ผมเดินทางไปทำในสิ่งที่เกลียดมาครับ


วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ผมเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อไปทำสิ่งที่เกลียด

ฟังดูอาจรู้สึกว่า "โง่ๆ" ชอบกล ทำไมคนเราต้องมาทำในสิ่งที่เกลียดด้วยล่ะ

นั่นสิ ทำไมต้องทำสิ่งที่เกลียด จึงขอตอบว่า ชีวิตมันก็เป็นเช่นนี้นี่เอง คงไม่มีใครได้ทำในสิ่งที่รักตลอดไปหรอก หลายๆครั้งก็ต้องฝืนทำ ถูกให้ทำ หรือทำตามหน้าที่ แต่บางคนอาจจะบอกว่า การทำในสิ่งที่เกลียดเป็นก้าวหนึ่งของการพัฒนา อันนี้ดูดีนะครับ และบังเอิญจริงๆว่านี่ก็คือคำตอบของผม

ผมต้องขึ้นมาอบรม HA ครับ 

HA เป็นสิ่งที่เป็นยาขมของผมมาโดยตลอด ผมรู้สึกว่า HA เป็นอะไรที่ทำให้โรงพยาบาลต้องเหนื่อยจากงานที่ทำอยู่มากขึ้น ไหนจะต้องรวบรวมแบบประเมินต่างๆมาให้เขาดู ดูเท่าไหร่ก็ไม่เห็นจะได้มาตรฐานอย่างที่เขาต้องการเสียเท่าไหร่ แล้วทำไมต้องมี HA เบื่อครับเบื่อ 

โรงพยาบาลผมผ่านการประเมิน hospital accreditation มาประมาณ ๑๐ ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอาจารย์สุธรรมเป็นผอ.รพ. ตอนนั้นผมเป็นเพียงแพทย์ใช้ทุน เลยมีส่วนร่วมกับการประเมินโรงพยาบาลน้อยมาก จำได้ว่าในวันที่ผู้ประเมินสถานพยาบาลจาก พรพ.(ตัวย่อในสมัยนั้น) มาประเมิน (จริงๆเป็นการตรวจเยี่ยมหรอก มิใช่ประเมินสักหน่อย) ผมพยายามเอาตัวออกห่างมาตลอด ไม่อยากเจอหน้า ไม่อยากถูกสัมภาษณ์ ไม่อยาก ฯลฯ

ต้องมายุ่งกับ HA จริงๆก็เมื่อต้องมาเป็นรองหัวหน้าภาควิชาเมื่อราว ๔ ปีที่แล้ว ตอนนั้นเจ็บปวดใจมาก เพราะหน้าที่ของการเขียนแบบประเมินตนเองต้องมาตกอยู่ที่ ทีมรักษาพยาบาลของภาควิชา หรือที่เรียกกันว่า patient care team (PCT) และผมเองที่เป็นประธานโดยตำแหน่ง ต้องมานั่งอ่านแบบประเมินที่บุพการีเขียนเอาไว้เมื่อครั้งกระโน้น แล้วแก้ไขให้ตรงกับกาลเวลาที่ล่วงเลยไป บอกตรงๆว่าอ่านไม่รู้เรื่องเลยสักนิด อะไรวะ part 3 patient care process แล้วบทที่ ๑ และ ๒ และ ๔ มันหายไปไหนวะ ไหนจะในส่วนของบทที่ ๓ เองก็มีข้อย่อยมากมาย จึงอ่านของเก่าไป ลบไป และเขียนใหม่ไปตามเรื่อง เอาพอให้มันจบๆ ปัญหาอีกอย่างที่ต้องเผชิญอย่างเสียมิได้ ก็คือศัพท์แปลกๆที่ใครก็ไม่สามารถทำให้คนทึ่มๆอย่างผมเข้าใจ clinical tracer, trigger tool, QMT, CQI, EI3O, และอีกมากมาย แค่นี้ก็มากพอที่จะทำให้ผมเอือมระอา นั่นคงเป็นวาระแรกที่ผมต้องมาข้องเกี่ยวกับ HA เอาตรงๆ

ตลอดเวลาที่เป็นรองหัวหน้าภาควิชา ก็มีหนังสือมาสอบถามเพื่อให้ไปเรียนวิชาคุณภาพของ HA อยู่เนืองๆ คอร์สอะไรก็ไม่รู้มากมายไปหมด แต่ก็กระนั้นแหละ ผมปฏิเสธไปเสียทุกที แต่คราวนี้ไม่สามารถเลี่ยงได้อีกแล้ว มันถึงคราวที่ผมต้องเผชิญกับความจริงเสียที เราคงต้องไปเรียนจริงๆ มิฉะนั้นก็คงเป็นนักพัฒนาแบบบ้านๆต่อไปเรื่อยๆ ออกงานกับใครเขาคงไม่ได้

ศ.วีระศักดิ์ ท่านได้กรุณาสอนผม "เราต้องเริ่มจากความมีมาตรฐานที่สูง เวลาทำงานใดๆมันก็จะง่าย แต่หากเราเริ่มที่มาตรฐานต่ำ หากจะทำงานดีๆที่ใช้มาตรฐานสูงขึ้น เราจะเหนื่อย" รู้สึกดีขึ้นมากเลยใช่ไหมครับ

และนี่ก็เป็นที่มาของการตัดสินใจเรียนในครั้งนี้

ตลอดเวลา ๕ วัน จันทร์ถึงศุกร์ ผมได้อะไรมากมายครับ ไม่น่าเชื่อ ว่าจนถึงบัดเดี๋ยวนี้ ผมรักมันเสียแล้ว เชื่อไหมครับ 
ทำไมน่ะเหรอ 
หากอยากรู้ก็ไปเรียนแบบผมบ้างสิครับ ลองดู

เอาน้ำจิ้มไปก่อนนะครับ

ปรัชญาของกระบวนการ HA
1 HA คือกระบวนการเรียนรู้ มิใช่การตรวจสอบ
2 การเรียนรู้สำคัญเกิดจากการประเมินและพัฒนาตนเองในรพ.
3 เป้าหมายของ HA คือการส่งเสริมให้ รพ.เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย
4 การเยี่ยมสำรวจคือการยืนยันผลการประเมินตนเองของ รพ. และกระตุ้นให้เห็นโอกาสพัฒนาในมุมมองที่กว้างขึ้น

วิทยากรบอกว่ามี 7 ข้อ แต่ผมคิดว่า 4 ข้อนี้แหละคือจริตของ HA

การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการค้นหา positive core ขององค์กร เรียกว่า appreciative inquiry (AI) มันเป็นการเรียนรู้ในตัวตนของเขา เหมือนจีบหญิง เราพยายามเข้าใจเขา ไม่ใช่ให้เขามาเข้าใจเราหรือทำตามที่เราต้องการ หรืออาจจะใช้หลัก 4D discovery dream design destiny 

สิ่งที่เห็นหรือรู้สึกได้จากการมาอบรมครั้งนี้ก็คือ
๑ วิทยากรเก่ง
๒ กระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ อบรมครั้งนี้ เป็นการฝึกอบรมที่ใช้โจทย์มาเป็นตัวตั้งต้นในการเรียน มันเหมือน PBL เลย 
๓ นักเรียนเสนอตัวเองในการอภิปราย น่าตื่นเต้นมากที่เห็นบรรยากาศแบบนี้ ทำไมที่โรงเรียนไม่เป็นแบบนี้ เป็นเพราะวิชาเรียนมีมากมายเกินไปใช่ไหม เรียนคาบละ ๑ ชัวโมง มันจึงไม่สามารถอภิปรายได้ไปมากกว่าการฟังครูสอน การวัดผเป็นการสอบจึงทำให้นักเรียนต้องตั้งใจเก็บ content มากกว่ากระบวนการเรียนรู้ ครูที่โรงเรียนดุเก่ง ไม่ชื่นชม ไม่กระตุ้นนักเรียน
๔ การเริ่มต้นด้วยการชื่นชมสิ่งที่ดีๆ (AI) ในตัวคนอื่นนั้น ทำให้บรรยากาศดี 
๕ แนวคิดการจัดการในเชิงระบบมันดีและยั่งยืนไปกว่าการคิดแก้ไขหรือพัฒนาในรายละเอียด มองภาพกว้างมันเจ๋งกว่ามองผ่านรูเข็ม
๖ surveyor ไม่ใช่คนตรวจสอบหรือเรียกหาเอกสารของผู้ถูกเยี่ยม แต่เราเข้าไปเรียนรู้กระบวนการของเขา ไปค้นหาสิ่งที่เขาทำแต่ไม่เห็น
๗  รู้จักเพื่อนๆเพิ่มอีกเยอะเลย หมอ หมอฟัน พยาบาล เภสัชกร และใช้เวลาไม่นานในการทำความรู้จักกัน คุยกันสนุก 
๘ หลายคนมีอายุมากกว่าผม แต่ผมดูหน้าแก่กว่าหลายๆท่าน ย้ำ ว่ามีอย่างนี้หลายคน
๙ มีหมอท่านหนึ่งบอกว่่า เมื่อจบการฝึกอบรม เรากลับไปบ้านแล้วจะสื่อสารกับเมียเราอย่างไร เพราะตอนนี้ถูกฝึกให้วิเคราะห์มากมาย หาคุณค่าของเขาให้เจอ เสร็จล่ะทีนี้ ปกติเมียเราไม่ได้คุยเพื่อวัตถุประสงค์เช่นนี้เลย
๑๐ โรงแรมนารายณ์เก่า ห้องนอนธรรมดา แต่อาหารกลางวันชั้นเลิศหาคู่แข่งเทียบเคียงยาก
๑๑ ได้เจอเพื่อนที่เรียนกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม ตลอดจนชั้นมัธยม ได้ดื่มเบียร์อร่อยที่แสนชอบ ได้ไปกินมื้อเย็นที่เยาวราช กินแบบตระเวนกิน กินตามรอยที่เขาเล่ามา เห็นอร่อยจริงและอร่อยแบบดีแต่ปาก และได้ดูอุปรากรฝรั่ง Phantom of the opera
๑๒ และท้ายที่สุด มาตรฐานนี้เพื่อคนไทย มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทย ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของที่นั้นๆ

หมายเลขบันทึก: 537693เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมากดไลค์ค่ะ 


สวัสดีครับ

นี่คือพี่มาศที่เราเจอกันในกลุ่ม 451 ใช่ไหมครับ

ดีใจจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท