หยิบเรื่องมาเล่า


                                                               หยิบเรื่องมาเล่า

                                                นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)     

หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท – ยวน ตามประวัติที่อาจารย์ทรงชัยเล่าให้ฟัง เริ่มแรกเดิมที่ชาวไท – ยวน นั้นมีถิ่นฐานอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงตรงบริเวณที่เรียกว่าเมืองหรือเวียงโยนก คำว่าโยนกเป็นภาษาบาลีซึ่งมาจากคำว่ายะนะ หรือเยนะ ฉะนั้นคนไทที่อาศัยอยู่เมืองโยนก จึงเรียกตัวเองว่าไทโยนก หรือไทโยนะกะ หรือไท – ยวน เมืองโยนก ปัจจุบันคือเมืองเชียงแสน ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งนับได้ว่าเป็นถิ่นกำเนิดของชาวไท – ยวนทั้งหมด แต่ต่อมาได้อพยพไปภาคเหนือของไทย หรือบ้างก็ถูกพม่าจับเป็นเชลย หรือถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้พระยายมราชยกทัพหลวงไปร่วมกับหัวเมือฝ่ายเหนือ เพื่อทำการกวาดล้างพม่าที่ยึดครองเมืองเชียงแสนอยู่ในขณะนั้นให้สิ้นซากไป หลังจากตีเมืองเชียงแสนได้สำเร็จแล้ว จึงได้ทำการเผาป้อมปราการและกำแพงเมืองทิ้งเสีย พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนที่พม่าจับไว้เป็นเชลย ซึ่งก็ได้แก่ชาวไท – ยวนจำนวนกว่าสองหมื่นคนลงมาด้วย ในระหว่างนั้น ชาวไท – ยวนบางกลุ่มก็ขอไปตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ที่เชียงใหม่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ ไท – ยวน ที่อำเภอลับแล ท่าปลา ตรอน  ส่วนที่อพยพลงมาทางใต้ตามทัพหลวง ซึ่งนำโดยพระยายมราชนั้น ก็มาเลือกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในลุ่มแม่น้ำป่าสักในเขตอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอีกส่วนหนึ่งก็ลงไปถึงจังหวัดราชบุรี ในปัจจุบันชาวไท – ยวน ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้สืบเชื้อสายกันมากกว่า 5 ชั่วคน

สาเหตุที่อาจารย์ได้คิดริเริ่มก่อตั้งหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท – ยวนขึ้นก็เนื่องมาจากแนวความคิด 3 ส. คือ ส. แรก สืบสาวเรื่องราวความเป็นมา ส. ที่สอง สานต่อวัฒนธรรมให้คงไว้ และ ส. ที่สาม เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชนไท-ยวนด้วยกัน เมื่อคิดได้ดังนั้น อาจารย์จึงริเริ่มด้วยการสืบสาวเรื่องราวว่า จริงๆแล้ว ชุมชนไท-ยวนที่ตั้งรกรากอยู่ในอำเภอเสาไห้และอีกหลายอำเภอในจังหวัดสระบุรี หรือแม้กระทั่งชาวไท-ยวนที่อาศัยอยู่ในจังหวดราชบุรีนั้น มีถิ่นกำเนิดมาจากไหนกันแน่ อาจารย์ใช้เวลาศึกษาต้นคว้าอยู่นานที่เดียว ทั้งจากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่และจากพงศาวดารต่างๆ ที่พอจะหาได้ จะได้ข้อมูลที่ตรงกัน จึงทำให้เชื่อได้ว่า แท้จริงแล้วชวนไท-ยวนนั้นไม่ใช่คนพื้นเมืองของจังหวัดสระบุรี หรือราชบุรี แต่ตามที่อาจารย์ทรงชัย เล่าให้ฟังนั้น ไทยวน (อ่านไท-ยวน ไม่ใช่ไท – ยวน)น่าจะเชื่อได้ว่ามาจาก ไท-โยนก หรือคนไทยเมืองเหนือ หรือคนไทย ล้านนา ไม่ใช่ญวน (เวียตนาม)ที่หลายคนเข้าใจกัน

อาจารย์เล่าว่า ปัจจุบันหอวัฒนธรรมแห่งนี้นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไท-ยวนแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม สัมมนา หรือจัดเลี้ยงแบบวัฒนธรรมล้านนา มีการกินข้าวแลงแบบขันโตก ชมการฟ้อนรำอันสวยงามของเด็กๆ เรียกว่าไม่ต้องไปไกลถึงถิ่นล้านนา ก็จะได้สัมผัสบรรยากาศแบบเดียวกันที่นี่ นอกจากนั้นอาจารย์ ยังเปิดเป็นโฮมสเตย์ (Home Stsy) ให้คนที่สนใจได้พักค้างแรมที่นี่ เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตการอยู่อาศัยแบบไท-ยวนแท้ๆ ซึ่งก็เป็นที่ประทับใจแก่ผู้มาเยือนโดยเฉพาะชาวต่างชาติไม่น้อย และต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ให้อาจารย์เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงอไรเพิ่มเติม นอกจากคงสภาพเดิมๆ ที่เป็นอยู่นี้ไว้เท่านั้น เพราะสิ่งเดิมๆ เหล่านี้แหละที่นักท่องเที่ยวต้องการเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรับปรุงต่อเติมขึ้นมาใหม่

ขอแนะนำ ให้ลองไปสัมผัสดูสักครั้งแล้วจะประทับใจไม่รู้ลืม อาจารย์ทรงชัยย้ำนักย้ำหนาว่า ท่านไม่ได้จัดตั้งหอวัฒนธรรมแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อธุรกิจ แต่ทำขึ้นมาตามเจตนารมณ์ของ 3 ส. ที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมาพักต้องเสียค่าที่พักคืนละ 100 บาท และค่าอาหารเย็นขันโตกคนละ 150 – 200 บาท รวมแล้ว 250 – 300 บาท การเดินทางมาที่นี่ก็ไม่ลำบาก เพราะมีถนนเข้าถึง หากๆเพื่อนเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ก่อนถึงตัวเมืองสระบุรีมีทางเลี่ยงเมืองไปลพบุรีและเพชรบูรณ์ ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลี่ยงเมืองนั้นแล้วตรงไปจนข้าแม่น้ำป่าสักอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ให้สังเกตด้านซ้ายมือจะมีทางแยกไปปากบาง หรือทางหลวงหมายเลข 3225 ให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร ก็จะเห็นป้าย หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท –ยวน สระบุรี อยู่ติดถนนด้านซ้ายมือ เนื่องจากหอพักมีจำนวนจำกัด ท่านใดที่ต้องการพักค้างแรมโฮสเตย์ ควรจะจองไว้ล่วงหน้าก่อน ติดต่อสอบถาม โทรศัพท์ 036 – 725224 (อ้างอิง วารสาร สาธารณสุขสระบุรี)

                                                                                           


หมายเลขบันทึก: 538547เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2013 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2013 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เคยไปดูที่" จิปาถะภัณฑ์สภานบ้านคูบัว " ราชบุรีแล้วจ้ะ  น่าสนใจมาก ๆ ตามลิ้งค์นี้จ้ะ

 http://www.gotoknow.org/posts/462794   

ขอขอบคุณ คุณมะเดื่อที่แบ่งความรู้มาให้



 .....  ....มีวัฒนธรรม  ที่งดงาม  มากนะคะ .... ขอบคุณมากค่ะ 


                  



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท