คุณสมบัติผู้นำที่ดี...ความเข้าใจคนที่คิดแตกต่าง โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ (โค้ชบี)


ในระหว่างการฝึกอบรมหลักสูตรด้าน Leadership ให้แก่กลุ่มหัวหน้างาน ของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้มีการทำกิจกรรมและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ ปัจจัยที่ทำให้คนเรามีมุมมองหรือความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งแตกต่างกัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมค้นพบว่า การที่คนแต่ละคนอยู่ในสภาพแวดล้อมและมีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้มีมุมมอง ความคิด ทัศนคติ และความรู้สึก ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ตัดสินใจกระทำการหรือแสดงพฤติกรรมในลักษณะที่แตกต่างกันตามไปด้วย

สภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขชีวิตในที่นี้ หมายถึง ประสบการณ์ชีวิต การเลี้ยงดู การศึกษา สถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลแต่ละคน เช่น ผู้หญิงบางคน เคยผ่านประสบการณ์การอกหักมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้มีมุมมองและทัศนคติต่อความรักในลักษณะที่หวาดระแวง และฝังใจอยู่ลึกๆ ว่าเธออาจต้องถูกทิ้งหรือทำให้อกหักอีก เธอจึงแสดงพฤติกรรมคอยโทรเช็คและติดตามแฟนของเธอทุกฝีก้าว สุดท้ายแฟนของเธอก็เลยทิ้งเธอไปจริงๆ


ดังนั้น กรอบความคิดหรือมุมมองของบุคคล จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นวิธีมองโลกของคนๆนั้น เช่น คนบางคนเจอวิกฤติชีวิต ก็มองว่า วิกฤตินี้คือการเรียนรู้ หรือ 'ต้นทุนของความสำเร็จที่รออยู่' และเลือกที่จะเดินไปข้างหน้า หาทางฝ่าฟันเอาชนะ ขณะที่อีกคนหนึ่งเผชิญเข้ากับวิกฤติที่มีความหนักหนาสาหัสแบบเดียวกัน กลับสิ้นหวังและมองว่า "นี่คือจุดจบของชีวิต" และเลือกที่จะจมอยู่กับความทุกข์หรือถึงขั้นฆ่าตัวตายไปเลย

ในการเป็นผู้นำที่ดี คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เข้าใจถึงธรรมชาติและที่มาของความแตกต่างส่วนบุคคล และพยายามเรียนรู้ที่จะยอมรับ เข้าใจ และหาวิธีการที่จะให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น รวมถึงสามารถนำจุดเด่นของแต่ละบุคคลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยกับความคิดบางอย่างของเรา เราควรเปิดใจกว้าง โดยพยายามสอบถามเพื่อทำความเข้าใจประเด็นทีเขาพูดให้ชัดเจน ซึ่งหากเราพบว่า ประเด็นของเขามีคุณค่า ก็ควรแสวงหาจุดร่วมและหาวิธีการทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ

แต่การเข้าใจผู้อื่นนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางครั้งเราอาจต้องละวางอัตตาของตน และเปิดใจกว้างที่จะรับฟังผู้อื่น เพื่อที่จะเข้าใจผู้อื่น โดยไม่ใช้กรอบความคิดของตนเองหลัก แต่เข้าใจในกรอบความคิดของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแท้จริง เมื่อเราแสดงความเข้าใจผู้อื่น ย่อมทำให้ผู้อื่นรู้สึกสบายใจ และเปิดใจรับฟังเหตุผลเรามากขึ้น เกิดวามสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การทำงานเป็นทีมที่ดีย่อมเกิดขึ้น

โดยสรุปแล้ว ความสามารถในการตระหนักรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างของบุคคล เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างสูงต่อบุคคลทุกคน และเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นผู้นำที่ดี เพราะหากปราศจากความเข้าใจซึ่งกันและกันเสียแล้ว เราย่อมไม่สามารถนำทีมไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้น การตัดสินใจต่างๆ อาจเป็นไปโดยใช้อคติ มุ่งเน้นที่ความแตกต่างส่วนบุคคล มากกว่าการมองภาพรวม หรือเป้าหมายใหญ่ของงาน ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ทั้งในด้านการทำงานและด้านชีวิตส่วนตัว ซึ่งนำไปสู่ความสุขและการเติบโตที่ยั่งยืนของบุคคล


หมายเลขบันทึก: 536901เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท