“Update APN NAn.” ในการประชุมชมรมวิสัญญีพยาบาล ประจำปี 2556


ต่อไปนี้ ตลอดเส้นทางเดิน ไม่ว่าหนทางจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานกันอย่างไร... เราจะไม่ว่ากัน เราจะให้กำลังใจกันและกันเสมอ สิ่งที่อยากได้ตามฝันคงไม่ได้มาง่ายๆ สบายๆ "รุ่นบุกเบิก... มักบาดเจ็บเสมอ"

การประชุมวิชาการชมรมวิสัญญีพยาบาล แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2556 ใน theme “วิกฤตหรือโอกาสด้านสุขภาพ กับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (AEC)” จัดขึ้นในวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ


การจัดประชุมที่ให้เหตุผลว่า ครั้งที่แล้วคนลงทะเบียนไม่มีที่นั่ง ทำให้ผู้เขียนต้องลงไปนั่งฟังแถวที่ 3 จากท้ายห้องบรรยายใหญ่ แม้ลงทะเบียนเป็นคนที่ 400 กว่า ในจำนวน 928 คน เห็นพิธีกรบอกว่า มากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา จึงไม่สะดวกนักในการบันทึกและฟังให้ชัดดังตั้งใจ เนื่องจากพอมีประเด็นเด็ด... ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สอดแทรกเป็นระยะ ทั้งใกล้และไกล


จับประเด็นคร่าวๆได้ว่า

เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่อยู่ในระดับผู้นำทางการสาธารณสุข การแข่งขันการให้บริการที่จำเป็นต้องเทียบเคียงระหว่างกันกดดันในทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขไทยต้องพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นไปอีก (จากเดิม...ที่บางคนจวนกระอัก) วิสัญญีพยาบาล (ที่ผู้เขียนมองตนเองว่าอยู่ในสภาพ “ลูกนอกสมรส”) จะเผชิญอะไรบ้าง จะต้องวางแผนจัดการอย่างไร และทำอะไรกันไปบ้างแล้ว ถูกทยอยบรรยายในตลอดสองวันของการประชุม (รายละเอียดติดตามได้ในข่าวของชมรมวิสัญญีพยาบาลแห่งประเทศไทยค่ะ)




“วิกฤตหรือโอกาสกำลังคนด้านการพยาบาลวิสัญญีกับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และความก้าวหน้าของวิสัญญี” เป็นประเด็นปาฐกถา โดยนายแพทย์ สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข





สภาการพยาบาลผู้ควบคุมการประกอบวิชาชีพทางการพยาบาลรวมถึงวิสัญญีพยาบาลด้วย ได้มีการดำเนินการ “การเตรียมความพร้อมของพยาบาล สู่ AEC อย่างไรบ้าง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล ได้ให้เกียรติบรรยาย


ในประเด็นดังกล่าวถูกสานต่อโดยสำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข มีการกำหนดสมรรถนะของพยาบาลที่เป็นสิ่งจำเป็นในการคงมาตรฐานการพยาบาลซึ่งกระทำโดยบุคคลต่อบุคคล... อันมีอารมณ์เป็นตัวกำหนดการกระทำที่ยากต่อการควบคุมมาตรฐานบริการให้ดี... อย่างคงที่

ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล ได้ให้เกียรติบรรยาย เรื่อง “สมรรถนะของวิสัญญีพยาบาลสู่ AEC” 



...

ตัดบทเข้าสู่เนื้องานการปฏิบัติของวิสัญญีพยาบาล 

ที่ควบคุมคุณภาพการบริการทางวิสัญญีโดยราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย...




หัวข้อ  “Safety for anesthesia ที่มีความสำคัญสูงสุดของงานบริการวิสัญญีได้รับเกียรติบรรยายโดย รศ.พญ.วรรณา ศรีโรจนกุล ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย อาจารย์กล่าวว่า “เรื่องของความปลอดภัยทางวิสัญญียังไม่มีอะไรใหม่กว่าที่ทำกัน คงเป็นมาตรฐานเดิมที่ปฏิบัติกันอยู่แล้ว...”

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างมากเพราะการติดตามเรื่องคุณภาพทางวิสัญญีตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจากราชวิทยาลัยฯ ทั้งจากงานประกันคุณภาพโรงพยาบาล หรือแม้ในต่างประเทศ จนถึงระดับ ASA (American Society of Anesthesiologist) ก็เห็นว่าได้วางระบบควบคุมไว้ดีมากแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติจะนำมาปรับใช้จริงกับบริบทของตนได้เพียงใด 

ที่ผ่านมาผู้เขียนได้เห็นการบังคับปฏิบัติกันในวงวิชาชีพจนเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยทางวิสัญญีกันแล้วก็ว่าได้ ดังคำกล่าวของชาววิสัญญีที่ว่า “วิสัญญี : เพื่อทุกชีวีปลอดภัย” (Anesthesia : Safety for All)





และปฏิเสธไม่ได้ว่า วิสัญญีพยาบาล เกิดได้เพราะวิสัญญีแพทย์... นี่ถือเป็นบุญคุณที่มิอาจเกิดอคติและอกตัญญูได้... 

เฉกเช่นเดียวกัน พื้นฐานการพยาบาลก็ถูกนำมาเป็นรากฐานใหญ่ที่สำัคัญในการบริการวิสัญญีในอีกหลายมิติ นอกเหนือจากมิติความปลอดภัยทางคลินิก... จึงมิอาจอกตัญญูต่อวิชาชีพพยาบาลได้เช่นกัน


แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวิสัญญีพยาบาลปฏิบัติบทบาทพยาบาลบูรณาการเข้ากับวิสัญญีวิทยาเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย จึงทำให้วิสัญญีพยาบาลต้องทำงานหนัก มีการใช้ทักษะ รวมถึงศิลปะ และความสามารถพิเศษเฉพาะตัวในการทำงานเป็นทีมเพื่อให้งานราบรื่น 

และเมื่อทำงานหนักได้เช่นนี้... ก็คงหวังที่จะมีความก้าวหน้าบ้าง อย่างเพื่อนๆ .มิได้เรียกร้องเกินไป หรือเกินจริง... แต่เรียกร้องบนสิ่งที่มันควรเป็น จึงมีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย...แบบเปิดอกพูด

...

เหนื่อย หนัก แล้วก็อยากก้าวหน้า...

เรื่องของความก้าวหน้าทางสายวิชาการของวิสัญญีพยาบาลเริ่มด้วยหัวข้อ “เส้นทางสู่การพยาบาลขั้นสูงของวิสัญญีพยาบาล” บรรยายโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล และ “การเตรียมความพร้อมของวิสัญญีพยาบาลเข้าสู่การพยาบาลขั้นสูง” บรรยายโดยอาจารย์นิ่มนวล มันตราภรณ์ ทั้งสองท่านแสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างเต็มที่ในการทำให้วิสัญญีพยาบาลมีโอกาสเท่าเทียมพยาบาลสาขาอื่นๆ





และในวันที่สอง เนื้อหายังคงเข้มข้นกับการบริหารจัดการภาระงานที่ใกล้ตัววิสัญญีพยาบาลสังกัดสาธารณสุข ประเด็นยังอยู่ที่การประเมินปริมาณงาน ผลงาน ความยากง่าย ผูกพ่วงกับค่าตอบแทนที่ยากต่อการวัดและตีค่า ซึ่งผู้เขียนไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ได้เพราะบริบทต่างกัน

...

แล้ววิสัญญีพยาบาล อย่างเราจะช่วยทำอะไรได้บ้าง?

สิ่งที่เรามีทุกวันนี้ ไม่ใช่ได้มาอย่างง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็น...

·  โอกาสที่สภาการพยาบาลหยิบยื่นความเป็นพี่น้องให้ ในการให้ได้เป็น APN เท่าเทียมสาขาการพยาบาลอื่น ๆ

·  โอกาสที่ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดใจกว้าง... ร่วมให้แนวทางการปฏิบัติ ในประกาศ APN วิสัญญีพยาบาล ของสภาการพยาบาล... นั่นคือโอกาสให้เราเติบโต

·  โอกาสที่สภาการพยาบาลและราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยให้เราได้เห็นบ้านใหม่ เช่นผู้อื่น คือ วิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย

·  โอกาสที่พี่ ๆ วิสัญญีพยาบาลรุ่นเก่า ๆ และคณาจารย์ทางการพยาบาลที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กรุยทาง สร้างขั้นบันไดให้ก้าวเดิน... โดยพยายามให้มีขั้นบันไดน้อยที่สุดที่ทำให้พวกเราพอเดินได้ในข้อจำกัดที่ต้องแบกภาระช่วยชาติและประชาชนในสถานการณ์ขาดแคลนวิสัญญีแพทย์



     


ผู้เขียนรู้ดี นับตั้งแต่การเขียนบันทึกความรู้สึกในวิชาชีพ ในบรรยากาศต่างๆ... กาลเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนเห็นความเหนื่อยยากของหลายๆท่าน

ท่านที่ปรากฎในภาพบนทุกท่านล้วนเหนื่อยยากทั้งสิ้น... และยังมีอีกมากมายหลายท่านที่อยู่เบื้องหลังการกัดฟันสู้... เพื่อพี่น้องวิสัญญีพยาบาล

ถึงจุดนี้ผู้เขียนมองว่า เราต้องให้กำลังใจกัน เราต้องเข้มแข็งและแข็งแรงมากกว่านี้ ให้มากพอ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี ที่ชัดเจน...อย่างยั่งยืน เพื่ออยู่รอดให้ได้แม้จะมีความต่างอยู่บ้างในกลุ่มเรากันเองด้วยข้อจำกัดของระบบโครงสร้าง 




ดังนั้น ณ ตอนนี้ การก้าวสู่ APN บนเส้นทางใหม่ เป็นเวทีวิกฤตที่ท้าทายพวกเราอีกครั้ง

เราต้องทำตัวให้อ่อน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ ถอยหลังจากสถานการณ์เดิม 1 ก้าว แล้วมองให้รอบ... ตั้งสติ แล้วลุกขึ้นเดินใหม่อีกครั้ง อย่างมั่นคงและสง่าผ่าเผย อย่ายินดียินร้ายกับวิกฤต "ไม่มีชีวิตที่ราบเรียบในชีวิตคน"

วิสัญญีพยาบาลต้องจับมือกัน อดทน ก้าวเดินไปด้วยกันตามขั้นบันไดที่มีผู้พยายามสร้างไว้ให้เหยียบ (แต่ไม่ให้ย่ำ)... อย่างมีพลัง เพราะไม่มีใครรู้ว่าอุปสรรคข้างหน้าจะมีอะไรอีกบ้าง 

ไม่มีวันที่เราจะได้อะไรอย่างสมบูรณ์แบบในช่วงเวลาอันสั้น เพราะเราเริ่มต้นจาก "เราไม่เคยมี" และต่างกรรม ต่างเวลา ปัญหาก็ต่างไป...ในความอยากจึงพบความยาก




ต่อไปนี้ ตลอดเส้นทางเดิน ไม่ว่าหนทางจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานกันอย่างไร... เราจะไม่ว่ากัน เราจะให้กำลังใจกันและกันเสมอ สิ่งที่อยากได้ตามฝันคงไม่ได้มาง่ายๆ สบายๆ แบบ “นอนมา” 

ดังนั้นจงทำใจว่า  "รุ่นบุกเบิก... มักบาดเจ็บเสมอ"

แล้วสุดท้ายใคร ๆ จะพบว่า วิสัญญีพยาบาลคือกลุ่มพยาบาลที่ “คมในฝัก...ตัวจริง”


วิสัญญีพยาบาล จงเจริญ

ไช... โย...


กฤษณา สำเร็จ

24 พฤษภาคม 2556


<p></p>

หมายเลขบันทึก: 537001เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2014 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ความคุณความรู้ดีๆที่เอามาแบ่งปันนะครับพี่..หลายเรื่องเป็นความรู้ที่สามารถเอามาปรับใช้ได้ครับ..

เยี่ยมมากค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณกฤษณา  ที่ยังเป็นนางฟ้าในใจดิฉันเสมอมาค่ะ

งานนี้แกรนด์จริงๆ นะคะ

ยังคงมีพลังในการพัฒนาอยู่เสมอๆ ขอชื่นชมด้วยใจจริงค่ะ

ฝันดีนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณ Bright Lily

ดิฉันมีพลังเสมอ ทุกครั้งที่ได้อ่านข้อคิดเห็นของคุณค่ะ... ทุกครั้งนับแต่รู้จักกัน

สิ่งนี้อยู่เบื้องหลังพลังเพื่อพัฒนาวิชาชีพเพื่อผู้ป่วยค่ะ

ขอบคุณมากๆนะคะ

ไฟจวนมอดหมดแล้วเจ๊.....เบื่อนับคะแนน ตรวจสอบเวลาบ้าบอ เสียเวลาลุยกะคนไข้ น้อยก็ไม่พอใจ มากก็ต้องตอบคำถาม มีข้อเสนอให้ไปเป็นครู ดีกว่ามะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท