คำถามกวนประสาท..... "รู้ได้อย่างไรว่าแล็บของคุณมีคุณภาพ"


     คำถามนี้ มาจากที่ประชุมทนายความ คราวที่ไปอบรมเรื่องเกี่ยวกับงานตรวจดีเอ็นเอกับการผดุงความยุติธรรมในคดีความมั่นคง 3 จังหวัดภาคใต้อะไรทำนองนั้น  คำถามหนึ่งที่มีผู้ถามขึ้นมา ด้วยประโยคง่ายๆ เหมือนจะกวนประสาท แต่ผู้ถามคงไม่ได้มีเจตนาจะกวนประสาท คงเป็นความอยากรู้จริงๆว่า "แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าห้องแล็บตรวจดีเอ็นเอมีคุณภาพ"

     อุบ๊ะ.....ถ้าเพี้ยนสำเนียงไปนิดนึง ก็ไม่ต่างกับการกล่าวหาว่าห้องแล็บของเราไม่มีคุณภาพหรอกน่ะ....

     เมื่ออยู่ในงานวิชาการ ก็ต้องอธิบายกันด้วยวิชาการ

     อย่างแรกที่เรามั่นใจ ในคุณภาพการทดสอบของห้องแล็บตรวจดีเอ็นเอของเรา (ม.อ.) ก็เพราะว่า เรามีการควบคุมคุณภาพที่ดี เริ่มต้นจาก

     อย่างแรก รามีการทำ PT หรือที่ภาษาปะกิดเรียกว่า proficiency testing โดยเป็นการทำการทดสอบเปรียบเทียบกับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ  PT ที่ห้องแล็บตรวจดีเอ็นเอของ ม.อ. เข้าร่วมนั้น คือ ของ GITAD ประเทศสเปน แล้วผลการทำ PT ในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจดีเอ็นเอบนโครโมโซมร่างกาย จำนวน 15 ตำแหน่ง หรือ จะเป็นดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย จำนวน 17 ตำแหน่ง หรือ ดีเอ็นเอบนไมโตคอนเดรีย ทั้งบริเวณ HV I และ HVII  เราผ่านหมดทุกตำแหน่ง นั่นหมายความว่า สถาบัน GITAD ให้การรับรองว่า ห้องแล็บตรวจดีเอ็นเอของ ม.อ. ให้ผลการตรวจตรงกับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ว่าเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ห้องแล็บม.อ.ทำแล็บดีเอ็นเอทั้ง 3 ชนิด รายงานผลได้ถูกต้อง ทุกตำแหน่ง

     อย่างที่สอง เรามีการทำ interlab comparison หรือการเปรียบเทียบระหว่างห้องปฏิบัติการ โดยเป็นการเปรียบเทียบกับห้องปฏิบัติการที่ตรวจดีเอ็นเอภายในประเทศอีก 12 แห่ง ผลการทำ interlab comparison ได้ผลถูกต้องตรงกันกับห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผลการตรวจดีเอ็นเอบนโครโมโซมร่างกาย จำนวน 15 ตำแหน่ง หรือ ดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย จำนวน 17 ตำแหน่ง แล้วก็ดีเอ็นเอบนโครโซโซมเอ็กซ์จำนวน 20 ตำแหน่ง และดีเอ็นเอบนไมโตคอนเดรีย บริเวณ HVI และ HVII ว่ากันภาษาชาวบ้าน คราวนี้เราทำดีเอ็นเอ 4 ชนิด ได้ผลถูกต้อง ตรงกับห้องแล็บส่วนใหญ่ ทุกตำแหน่ง

     อย่างที่สาม เรามีการทำตัวควบคุม ในทุกครั้งที่มีการทำการทดสอบ ตัวควบคุมคือ ดีเอ็นเอที่เรารู้ค่าอยู่แล้วว่าที่ตำแหน่งต่างๆ มีค่าเป็นอย่างไร แล้วเราก็ดูผลการทำตัวควบคุมว่าให้ผลออกมาตรงกับค่าที่เรารู้แล้วหรือไม่ ถ้าผลของตัวควบคุมให้ค่าที่แตกต่างออกไป แสดงว่าการทำการทดสอบคราวนั้น มีอะไรผิดปกติ และไม่สามารถออกผลได้ ต้องหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วทำการแก้ไข หากผลของตัวควบคุม ได้ค่าที่ตรงกับที่เรารู้ค่าอยู่แล้ว ก็แสดงว่า การทำการทดสอบคราวนั้น ไม่มีข้อผิดพลาด สามารถรายงานผลการทดสอบได้

     ทั้งสามอย่างนี้ เป็นระบบในการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการตรวจดีเอ็นเอ  เมื่อผ่านแล้ว ก็น่าเชื่อถือได้ว่า ผลการตรวจจากห้องแล็บของเรา มีคุณภาพน่าเชื่อถือ

     โอมั้ย....ถ้ายังไม่โอ ก็คุยกันหลังเวที.....

     คำถามอย่างนี้.....สักวันคงได้เจอทนายความเก่งๆ ถามในชั้นศาล เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานการตรวจดีเอ็นเอ .....เพียงแต่ใครจะเป็นคนตอบ...เท่านั้นเอง

    

หมายเลขบันทึก: 536639เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตัวเอง.... ตัวเิอง....

เค้า... โอ... แล้ว... นะ.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท