เสรีนิยมประชาธิปไตย ตอนที่ 7 เสรีนิยมสำนักประโยชน์นิยม : ทางเลือกระหว่างความสุขของสังคมและปัจเจกชน


นักปรัชญาสำนักประโยชน์นิยมอีกคนที่มีชื่อเสียงมากคือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806-1873) ซึ่งบิดาของเขา เจมส์ มิลล์ (James Mill, 1773-1836) เพื่อนสนิทของเจเรมี เบนแทม ตัวของมิลล์เองจึงสนิทสนมกับครอบครัวของเจเรมี เบนแทม งานเขียนที่สำคัญของมิลล์คือ System of Logic (1834) และ Principles of Political Economy (1848) ซึ่งถูกใช้เป็นตำราเศรษฐศาสตร์ในอังกฤษและอเมริกาเป็นเวลานาน (ก่อนที่ Alfred Marshall จะเขียนหนังสือที่ถูกใช้เป็นตำราของสำนักนีโอคลาสสิค) หนังสือที่สำคัญที่สุดของมิลล์คือ On Liberty (1859) ซึ่งกลายเป็นข้อเขียนที่สนับสนุนเสรีนิยมของปัจเจกชนที่มีอิทธิพลและถูกใช้อ้างอิงมากที่สุดเล่มหนึ่ง มิลล์เองพยากรณ์ว่าหนังสือของเขาเล่มนี้จะมีความสำคัญในอนาคตอย่างมาก เพราะสังคมอุตสาหกรรมจะคุกคามเสรีภาพของปัจเจกชนมากขึ้นในอนาคต

  มิลล์ได้ก่อให้เกิดคุณูปการสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก มิลล์ได้แก้ไขปรับปรุงหลักการประโยชน์นิยมไม่น้อย เขาพยายามเพิ่มเติมว่าประโยชน์หรือความพอใจบางอย่าง เช่นความพอใจทางปัญญาหรือจิตวิญญาณนั้น มีคุณค่ามากกว่าความพอใจทางกาย เขายังเสนอว่าความพอใจสูงสุดคือ เกียรติ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และการให้เสรีภาพคือวิธีการส่งเสริมเกียรติ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยตามทรรศนะของมิลล์นั้นเสรีภาพจึงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญและเป็นเป้าหมายของสังคมในตัวเองซึ่งต่างจากทรรศนะของเบนแทมที่เห็นว่าเสรีภาพเป็นเพียงวิธีการไปสู่เป้าหมายคือ ความสุข โดยหลักการแล้วเจตนารมณ์ของมิลล์ในที่นี้แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของอรรถประโยชน์เป็นเป้าหมายที่สมเหตุผลสำหรับผู้กระทำการแต่ละคน(individual agent) อย่างไรก็ตาม การนำหลักความคิดนี้ไปปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์อาจจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่าสามารถที่จะทำให้บรรลุความสุขของแต่ละบุคคลได้หรือไม่หากว่ามีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางประการที่จะต้องทำให้เลือกตัดสินใจว่าความสุขของกลุ่มบุคคลหนึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่อีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง

  ประการที่สอง มิลล์เป็นนักคิดที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพอย่างเต็มที่ เขากล่าวว่าสิ่งที่เป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเสรีภาพไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็น “สังคมทรราช” เพราะต่อสู้ด้วยลำบากที่สุด วลีที่สำคัญของเขาคือ“ถ้ามนุษย์ทุกคนยกเว้นเพียงคนเดียวมีความเห็นอย่างหนึ่ง และคนคนเดียวนั้นมีความเห็นตรงกันข้าม มนุษยชาติก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะทำให้บุคคลคนเดียวนั้นเงียบเสียงมากไปกว่าบุคคลนั้น ถ้าเขามีอำนาจมีความชอบธรรมที่จะทำให้มนุษยชาติเงียบเสียง” เขาสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยให้เหตุผลว่าจะทำให้มนุษย์เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น เขายังกล่าวอีกว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยการใช้อำนาจนั้นสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อสิทธิและเสรีภาพนั้นไปกระทบหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น การจำกัดเสรีภาพโดยอ้างประโยชน์ของตัวผู้ถูกจำกัดเสรีภาพเองจึงไม่สามารถทำได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เป็นเรื่องยากที่บุคคลจะให้คุณค่ากับประโยชน์ของบุคคลอื่นมากเท่ากับตัวบุคคลนั้นเอง จึงเป็นหน้าที่ที่ตัวบุคคลนั้นจะตัดสินใจและไม่ควรให้บุคคลอื่นหรือสังคมตัดสินใจแทน

  ถึงแม้มิลล์จะเป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพของปัจเจกชนแบบสุดขั้ว ข้อเสนอของมิลล์เองก็มีความเป็นสังคมนิยมผสมผสานอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ ถึงแม้เขาจะสนับสนุนให้ตลาดทำงานเสรีโดยปราศจากการแทรกแซง แต่นั่นหมายถึงเสรีภาพในด้านการผลิตมิลล์มองว่าเรื่องของการจัดสรรรายได้เป็นคนละเรื่องกับการผลิต เพราะการจัดสรรรายได้ขึ้นอยู่กับสถาบันทางสังคมนอกจากนี้ เขายังเคยกล่าวเปรียบเทียบในทำนองว่า ถ้าหากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมทำให้เกิดการกดขี่ขูดรีดแรงงานอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนั้นโดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ระบบคอมมิวนิสต์ที่ถึงแม้จะด้อยกว่า ก็ยังดูเหมือนจะก่อให้เกิดปัญหาน้อยกว่ามาก เขาเองยังเสนอให้ปรับปรุงระบบวิสาหกิจเอกชนและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลโดยสนับสนุนให้เก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เขาเห็นว่าสิทธิที่จะมอบมรดกนั้นเป็นสิทธิที่ควรได้รับความเคารพ เพราะเป็นเจตจำนงของปัจเจกชน แต่การรับมรดกโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของปัจเจกเพราะทรัพย์สินไปสะสมอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง และให้ยกเลิกระบบค่าจ้างและการจ้างงานในระยะยาว โดยหันมาใช้ระบบสหกรณ์แทน ซึ่งเป็นอิทธิพลของสังคมนิยมยูโธเปียและนักคิดฝรั่งเศสอย่างแซงต์ ซีมง

  เนื่องจากแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทหรือหลายลักษณะ ในที่นี้จะขอแบ่งอรรถประโยชน์นิยมที่มักกล่าวกันโดยทั่วไปออกเป็น2ประเภท ได้แก่

1. อรรถประโยชน์นิยมแบบการกระทำหรือเชิงกรรม(act-utilitarianism) เป็นแนวคิดที่พิจารณาความถูกผิดที่ผลของการกระทำแต่ละครั้งเป็นสำคัญ

2. อรรถประโยชน์นิยมแบบกฎ (rule-utilitarianism)เป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ดีและพิจารณาความถูกผิดจากการกระทำตามกฎเกณฑ์นั้นๆ

เวสท์ (Henry R. West) ได้กล่าวถึงมิลล์ว่ามิลล์ไม่ได้เป็นทั้งนักทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยมแบบการกระทำหรือแบบกฎ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขามองว่าถ้าตีความในแบบของการให้เหตุผลทางศีลธรรมตามอรรถประโยชน์นิยม มิลล์ก็เป็นทั้งสองแบบ กล่าวคือในกรณีที่เกี่ยวกับหลักศีลธรรม มิลล์ต้องการที่จะใช้หลักเกณฑ์อรรถประโยชน์นิยมแบบกฎโดยเห็นว่าหลักศีลธรรมคู่ขนานไปกับหลักกฎหมายเพียงแต่มีบทลงโทษที่เป็นทางการน้อยกว่า ในอีกด้านหนึ่ง เวสท์ ก็เห็นว่ามิลล์ได้ใช้หลักเกณฑ์อรรถประโยชน์นิยมแบบการกระทำซึ่งมีระดับของความยืดหยุ่น ทั้งนี้หมายความว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดให้ใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากหลักการความสุขสูงสุดเป็นสำคัญ วิธีการที่แตกต่างก็จะมีความเหมาะสมกับแต่ละประเด็นที่ใช้หลักศีลธรรมแตกต่างกันออกไปโดยบทลงโทษอาจจะเป็นโดยกฎหมายหรือไม่ก็โดยความเห็นสาธารณชนหรือก็โดยมโนธรรม

ทัศนะของมิลล์ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างอรรถประโยชน์กับความยุติธรรมคือว่าความยุติธรรมในความหมายทางศีลธรรมเป็นหลักการพื้นฐานเช่นเดียวกับอรรถประโยชน์ ขณะที่ความยุติธรรมของกฎหมายมักควรที่จะถูกตัดสินจากหลักเกณฑ์ของอรรถประโยชน์ (นั่นคือกฎหมายดีคือกฎหมายที่มีประโยชน์) เขาคิดว่ามันเป็นสิ่งลวงตาที่สันนิษฐานว่าอรรถประโยชน์และความยุติธรรมในความหมายทางศีลธรรมสามารถขัดแย้งกัน เพราะสิ่งหนึ่ง ๆ ไม่สามารถขัดแย้งกับตัวมันเอง ตามนัยนี้ กฎหมายกับความยุติธรรมเสมือนเป็นสิ่งเดียวกันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งในความเป็นจริงประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันโดยยังไม่เป็นที่ยุติ

ตามนิยามทางปรัชญา สิทธิ (rightness)เกี่ยวข้องกับการกระทำโดยสมัครใจ ขณะที่ความดี (goodness)เกี่ยวข้องกับผลของการกระทำเหล่านั้น นักอรรถประโยชน์นิยมประเมินการกระทำในนิยามของความดีอันเป็นผลจากการกระทำของพวกเขา กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับนักอรรถประโยชน์นิยม การกระทำที่ถูกต้องคือสิ่งที่นำไปสู่ผลที่ดี แม้ว่าความดีสามารถนิยามในทางอุดมคติ นักอรรถประโยชน์นิยมก็มักจะปฏิบัติตามแนวเบนแทม และมิลล์ และนิยามความดีว่าเป็นเรื่องของความพึงพอใจ ความสุข หรือความพอใจในแรงปรารถนาสำหรับนักอรรถประโยชน์นิยมแล้ว การกระทำที่ถูกต้องเพิ่มความสุข หรือนำไปสู่การเพิ่มอรรถประโยชน์ในระยะยาวและอาจกล่าวได้ว่าสำหรับนักอรรถประโยชน์นิยมแล้ว ความดีมาก่อนสิทธิ

หนังสืออ้างอิง

พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล. ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ 1. http://www.gotoknow.org/posts/67240  เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล. ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ 2. http://www.gotoknow.org/posts/67260  เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Kriangsak Teera. เสรีนิยมใหม่ พัฒนาการและอิทธิพล (3). http://kriangsakt.blogspot.com/2008/07/2.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดวงเด่น นุเรมรัมย์.ทฤษฎีประโยชน์นิยม กับสงครามที่เป็นธรรม.http://welcomethai.blogspot.com/2009/11/blog-post.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. แนวคิดอรรถประโยชน์นิยมและทฤษฎีความยุติธรรม. http://integratedsciences-sila.blogspot.com/2011/05/blog-post.htmlhttp://integratedsciences-sila.blogspot.com/2011/05/blog-post.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Dinky Dinke. ทรัพย์สินคืออะไร? – ทรัพย์สินและความรับผิด : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนิติเศรษฐศาสตร์. http://dinkydinke.wordpress.com/tag/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B5-%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A1/  เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 538328เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2013 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท