บางสาวกภาษิตที่ปรากฏในพระสูตร


ดังที่ได้เคยเล่าไว้ในบันทึก “แง่ที่ควรพิจารณาของสาวกภาษิต”ไว้ว่ามีทั้งส่วนที่พระพุทธองค์สรรเสริญ และทรงรับรอง กับส่วนที่ไม่ทรงสรรเสริญ และตรัสชี้ว่าหากภิกษุใดศึกษาแล้วจะเป็นเหตุให้ไม่ใคร่เจริญในพระธรรมวินัย
นั้น อันที่จริง ภาษิตอื่นนอกจากพุทธภาษิตที่ชาวพุทธควรสนใจ ไม่เพียงแต่สาวกภาษิตที่เข้าทางพุทธศาสนาเท่านั้น หากยังมีภาษิตของบุคคลอีกหลายฝ่ายดังที่สมเด็จพระสังฆราชได้บรรยายไว้ว่า

“หลังจากพุทธปรินิพพานหลายร้อยปีที่เล่าไว้ในพุทธประวัติแล้ว คัมภีร์ที่เป็นคัมภีร์ชั้นแรกอันแสดงว่าเป็นพุทธพจน์หรือพุทธภาษิตเป็นส่วนใหญ่ และก็มีสาวกภาษิตหรือแม้แต่เทวดาภาษิตซึ่งเป็นภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงรับรอง หรือว่าที่เข้าทางพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย และแม้ภาษิตที่ไม่เข้าทางพุทธศาสนาที่มีผู้มากราบทูล พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก้ คือ มีทั้ง ๒ อย่าง คือ อย่างที่ไม่เข้าทางพุทธศาสนาโดยตรงหรือผิดทางพุทธศาสนา และที่พระพุทธเจ้าตรัสแก้ให้เข้าทางพุทธศาสนาก็มีอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นแรกที่จารึกไว้คัมภีร์ชั้นแรกนี้เรียกว่า บาลี จากภาษามคธว่า ปาลิ

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ วสุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก) ทศบารมี ทศพิธราชธรรม มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่๓ พ.ศ. ๒๕๔๔ หน้า ๔๐

ดังเช่นสาวกภาษิตของพระสารีบุตรใน“ทสุตตรสูตร”  ที่ได้จัดหลักธรรมเข้าเป็นหมวดๆโดยนำธรรมที่มีองค์ธรรมเท่ากันมารวมไว้เป็นหมวดเดียวกันได้เป็นหมวดธรรมที่มีองค์ธรรมตั้งแต่  ๑ ประการ จนถึง ๑๐(ตามที่ได้ยกมาเล่าไว้แล้วในเอนทรี่แง่ที่ควรพิจารณาของสาวกภาษิต),สาวกภาษิตของพระสารีบุตรและพระปุณณมันตาณีบุตรที่สนทนากัน ในรถวินีตสูตร, สาวกภาษิตของพระอานนท์ในภิกขุณีสูตร เป็นต้น

สำหรับภาษิตของพระอานนท์ในภิกขุณีสูตรนั้น ชาวพุทธมักได้ยินกันบ่อยๆเพราะมักถูกนำมาใช้อ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง นั้นคือ ภาษิตที่พระอานนท์กล่าวกะภิกษุณีที่แกล้งป่วยเพราะอยากเห็นพระอานนท์ว่า “อาศัยตัณหาละตัณหา” ดังจะขอยกมาบางส่วนมาดังนี้

“น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดเพราะตัณหา บุคคลอาศัยตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย’ เพราะอาศัยเหตุไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังข่าวว่า ‘ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันเข้าถึงยิ่งอยู่ในปัจจุบัน’ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อไรหนอ แม้เราก็จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธออาศัยตัณหาแล้วภายหลังจึงละตัณหาเสียได้”

องฺ จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๕๙/๒๒๑

เหล่านี้ย่อมย้ำถึงว่า สาวกภาษิตนั้นมีสองลักษณะดังกล่าว

ชาวพุทธควรจะทำความเข้าใจกับคำว่า “สาวกภาษิต” นี้ กันอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพระศาสนาของเราเอง นั่นเอง




หมายเลขบันทึก: 537317เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 04:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

....ขอบคุณ ความรู้ดีดี นี้ นะคะ .....

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท