ปกิณกะคดีควาย : แมลงกุดจี่กับควาย


น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาเหล่านั้นกำลังถูกคนรุ่นใหม่ดูแคลนว่า ล้าสมัย กลับไปเห่อเหิมรับเอาวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของบรรพบุรุษมาครอบงำวิถีชีวิต

คนในชนบทได้มีการเรียนรู้ถึงวิธีการ ดำรงชีวิตว่าสภาวะต่างๆ ทำอย่างไรจึงจะเอาชีวิตให้รอดอยู่ได้ บางทีก็ไม่ได้เป็นความเก่งกาจเฉพาะตัว เพียงแต่สัญชาติญาณและเหตุการณ์บังคับ หรืออาจเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ  หรือการลองผิดลองถูกกันมานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดก็ได้พบสิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่มีคุณค่าต้อการดำรงชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือศิลปะในการดำรงชีวิต และมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อๆมานับร้อยนับพันรุ่น

แต่ปัจจุบันนี้ น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาเหล่านั้นกำลังถูกคนรุ่นใหม่ดูแคลนว่า ล้าสมัย กลับไปเห่อเหิมรับเอาวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของบรรพบุรุษมาครอบงำวิถีชีวิต

คนในภาคอีสานเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติการดำรงชีวิตอย่าง ทรหด อาจเป็นเพราะความกันดารในอดีตจึงต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับสภาพทางธรรมชาติ เช่นนั้น คนอีสานมีการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย มีอาหารการกินที่คนภาคอื่นเห็นแล้วต้องบอกว่า เปิบพิสดาร”  เช่น การกินก้อยที่ใช้เนื้อสัตว์สดๆ มาปรุง การลาบเลือดที่ใส่เลือดวัว เลือดควาย หรือ เลือดหมูสดๆ การกินที่มีรสขมสุดๆ เช่น กินดีของสัตว์ การรู้จักวิธีจับและกินสัตว์ชนิดต่างๆที่อยู่ตามป่า ตามเขา อยู่ในรู ในหลืบหิน ในโคลนตม หรือในอากาศ มาทำเป็นอาหารได้หลากหลาย บรรดาแมลงต่างๆ มีเป็นนับร้อยๆชนิดที่คนอีสานจับมากิน เช่น แมงกินูน แมงกะชอน จิโป่ม จินาย จิ้งหรีด แมลงดานา มดแดง แม่เป้ง แมงตับเต่า แมงหัวควาย แมงข้าวสาร แมงเม่า ตั๊กแตน แมลงมัน แมงแคง แมลงหน้าง้ำ แมลงเหนี่ยง ตัวแตน แมลงทับ ดักแด้ แมลงกอก แมลงก้องแขน แมลงคราม ด้วงม่วง ด้วงงิ้ว แมลงสีเสียด  แมลงโยงโหย่ ด้วงกล้วย ด้วงตำแย จักจั่น แมลงอี่ แมลงกระโซ่ จิโหลน ตัวบึ้ง ตั๊กแตนอีค่วง แมลงม้า แมลงนารี แมลงช้าง ด้วงช้าง กุดจี่ และแมลงอื่นๆอีกหลายชนิด

 

กุดจี่ขี้ควาย มีชื่อภาษาไทยว่า แมลงกุดจี่ หรือด้วงขี้ควาย มี ๒ ชนิดคือ กุดจี่หวาย (ตัวเล็ก) และกุดจี่หมุ่ม (ตัวใหญ่กว่า) ในตอนหลังพบว่ามีอีกชนิดหนึ่ง คือ กุดจี่กาซึ่งตัวใหญ่กว่า ๒ ชนิดแรก

กุดจี่หวาย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Dung beetle มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Copris nevinsoni Waterhouse / Order Coleoptera Family Scarabaeidia

 

กุดจี่หมุ่ม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Dung beetle เช่นเดียวกับกุดจี่หวาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paragymnopleurus aethiops Sharp / Order Coleoptera / Family Scarabaeidia

 

กุดจี่มีด้วยกันหลายชนิด มีขนาดแตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงดำ สำหรับกุดจี่ขี้ควายมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีหนวดเป็นแบบใบไม้ บางตัวมีเขาบนหัว  ปากเป็นแบบปากกัด ขาคู่หน้ามีลักษณะเป็นหนาม เป็นแผ่นแบน ขาอีก ๒ คู่ที่เหลือมีลักษณะแบนกว้าง มีปีกแข็งคลุมส่วนท้องมิด ลำตัวและปีกมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ บริเวณปีกแข็งมีร่องตามความยาวข้างละ ๘ ร่อง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ขนาดลำตัวของกุดจี่หวายประมาณ ๑๐ - ๑๕  มิลลิเมตร ส่วนกุดจี่หนุ่มประมาณ ๑๘ - ๒๕ มิลลิเมตร

กุดจี่ขี้ควายจะอาศัยอยู่ในขี้วัว ขี้ควายที่ถ่ายมูลไว้ตามธรรมชาติ เช่นตามพื้นไร่พื้นนาในหน้าแล้ง  ที่ผืนดินแห้งเหือดไปแล้วแต่ยังคงมีความชุ่มชื้นพอที่ตัวกุดจี่จะฝังตัวลง ไปได้ เมื่อชาวบ้านปล่อยวัวควายออกไปแทะเล็มหญ้าหรือตอซังในทุ่งนาช่วงหน้าแล้ง ช่วงเดือนมกราคม เดือนเมษายน วัวควายจะกินหญ้าไปพร้อมๆกับทดแทนบุญคุณผืนดินด้วยการถ่ายมูลไปเรื่อยๆ พอตกถึงตอนกลางคืนกุดจี่ก็จะบินลงมาอยู่ในขี้ควาย ขี้วัว เพื่อจัดการกับสารอาหารที่ตกค้างคงเหลือในขี้วัวขี้ควาย เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและสมดุลย์ กุดจี่พวกนี้จะรู้โดยสัญชาตญาณว่าอันไหนเป็นขี้วัว ขี้ควาย(ซึ่งเป็นคนละพวกกับกุดจี่ขี้คน ซึ่งคนอีสานดูออก การนำมากินรับรองได้ว่าไม่มีการมั่ว)

กุดจี่จะอยู่ในขี้วัว ขี้ควายประมาณ ๑ วัน หลังจากนั้นจะฝังตัวลงในดินใต้กองขี้ควายนั้น ดังนั้นชาวบ้านที่ต้องการกุดจี่จะมาคุ้ยหากุดจี่ภายในวันรุ่งขึ้นหลังจาก วัวควายถ่ายมูลลงไปแล้ว  จึงจะสามารถจับตัวกุดจี่ได้อย่างง่ายดาย โดยเพียงแต่ใช้เสียมเล็กๆ มาขุดคุ้ยหรือว่าพลิกกองขี้ควาย ที่เริ่มแห้งหมาดๆไปแล้ว ก็จะพบตัวกุดจี่และจับได้โดยง่าย  แต่ถ้าปล่อยไว้อีกวัน ตัวกุดจี่จะเริ่มมุดลงในดิน จะต้องใช้เสียมขุดแซะลงไปในดิน ถึงจะได้ตัวกุดจี่ ยิ่งปล่อยจนขี้วัว ขี้ควายแห้งยิ่งจะลงไปในดินชั้นลึกลงไปแทบจะหาตัวไม่เจอ

 

จากส่วนหนึ่งในผลงาน ควายกับฅน ของ เรืองศักดิ์ ละทัยนิล ที่ตั้งใจทำขึ้นด้วยความสำนึกในคุณค่า และแรงศรัทธาที่มีต่อ ควายไทย

หมายเลขบันทึก: 53882เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2006 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท