ห้องสมุดสถาบัน TIJ: ห้องสมุดแห่งอนาคต


นัทธี จิตสว่าง


ภายหลังที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยขึ้นมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice) หรือเรียกย่อๆว่า สถาบัน TIJ ก็ได้มีกิจกรรมต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2555-2556 ได้เริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ตามภารกิจหลักของสถาบันคือการอนุวัติการดำเนินการตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) การส่งเสริมพัฒนาและวิจัยในงานกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรมเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ตลอดจนการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในงานยุติธรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยประสานงานและร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติและประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสถาบัน TIJ ที่จะเป็นสถาบันระดับนานาชาติในโอกาสต่อไปแล้วก็คือ ภารกิจในการเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะทางปัญญาให้กับผู้รับบริการซึ่งจะมาจากนานาประเทศในเรื่องเกี่ยวกับงานยุติธรรม ผู้หญิงและเด็กในงานยุติธรรม อาชญากรรมกับการพัฒนา สิทธิมนุษยชนศึกษา และความรุนแรงต่อสตรี ทั้งนี้โดยศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว จะเป็นในรูปของห้องสมุดสถาบัน TIJ


ห้องสมุดสถาบัน TIJ จะแตกต่างไปจากห้องสมุดอื่นๆ เพราะเป็นห้องสมุดแห่งอนาคต เป็นห้องสมุดที่เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นห้องสมุดดิจิทัลเป็นห้องสมุดผสมผสาน (Hybrid Library) ที่ผสมผสานสื่อการเรียนรู้ต่างๆ รวมตลอดถึงการมีเครือข่ายการเรียนรู้กระจายอยู่ในรูปแบบและสถานที่ต่างๆ แต่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยสื่อที่ทันสมัย ห้องสมุดสถาบัน TIJ จึงเป็นห้องสมุดในระดับ Word-Class Library เพื่อรองรับภารกิจของสถาบันซึ่งกำลังจะขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสถาบันในเครือของสหประชาชาติ (United Nations Program Network Institutions) หรือ PNI ในอนาคตอันใกล้นี้

 

บทบาทของห้องสมุดสถาบัน TIJ

ห้องสมุดสถาบัน TIJ จะเป็นห้องสมุดเฉพาะทางที่ให้บริการเน้นหนักในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ของงานในกระบวนการยุติธรรม ผู้หญิงและเด็ก อาชญากรรมร่วมสมัย สิทธิมนุษยชนศึกษา หลักนิติธรรมและเรื่องที่เกี่ยวกับงานยุติธรรมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

 

ห้องสมุดสถาบันTIJ จะเป็นห้องสมุดที่มีบทบาทของการเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้และศูนย์บ่มเพาะทางปัญญาที่เป็นภารกิจที่แตกต่างไปจากภารกิจของห้องสมุดแบบดั้งเดิม

 

ห้องสมุดของสถาบัน TIJ จะไม่ใช่ห้องสมุดที่เป็นที่เก็บหนังสือ วัสดุ ซีดี หรือเป็นเสมือนหอจดหมายเหตุที่รวบรวมหนังสือเก่า ดังนั้น เมื่อเข้าไปในห้องสมุดของ TIJ แทบจะไม่เห็นหนังสือในห้องสมุดเลย เพราะห้องสมุดของ TIJ จะเป็นห้องสมุดที่เป็นแหล่งค้นคว้าโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็น Digital Library และ Hybrid Library ที่ผสมผสานสื่อต่างๆ เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บทบาทของห้องสมุดจะเปลี่ยนไปจากการเป็นที่เก็บหนังสือไปสู่การตอบสนองการเรียนรู้ของผู้รับบริการ บทบาทของบรรณารักษ์ห้องสมุดก็เปลี่ยนจาก “ผู้ดูแลหนังสือเป็นผู้ดูแลผู้ใช้” เจ้าหน้าที่ห้องสมุดต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญการค้นคว้าที่สามารถแนะนำและช่วยเหลือผู้ใช้บริการ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ search engine และฐานข้อมูลอื่นๆ ตลอดจนเป็นผู้ประสานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเอง และผู้ใช้กับผู้เชี่ยวชาญโดยผ่านสื่อหลากหลาย

 

สรุปแล้วเมื่อรวมทั้ง Social Networking ทั้งหลาย ดังนั้นบทบาทห้องสมุด TIJ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นแค่ “ห้องสมุด” ไปสู่ “ศูนย์การเรียนรู้” อย่างแท้จริง เปลี่ยนจากการให้บริการที่เป็นงานหนังสือไปสู่ศูนย์กลางของการพักผ่อนค้นคว้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกิจกรรม บ่มเพาะความคิดความสร้างสรรค์และเป็นสถานที่ให้บริการ e-life อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน ดูภาพยนตร์ การใช้บริการ e-commerce เพื่อ shopping online ห้องสมุดสถาบันTIJ จึงเป็นเหมือน 7-11 ทางปัญญาและการเรียนรู้ที่หิวเมื่อไรก็เข้ามาใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง (สำหรับบริการบางประเภท)


 

ที่มาของความรู้

ที่มาของความรู้ในห้องสมุดของสถาบัน TIJ จะไม่ใช่หนังสือเป็นหลักอีกต่อไป แต่จะเป็นการสืบค้นจากฐานข้อมูลต่างๆ ค่าใช้จ่ายหลักของห้องสมุดสถาบัน TIJ จึงไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาหนังสือ แต่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการสมัครเป็นสมาชิกหรือ ค่า License ในการเข้าใช้ฐานข้อมูลต่างๆ รวมทั้งค่าจัดหา E-book และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงข้อมูลในแหล่งต่างๆ เช่น เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-reader) เพื่ออ่านหนังสือที่อยู่ในรูปของ E-book จำนวนมาก

 

ในขณะเดียวกัน ห้องสมุดจะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตฐานข้อมูลในงานยุติธรรมของไทยและผลงานของสถาบันเพื่อแลกเปลี่ยนกับฐานข้อมูลของสถาบันหรือห้องสมุดของต่างประเทศซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะเป็นจุดแข็งของห้องสมุดสถาบันเพราะเป็นองค์ความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับงานยุติธรรมทั้งของประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

ในส่วนของการเข้าถึงความรู้อีกทางหนึ่งคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งห้องสมุดสถาบัน TIJ จะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงการเรียนรู้โดยสร้างเครือข่ายผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง wiki หรือ blog ซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ที่สำคัญ Podcast และ Videocast หรือ Social bookmarking และ Social networking ซึ่งห้องสมุดสร้างเครือข่ายและสมาชิก Facebook และ Line ของตนเอง

 

บรรยากาศและการออกแบบ

ห้องสมุดของสถาบัน TIJ ไม่ได้มีความใหญ่โตที่เป็นที่เก็บรวบรวมหนังสือไว้จำนวนมาก เป็นห้องสมุดที่มีขนาดไม่กว้างขวางมากนัก แต่ทรงพลังไปด้วยเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร สืบค้น และเสาะแสวงหาความรู้ไปได้แบบไร้ขีดจำกัด เป็นห้องสมุดที่ประกอบไปด้วยมุมต่างๆ ที่หลากหลาย ออกแบบตกแต่งทันสมัย แบบมีดีไซน์ มีมุมช่วยค้นคว้าและประสานการเรียนรู้ มุมสืบค้นข้อมูล มุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมสงบ มุม Café  มุม Multimedia และมุมสนุกซึ่งมีเกมส์ลับสมอง

 

บรรยากาศห้องสมุดสถาบัน TIJ จึงมีความหลากหลายที่แต่ละมุมมีความแตกต่างกันไป เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้บริการของผู้ใช้ที่หลากหลาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ใช้บริการของห้องสมุดสถาบัน TIJ ที่แท้จริงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ค้นคว้าหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ที่บ้าน ที่ทำงาน ที่สวนสาธารณะ ที่ร้านกาแฟ ในศูนย์การค้า หรือบนรถยนต์ รถไฟฟ้า แต่สามารถเชื่อมต่อเข้ามาใช้บริการในห้องสมุด เพียงแต่เป็นสมาชิกที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ามาที่ห้องสมุด เพื่อใช้บริการการค้นคว้า อ่านหรือแลกเปลี่ยนความรู้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ห้องสมุดจัดขึ้น ส่วนบริการและช่วยค้นคว้าของห้องสมุดจึงมีความสำคัญมากที่จะบริการผู้ใช้ที่มาจากทั่วประเทศและทั่วโลก ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า บรรยากาศของห้องสมุดสถาบัน TIJ คือบรรยากาศรอบๆ ตัวของผู้ใช้ ที่ผู้ใช้เลือกใช้บริการมาจากสถานที่นั้นๆ

 

แต่บรรยากาศอีกแบบหนึ่งของห้องสมุดสถาบัน TIJ ที่แตกต่างไปจากที่อื่นคือ ห้องสมุดสถาบัน TIJ จะเป็นห้องสมุดที่มีกิจกรรมหลากหลายอย่างต่อเนื่อง เป็นกิจกรรม ที่ทำให้ห้องสมุดสถาบัน TIJ เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต เป็นห้องสมุดของการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ที่ผู้ใช้สามารถเข้ามา shopping ความรู้และไอเดียใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านงานยุติธรรมที่ผู้คนหลากหลายเข้ามาใช้บริการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องภายใต้กิจกรรมที่ห้องสมุดสร้างสรรค์ขึ้นมาและร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นสื่อการเรียนรู้ต่างๆ

 

สรุป

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice) หรือ TIJ เป็นองค์การมหาชนของไทยที่มีบทบาทในระดับโลกในการขับเคลื่อนภารกิจในการ อนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ ขององค์การสหประชาชาติไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนการพัฒนางานยุติธรรม การส่งเสริมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ห้องสมุดของสถาบัน TIJ จึงเป็นห้องสมุดที่จะต้องตอบสนองและสอดคล้องต่อภารกิจของสถาบันเป็นห้องสมุดที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านงานยุติธรรมและงานที่เกี่ยวข้องในระดับโลกที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทั่วโลกและมีผู้ใช้บริการจากทั่วโลก และที่สำคัญ เป็นห้องสมุดระดับ World class ที่ออกแบบมาเพื่ออนาคต ที่มีรูปลักษณ์และการบริการแตกต่างไปจากห้องสมุดดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง เป็น“ห้องสมุดในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

 

                                                    *****************************************

หมายเลขบันทึก: 540636เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2013 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2013 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท