อาหารดี__สบายต่อม(ลูกหมาก)



.
สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์เรื่อง "น้ำมัน (จาก) พืชลดเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจาย",
ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
มะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่ เป็นมะเร็งที่โตช้า ไม่ค่อยมีอาการ
.
ส่วนน้อยเป็นมะเร็งที่ลุกลาม หรือแพร่กระจายได้
.

.
ภาพที่ 1: ต่อมลูกหมากอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ล้อมรอบท่อปัสสาวะ (ภาพนี้เป็นต่อมลูกหมากปกติ)
.
.
ภาพที่ 2: ต่อมลูกหมากข้างซ้ายปกติ ไม่กดหรือบีบรัดท่อปัสสาวะ
.
ต่อมลูกหมากข้างขวาโต (ไม่ใช่มะเร็ง) กดหรือบีบรัดท่อปัสสาวะ ทำให้ต้องเบ่งเวลาปัสสาวะ (ฉี่), ปัสสาวะไม่พุ่งไปไกลเหมือนแต่ก่อน มีปัสสาวะตกค้าง อาจทำให้ปัสสาวะกลางคืนกลางดึก หรือทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตันได้
.
.
ภาพที่ 3: ทางเดินปัสสาวะ เริ่มจากไต 2 ข้าง (คน 1 ในพัน อาจมีไตข้างเดียว, พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง), ท่อไต 2 ข้าง, กระเพาะปัสสาวะ, และท่อปัสสาวะตามลำดับ
.
ต่อมลูกหมาก (ระบายสีดำ) อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ล้อมรอบท่อปัสสาวะ
การศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยดุค สหรัฐฯ ทำในกลุ่มตัวอย่างผู้ชาย 4,577 คนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเฉพาะที่ ยังไม่แพร่กระจาย และไม่ลุกลามไปที่อื่น
.
ติดตามไป 8-9 ปี
.
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างตายจากสาเหตุทุกอย่างรวมกัน 1,064 ราย
.
และตายจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน โรคติดเชื้อ ฯลฯ มากกว่ามะเร็งต่อมลูกหมาก = 2.38 เท่า (749 รายต่อ 315 รายตามลำดับ)
.
.
อาหารการกินมีส่วนทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น หรือสั้นลงได้ ทั้งๆ ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเฉพาะที่แล้ว
.
กลุ่มตัวอย่างที่กินไขมันจากพืช หรือน้ำมันพืชมากที่สุด เสียชีวิตน้อยลง = 1/3 เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่กินไขมันจากพืชน้อยที่สุด
.
ตรงกันข้าม, กลุ่มตัวอย่างที่กินไขมันจากสัตว์เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
.
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ พบว่า ถ้าเปลี่ยนกำลังงาน หรือแคลอรีในอาหาร = 10%
.
.
โดยเปลี่ยนจากคาร์โบไฮเดรต หรือคาร์บ (กลุ่ม "ข้าว-แป้ง-น้ำตาล") เป็นไขมันพืช หรือน้ำมันจากพืช จะทำให้โอกาสเสียชีวิตลดลงได้แก่
.
(1). โอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง = 29%
.
(2). โอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุทุกอย่างรวมกันลดลง = 26%
.
ถ้าลดไขมันอิ่มตัว 5% หรือไขมันทรานส์ 1% เป็นไขมันชนิดดี หรือน้ำมันพืชที่ไม่ใช่กะทิ และน้ำมันปาล์ม จะลดโอกาสเสียชีวิตลงได้ 25-30%
.
ตรงนี้บอกเป็นนัยว่า ไขมันทรานส์อันตรายมากกว่าไขมันอิ่มตัว (5% เทียบกับ 1% ตามลำดับ)
.
.
ไขมันอิ่มตัวพบมากในไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู เนื้อสำเร็จรูปซึ่งมีการบดไขมันสัตว์ปนเข้าไป เช่น เบคอน ไส้กรอก ไส้อั่ว หมูยอ หมูหยอง ฯลฯ
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ น้ำมันชนิดดีจากพืชน่าจะมีสารอาหารดีๆ ที่ช่วยป้องกันมะเร็งลุกลาม หรือแพร่กระจาย ได้แก่
.
(1). สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants)
.
(2). สารช่วยลดการอักเสบ (inflammation)
.
.
สมาคมมะเร็งอเมริกันรายงานว่า คนอเมริกัน 1 ใน 6  มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ = 1 ใน 36
.
กลไกอื่นที่ไขมันจากสัตว์เพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากได้แก่ เนื้อสัตว์บางส่วนถูกทำให้สุกโดยผ่านการ "ปิ้ง-ย่าง-ทอด"
.
การ "ปิ้ง-ย่าง-ทอด" ใช้ความร้อนสูงกว่าอาหารจากพืช ซึ่งส่วนใหญ่ปรุงด้วยวิธี "ต้ม-นึ่ง-แกง-ผัด-(หรือ)กินสด"
.
ความร้อนสูงจากการ "ปิ้ง-ย่าง-ทอด" ทำให้เกิดสารเร่งเสื่อมสภาพ หรือสารเอจส์ (AGE), สารโพลาร์ ฯลฯ
.
.
สารเหล่านี้ทำให้อวัยวะภายในแก่เกินวัย แม้มองจากภายนอกดูคล้ายไม่แก่
.
ความร้อนสูงจากการ "ปิ้ง-ย่าง-ทอด" ทำให้ไขมันชนิดดี เช่น โอเมกา-3, โอเมกา-6 ฯลฯ บางส่วนเสื่อมสภาพ กลายเป็นน้ำมันชนิดร้าย, บางส่วนเกิดสารก่อมะเร็ง
.
ตัวอย่างน้ำมันดีๆ ที่เสื่อมสภาพ เช่น น้ำมันปลาไม่ทนความร้อนสูง... เมื่อทอดจะเสื่อมสภาพ แถมน้ำมันปลาส่วนหนึ่งยังซึมออก น้ำมันที่ใช้ทอดซึมเข้า จึงมีคำแนะนำว่า
  • "ปลาไม่ทอด" = ดีกับสุขภาพ
  • "ปลาทอด" = ร้ายกับสุขภาพ
.
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือคนที่เสี่ยงมะเร็ง เช่น ผู้ชายสูงอายุ ฯลฯ ลดน้ำตาล - ลดอาหารแปรรูป เช่น เนื้อสำเร็จรูป ฯลฯ หรือขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว อาหารทำจากแป้ง ฯลฯ ให้น้อยลง
.
สรุปอีกครั้ง คือ ถ้าอยากจะให้มะเร็งต่อมลูกหมาก "โหด" น้อยลง ควรเลือกอาหารอย่างนี้
.
(1). ลด "ข้าวขาว-ขนมปังขาว-อาหารทำจากแป้ง"
.
(2). เลือกกิน "ข้าวกล้อง-ขนมปังโฮลวีท หรือขนมปังเติมรำ" แทนอาหารกลุ่มข้าว-แป้งขัดสี
.
(3). ลดไขมันจากสัตว์ ลดเนื้อสำเร็จรูป
.
(4). ใช้น้ำมันพืช
.
น้ำมันพืชที่ทนความร้อนได้ดี มีไขมันอิ่มตัวต่ำ คือ น้ำมันรำข้าว คาโนลา หรือคาโนลาผสม (เอ็มเมอรัล)
.
(5). หลีกเลี่ยงการ "ปิ้ง-ย่าง-ทอด" > ใช้วิธี "ต้ม-นึ่ง-แกง-ผัด" แทน
.
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

 > [ Twitter ]

  • ขอขอบพระคุณ / Thank Reuters source > JAMA Internal Medicine, online June 10, 2013.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์. 11 มิถุนายน 56. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

หมายเลขบันทึก: 538942เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากเลยครับ

ขอบคุณคุณหมอมากๆ เลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท