพุทธสอนให้เรา "วิปัสสนา" ส่วนศาสนาคริสต์สอนให้ "meditation" เพื่อให้เห็นถึงสุขถึงทุกข์อย่างแท้จริง ดังนั้นความสุขและความทุกข์ที่เราได้เจอนั้นเป็นวัตถุดิบสำหรับการปฎิบัติตรงนี้นั่นเอง

ผมคิดว่า "วิปัสสนา" กับ "Christian meditation" นั้นเหมือนกันมาก ยิ่งผมศึกษาผมก็ยิ่งเห็นความเหมือนมากกว่าความต่าง แต่เรื่องนี้ก็ต้องศึกษากันต่อไปอีกครับ

กลับมาที่เรื่อง อ.มิตซูโอะ ต่อ

ผมเชื่อว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่อาจารย์จะได้เจอความทุกข์ในรูปแบบที่อาจารย์อาจไม่เคยเจอมาก่อนครับ

ไม่ได้แช่งนะครับ ชีวิตฆราวาสนั้นไม่มีใครหลีกหนีความทุกข์พ้น ความสุขนั้นเกิดขึ้นเมื่อเราเรียนรู้ปรับตัวเพื่ออยู่กับความทุกข์ครับ ดังนั้นในอีกสองสามปีหลังจากนี้เราอาจจะได้อ่านหนังสือดีๆ ที่มาจากมุมฆราวาสที่เจอทั้งทุกข์และสุขโดยตรงของท่านก็ได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 540960เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2013 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2013 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นมุมมองอีกมุมหนึ่งที่น่าคิด พี่จะรอดูและรออ่านหนังสือที่อาจมีมา ในอนาคตด้วยคน

คำว่า ทุกข์มือหนึ่งและมือสอง เป็นคำที่เข้าท่า เชียวค่ะ

คงได้อ่านเฉพาะทุกข์ที่กำจัดไปได้แล้วละครับ ถ้าแม้นว่ามีทุกข์ใหญ่ที่ท่านขจัดไม่ได้ ที่เราจะได้อ่านคงจะเป็นข่าวซะมากกว่า

ได้ยินว่าท่านจะเขียนหนังสือสอนเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่อิงกับศาสนาใดๆ (ประมาณนี้นะคะ ฟังแบบคร่าวๆมาก) เชื่อว่ามุมมองต่างๆที่อยู่ในตัวท่านก็คงจะเหมือนเดิมนั่นเองไม่ว่าท่านจะอยู่ในสภาวะใดนะคะ 

ได้เรียนรู้ว่า ทุกข์มือหนึ่ง (ทุกข์ป้ายแดง) และทุกข์มือสอง  อย่างไรก็ทุกข์ แต่ทุกข์ไม่อยู่กับใครนานหรอกครับ เช่นเดียวกับสุข แต่สิ่งที่อยู่นานคือความยึดติดในทุกข์ และสุขต่างหากครับ 

ไม่มีความเห็นสำหรับเรื่องนี้ค่ะ ^__^


เชื่อว่าหลายคนคงรอดูเหตุการณ์....

หลายคน (รวมทั้งกระติกด้วย)คงตั้งคำถามว่า...เร็วไปหรือไม่สำหรับการตัดสินใจ

  ทั้งนี้แหละทั้งนั้น คงขึ้นอยู่กีบเหตุและผลของแต่ละคน

และหลายคน(รวมทั้งกระติกด้วย) คงเอาใจช่วยให้ชีวิตทางโลกของอาจารย์...สงบ เหมือนชีวิตทางธรรม

ตามความเชื่อ ทุกชีวิตถูกลิขิตบวกกับการตัดสินใจนะคะอาจารย์

สำหรับตนเองถือว่าค่อนข้างเชยนะคะ คือไม่รู้จัก อ.มิตซูโอะเลย อาจจะเคยได้ยินแว่วๆ เรื่องพระอาจารย์ชาวญี่ปุ่น แต่กลับมารู้จักท่าน ตอนที่ท่านสึกแล้ว 

โดยส่วนตัวพอรับทราบ กลับรู้สึกชื่นชมท่านนะคะ และรู้สึกว่า ท่านได้ทำหน้าที่ของพระภิกษุที่ดี เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนละสมณเพศมาเป็นฆราวาส

นั่นคือ..เมื่อไม่สามารถตัดกิเกสทางโลก ก็ยินดีละได้แม้ชื่อเสียงของตนเอง เพื่อธำรงพระพุทธศาสนาไว้ ด้วยการลาสิกขาบทออกมา โดยไม่ผูกพันต่อชื่อเสียงคำสรรเสริญใดใด เพื่อมิให้พระพุทธศาสนาแปดเปื้อน เหมือนพระภิกษุบางรูปที่มีข่าวอยู่มากมายในช่วงปัจจุบันหรือก่อนหน้านี้

ทุกคนมีสิทธิ์ในชีวิตของตน ขอเพียงแค่ไม่ไปทำความเดือดร้อนให้ใครก็เท่านั้นพอ เส้นทางที่ อ.มิตซูโอะเลือก ก็เป็นเส้นทางชีวิตของท่าน การทำความดี การปฏิบัติธรรมและการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ก็หาได้จำเป็น ต้องอยู่ในผ้าเหลืองเท่านั้นไม่ 

การที่หลายคนไม่พอใจ รู้สึกเสียศรัทธา รู้สึกผิดหวัง เพราะเราไปยึดถือท่านเป็นของๆเรารึเปล่า ? จึงไปวาดภาพ ขีดกำหนดไว้ ว่าท่านต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าท่านประสงค์จะสัมผัสทางโลก ก็ละผ้าเหลืองออกมาเช่นนี้ แสดงว่าท่านให้เกียรติและให้ความเคารพต่อพระพุทธศาสนา ทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ขัดต่อความต้องการของตนเอง

แต่เพียงแค่ขัดต่อความต้องการของคนอื่น เพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวังต้องการของคนอื่น

จะว่าไป ก็น่าเห็นใจท่านอยู่นา...

ผมก็คิดคล้ายๆ กันครับ ได้เขียนในบันทึก "พระแท้ไม่จำเป็นต้องเป็นพระ" ครับ การสึกมาเพื่อมีครอบครัวจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรครับ แต่บันทึกนี้ของผมจริงๆ สะท้อนถึงความรู้สึกที่ว่าการเลือกคู่ครองของคนนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ในการรู้จักคน พระที่บวชตั้งแต่อายุน้อยๆ นี่อาจจะไม่ค่อยทันโลกฆราวาสครับ นั่นคือ สมมติว่าถ้าท่านเป็นเพื่อนผม ผมอาจจะไม่แนะนำให้ท่านเลือกคู่ครองคนนี้ครับ

แต่ก็นั่นละครับ ผมเป็นแค่ผู้ติดตามข่าวที่มองจากภายนอก ไม่ได้รู้จักใครจริงๆ แล้วผมก็ตัดสินจากประสบการณ์ทั่วไป ไม่ได้หมายความว่าผมจะถูกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท