มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ ตอนที่ 13 ชนชั้นชาวนา


ชนชั้นตามแนวคิดของมาร์กซ์ (ต่อ)

4. ชนชั้นชาวนา

ชนชั้นชาวนาหรือเกษตรกรผู้มีอาชีพ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำการประมงปรากฏ ตัวในสังคมไทยมายาวนาน เพราะภูมิประเทศ และภูมิอากาศในแถบที่ประเทศไทยตั้งอยู่นี้เหมาะอย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้เชื่อว่าสามารถสืบค้นย้อนกลับไปไกลหลายพันปี และเมื่อสังคมมนุษย์ในดินแดนแถบนี้ได้วิวัฒนาการผ่านยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ยุคบรรพกาล ยุคทาส ยุคศักดินา มาจนถึงยุคทุนนิยมในปัจจุบัน เกษตรกรในดินแดนแถบนี้ก็ได้วิวัฒนาการไปตามสภาพสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัยด้วย

ชาวนายุคศักดินา

ในยุคศักดินา ชนชั้นชาวนาซึ่งเรียกกันว่าไพร่ เป็นชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในสังคม ต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปทำนาให้กับเจ้าศักดินาที่ตนเองสังกัด ในภายหลังก็ต้องเช่าที่นาจากเจ้ามูลนายศักดินาที่ตนเองสังกัดอีก นอกจากนั้นยังถูกขูดรีดอย่างหนักหน่วงอีกหลายประการในรูปของภาษีชนิดต่างๆ เช่น ส่วย ฤชา อากร จังกอบ ฯลฯ ซึ่งปกติก็ยากจนค่นแค้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในยามที่ถูกภัยธรรมชาติคุกคาม ไม่ว่าจะน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาด ยิ่งมาถูกเจ้าขุนมูลนายใช้อภิสิทธิ์ออกกฎหมายขูดรีดซ้ำเติม ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ยากเดือดร้อนให้มากขึ้น เมื่อไม่มีเงินจ่ายก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง ถูกยึดที่ดินหรือยึดตัวไว้เป็นทาสชดใช้หนี้

แต่ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ เมื่อชนชั้นชาวนาไทยในยุคศักดินาทนกับความทุกข์ยากไม่ไหว ก็เริ่มมีการต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนแห่งความทุกข์ยากและอำนาจรัฐศักดินาที่รีดนาทาเร้นไม่เว้นวัน การต่อสู้นี้มีรูปแบบและวิธีการหลากหลาย เริ่มจากต่อสู้แบบต่างคนต่างทำเช่น การ หนีเข้าป่า การหนีไปเป็นทาส การไปบวชพระ การย้ายถิ่นไปยังที่ที่สงบกว่า ไปจนถึงการถวายฎีกา ฯลฯ แต่เมื่อไม่ได้ผลในที่สุดก็ต้องรวมกำลังกันเป็น กลุ่มก้อนและกลายเป็นกบฏชาวนาที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐศักดินาอย่างเปิดเผย

น่าสังเกตว่า ในยุครัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการเกิดกบฏชาวนามากที่สุดถึง 5 ครั้ง เช่นกบฏผู้มีบุญ จวบจนกระทั่งถึงตอนสิ้นรัชกาล ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยนั้น ที่เปลี่ยนจากระบอบศักดินาแบบดั้งเดิมที่แต่ละหัวเมืองเป็นประเทศราช มาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทั้งประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ส่วนกลางส่งข้าหลวงใหญ่และข้าราชการจำนวนมากไปควบคุมอำนาจรัฐทั้งหมด ทำให้ขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจ โดยเฉพาะอำนาจในการเก็บภาษีหารายได้ต่างๆ  ยิ่งทำให้ขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจมากยิ่งขึ้น เพราะผลประโยชน์ที่เคยได้รับลดลงมากเช่น ภาษีส่วย หรือที่เรียกกันว่า "เงินข้าราชการ" ซึ่งชายฉกรรจ์อีสานจะต้องเสียคนละ 4 บาท โดยเงินจำนวนนี้แบ่งให้ขุนนางท้องถิ่น 7-8 ตำแหน่ง ได้รับรวมกันเพียง 55 สตางค์ หรือร้อยละ 13.67 แต่ส่วนกลางเอาไปถึง 3.45 บาท หรือร้อยละ 86.33 

ในอีกด้านหนึ่ง ตัวอย่างของการเก็บเงินภาษีส่วยหรือเงินข้าราชการที่เก็บจากชายฉกรรจ์คนละ 4 บาท (มูลค่าปัจจุบันประมาณ 3,500-4,000 บาท) ข้างต้น ได้สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับชาวนาชาวไร่เป็นอย่างยิ่ง เพราะคนอีสานสมัยนั้นเกือบทั้งหมดมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เนื่องจากผลิตปัจจัยสี่ได้เอง มีแต่คนที่อยู่ในเมืองซึ่งเป็นคน จำนวนน้อยมากที่ต้องใช้เงิน

ในช่วงหลังจากยุครัชกาลที่ 5 กองทัพของรัฐศักดินาไทย มีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงมีประสิทธิภาพในการปราบปรามเข่นฆ่ากองทัพชาวนาให้พ่ายแพ้ราบคาบได้อย่างรวดเร็ว อย่างกรณีกบฏผู้มีบุญภาคอีสาน กองทัพที่ทันสมัยจากส่วนกลางพร้อมอาวุธสมัยใหม่ (ที่ส่วนหนึ่งใช้เงินค่าส่วยไปซื้อมาจากประเทศตะวันตก) ก็สามารถปราบปรามทำลายกองทัพของชาวนาชาวไร่จำนวนมากกว่าหลายเท่าตัวลงไปในเวลาเพียง 2 เดือน

ชาวนาหลักเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชนชั้นชาวไทยได้รวมตัวกันเป็นขบวนการการต่อสู้ในชื่อ "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" มีแกนนำ สำคัญอยู่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ดินทำกิน และให้รัฐบาลประกันราคาพืชผล มีการประสานรวมพลังกับนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ต่อสู้ในเมืองและประสานกับขบวนการกรรมกร กลายเป็นพลังสามประสานที่สั่นคลอนอำนาจรัฐปฏิกิริยาในยุคนั้นอย่างมีพลัง แต่การชุมนุมเรียกร้องและเดินขบวนสำแดงกำลังในเมืองใหญ่หลายครั้งก็ทำได้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ หลังเหตุกาณ์ 6 ตุลาคม 2519 การเคลื่อนไหวของชนชั้นชาวนาไทยในเมืองก็ต้องยุติลง ส่วนหนึ่งหันไปผนึกกำลังกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับทางการไทยมาตั้งแต่ปี 2508 ซึ่งกำลังหลักเป็นชนชั้นชาวนา (ที่มีเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน กสิกร และชาวประมง) อยู่ก่อนแล้ว กลายเป็นกองทัพ หลวงของขบวนการปฏิวัติที่ทรงประสิทธิภาพ การต่อสู้ปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธนี้ดำเนินมาจนถึงปี 2525 ก็ต้องพ่ายแพ้ ทางการเมืองอีกครั้งให้กับชนชั้นปกครองที่ไม่ศึกษาแนวคิดของมาร์กซ-เลนินอย่างลึกซึ้ง

ชาวนาหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

หลังสถานการณ์ "ป่าแตก" การต่อสู้ของชนชั้นชาวนาก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยมา เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบมาเน้นหนักในเรื่องการรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ทั้งจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ขูดรีดจากกลไกของรัฐซึ่งพยายามแสวงหาประโยชน์ และจากระบบทุนนิยม รวมทั้งการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างการเพิ่มของประชากรกับการขยายพื้นที่ทำการผลิต โดยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณที่มากพอ ขบวนการของชาวนาเหล่านี้ก็เช่น สมัชชาคนจนที่มีพื้นที่เคลื่อนไหวทางภาคอีสานเหนือ 1.สมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน (สกอ.) 2. สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.) มีฐานอยู่ในเขตอีสานใต้ และต่อมาได้ขยายเขตออกไปทางอีสานเหนือด้วย กลายเป็น สกยอ. 1 และ สกยอ. 2 3.สมัชชาคนจน 4.กลุ่มปลดหนี้เสินเกษตรกร - ฯลฯ

ขบวนการต่อสู้ของชนชั้นชาวนาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงหลังจากปี 2530 เป็นต้นมา เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของชาวนาในท้องที่ต่างๆ แต่การ ต่อสู้ดังกล่าวก็ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ และเป็นจุดอ่อนของชนชั้นชาวนา ที่กำหนดจากวิถีการผลิต ชีวิตความเป็นอยู่ ระดับการรับรู้ ตลอดจนวัฒนธรรม ดั้งเดิม ได้แก่

1. กระจัดกระจาย อยู่ห่างไกลกันมาก กว่าจะรวมตัวกันได้สัก 10,000 คน ต้องระดมกันมาหลายสิบจังหวัด 2. ขาดจิตสำนึกในการรวมพลัง แต่ละกลุ่มปัญหาเข้าร่วมต่อสู้เพียงเพื่อต้องการให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มตนบรรลุผล เมื่อใดที่บรรลุผลแล้วก็จะเลิกต่อสู้ ปล่อยให้เพื่อนร่วมขบวนต่อสู้ต่อไปตามลำพัง กลายเป็นว่า ยิ่งต่อสู้ ยิ่งชนะ ผู้คนก็ยิ่งลดน้อยลงไป  3. ไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างต่อสู้ตามแต่ปัญหาและแนวความคิดของตัวเอง คนที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนก็จะไม่สนใจปัญหาของกลุ่มโรงโม่หิน กลุ่มโรงโม่หินก็จะไม่สนใจปัญหาของกลุ่มที่ถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน กลุ่มที่ถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินก็ไม่สนใจทั้งปัญหาเรื่องเขื่อน โรงโม่หิน เป็นต้น  4. ขาดระเบียบวินัย  5. ขาดการหนุนช่วยจากชนชั้นอื่น หรือแม้แต่การสนับสนุนจากชั้นชน อื่นๆ ของชนชั้นชาวนา เช่น ชาวนารวย ชาวนากลาง เป็นต้น 6. มีความคิดงมงาย หวังพึ่งโชคชะตา-ปาฏิหาริย์-สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 7. ขาดการมองปัญหาอย่างเป็นระบบ มักจะมองเห็นปัญหาเฉพาะส่วนของตน 9. มีความคิดพึ่งพาสูง ไม่สันทัดในการคิดด้วยตนเอง อยากได้สูตร สำเร็จในการต่อสู้ อยากให้ผู้นำช่วยคิดให้ ผู้นำจะนำไปทางไหนก็ตามไปด้วย

จุดอ่อนเหล่านี้ ทำให้การต่อสู้ของชนชั้นชาวนาไทยก็ค่อยๆ อ่อนแอลง ถ้าหากยังคิดจะต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวและปฏิเสธการนำของชนชั้นกรรมาชีพ

ปัญหาของชาวนาไทย

ปัญหาของชนชั้นชาวนาไทยปัจจุบัน ที่ถูกกดราคาผลผลิตจนแทบไม่พอกิน บ้างก็ไร้ที่ดินทำกิน บ้างก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว บ้างก็ถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน บ้างก็ประสบภัยธรรมชาติทั้งอากาศหนาว น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงลง ไฟป่า ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ แต่ปัญหาทั้งหมดนี้โดยรวมแล้วหมายความถึง

1. ปัญหาของประเทศชาติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม .

2. ปัญหาการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นอย่างหนักหน่วงและสลับซับซ้อน 

3. การถูกกดขี่ขูดรีดโดยกลุ่มทุนใหญ่ข้ามชาติ  ที่ครอบงำโลกอยู่อย่างแน่นหนา   

4. การถูกอิทธิพลศักดินากดขี่ขูดรีดและครอบงำทางความคิด 

5.การถูกชนชั้นนายทุนผูกขาดกดขี่ขูดรีดและครอบงำทางความคิด 

หนังสืออ้างอิง

อรทัย ปิ่นเก็จมณี.ชนชั้นและรัฐในสังคมไทย ตอนที่ 1. http://firelamtung.com/index.php?option=com_content&view=article&id=101:--1&catid=1&Itemid=19 เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

อรทัย ปิ่นเก็จมณี.ชนชั้นและรัฐในสังคมไทย ตอนที่ 2.http://firelamtung.com/index.php?option=com_content&view=article&id=119:--2&catid=1&Itemid=19  เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

นิธิ เอียวศรีวงศ์. พลวัตของชนชั้นนำไทย (2). http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1349659365&grpid=03&catid=12. เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556 

ศศิริษา.ความสัมพันธ์ทางแนวคิดและทฤษฎี ประวัติศาสตร์ของสังคมทุกสังคมที่เคยมีอยู่ ล้วนคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น”Karl Marx. http://apinan.orgfree.com/resource.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556

ภีรเดช อเนกพิบูลย์ผล.ไพร่และ ‘สงครามชนชั้น’ สะท้อนความขัดแย้งในทางวัฒนธรรม-การเมือง. http://prachatai.com/journal/2010/04/28945  เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556

Faris Yothasamuth. อะไรคือสลิ่ม? ว่าด้วยที่มา บริบทความหมาย และคุณลักษณะเฉพาะ. http://prachatai.com/journal/2011/11/37957

เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556




หมายเลขบันทึก: 536163เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท