เรียนรู้จาก CUGH 2013



          CUGH 2013 จัดที่นครวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ มี.ค. ๕๖  ผมได้รับการชักชวนให้ร่วมกับคณะของ ม. มหิดล ไปเข้าประชุม ๒ วัน  คือวันที่ ๑๔ และ ๑๕  โดยมีท่านอธิการบดี ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นหัวหน้าคณะ 

          การเดินทางไปประชุมนี้ ใช้เงินมาก ต้องตักตวงผลประโยชน์ให้คุ้ม  นำมา ลปรร. แก่ผู้สนใจในสังคมไทย 

          ในบันทึกที่แล้ว ผมเล่าความคิด ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระของ “สุขภาพโลก” (Global Health) ไปแล้ว  ในบันทึกนี้จะเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวกับการประชุม 


การเปิดเผยเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง (Conflict of Interest)

          ในเอกสารประกอบการประชุม (ซึ่ง ดาวน์โหลดได้จากลิ้งค์ที่ให้ไว้แล้ว) หน้า ๒๔ มีหัวข้อ Disclosure of Relevant Financial Relationships  ผู้สนใจเรื่องจริยธรรมในการวิจัย หรือจริยธรรมทางวิชาการ น่าเข้าไปอ่านนะครับ  จะเห็นว่าคณะผู้รับผิดชอบการจัดการประชุมเขาระมัดระวังเรื่อง การไม่รับผลประโยชน์จากวงการธุรกิจ เพื่อความบริสุทธิ์ทางวิชาการอย่างไร  เรื่องนี้วงการวิชาการไทยน่าจะเอาใจใส่  และหาทางดำเนินการเพื่อแสดง integrity ของนักวิชาการไทย


วิธีทำงานของ US NIH

          วันที่ ๑๓ มี.ค. ๕๖ ผมไปเยี่ยมเรียนรู้กิจการของ NIH เป็นครั้งแรกในชีวิต  ตื่นตาตื่นใจในแคมปัสที่กว้างขวาง  และตกใจในระบบรักษาความปลอดภัย ที่มีคนอุทานว่า เคร่งครัดยิ่งกว่าที่สนามบิน  เราได้คุยกับคนจาก ๒ สถาบันใหญ่ที่สุดของ NIH เพื่อเรียนรู้เรื่อง GH  คือสถาบันมะเร็ง กับสถาบันโรคติดเชื้อ (ซึ่งรวมโรคภูมิแพ้ด้วย)  รวมทั้งสถาบันความร่วมมือต่างประเทศ และสถาบันเด็ก   และได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาล ที่เขาเรียกว่า Clinical Center ด้วย  

          ยิ่งมาได้ฟังผู้อำนวยการหรือผู้แทนของ ๔ สถาบัน ที่อยู่ใต้ร่มของ NIH พูดเล่างาน GH ในสถาบันของตน ในการประชุม CUGH 2013 ในวันที่ ๑๔ มี.ค. ก็ยิ่งทึ่ง ว่า NIH เป็นที่รวมของอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์  ผมติดใจการพูดของ ผอ. ของสถาบันวิจัยการเสพติด (NIDA) ชื่อ Nora Volkow เป็นพิเศษ  โดยเฉพาะที่เธอวิจัยแล้วสรุปว่า การเสพติดเป็นโรคของสมอง

          ฟังแล้วผมสรุปแบบฟันธง ว่างานของ NIH ทั้งหมดเป็นงาน GH (เพราะมันก่อผลดีต่อสุขภาพของคนทั่วโลก)  และงาน GH ก็เป็นงานสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองด้วย

          ผมชื่นชมวิธีจัดองค์กร ทำวิจัยแบบ big science ของ NIH  ที่จัดองค์กรแบบเอาเป้าหมาย impact เป็นหลัก  ทำงานวิจัยตั้งแต่ basic science, social science, clinical science, ไปจนถึง field work หรือ community  เขาไม่ได้จัดองค์กรแบบเอาสาขาวิชาเป็นหลัก ซึ่งต่างจากในมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง 

          แต่คุณเมขลา ทอมสัน แห่งบริษัท Westat บอกผมว่า ในการให้ทุนวิจัย หรือ capacity building ทาง NIH นิยมทำกับอาจารย์มหาวิทยาลัย  เพราะเชื่อว่า จะทำให้ความรู้แพร่หลายออกไปกว้างขวาง   

          และเมื่อผมฟังการประชุม CUGH 2013 ใน Concurrent Session 15 เรื่อง MEPI (Medical Education Partnership Initiative) ในเย็นวันที่ ๑๔ มี.ค.  และดูท่าที่ของ Dr. Francis Collins ผอ. ใหญ่ของ NIH แสดงท่าทีกระตือรือร้นต่อ MEPI มาก  โดยฟังจากการนำเสนอแล้ว ผมบอกท่านอธิการบดี รัชตะ ว่า โครงการนี้ไปไม่รอด  เพราะน่าจะอยู่ได้เมื่อมีเงินช่วยเหลือหล่อเลี้ยงเท่านั้น  เงินอเมริกันหมดเมื่อไร โครงการก็หมดแรง

          ผมจึงได้ข้อสรุป (ที่อาจมองโลกแง่ร้ายไปหน่อย) ว่า GH ก็เป็นเครื่องมือครองโลกอย่างหนึ่ง ของประเทศมหาอำนาจ


เสพติดความช่วยเหลือ

          ฟังโครงการที่ประเทศตะวันตก ไปช่วยเหลือประเทศกลุ่ม Subsaharan Africa ทีไร ผมอ่อนใจทุกที  ว่าได้ฟังแต่หลักการไพเราะ  กิจกรรมที่เป็นไปตามหลักการ  แต่ไม่มีเนื้อหรือข้อมูล (data)  

          เย็นวันที่ ๑๔ มี.ค. ผมไปฟังเรื่อง MEPI (Medical Education Partnership Initiative) ด้วยความสนใจว่า  มีการปฏิรูปการเรียนรู้ด้านการศึกษาแพทยศาสตร์อย่างไรบ้าง  เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ Subsaharan Africa คือผลิตหมอเท่าไร หนีไปอยู่ประเทศตะวันตกเกือบหมด   แล้วไปได้ฟังว่า เขาใช้กลไกฝึกให้ทำวิจัย เพื่อดึงดูดหมอจบใหม่ให้ทำงานในชนบท  ผมก็อ่อนใจ  เพราะมีกลไกที่ได้ผลกว่านั้นอีกตั้งมากมายหลากหลายกลไก ที่ประเทศไทยใช้ได้ผลมาแล้ว   แต่เขาไม่ได้พูดถึงเลย 

          ในการประชุมช่วง PP02 : Global Leaders in Global Health  ประธานของ IOM คือ Harvey Feinberg กล่าวว่า ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาควรให้เงินไปอยู่ในมือของประเทศนั้นๆ  เพื่อจะได้นำไปใช้ให้ตรงความต้องการ และได้ผลยั่งยืนตามบริบทของประเทศนั้นๆ 

          แต่ในการประชุมช่วง PP03 : US Government Agencies for Global Health   มีการเอ่ยเรื่องนี้  และประธานของหน่วยงานยักษ์ใหญ่ ๔ หน่วยงานบอกว่าทำไม่ได้ ที่จะให้เงินโดยตรงไปให้ประเทศผู้รับความช่วยเหลือจัดการเอง  เราจึงเห็นว่าการออกแบบโครงการ MEPI ยังมีลักษณะหลักสูตร และนวัตกรรมแบบกระบวนทัศน์อเมริกัน  ไม่ใช่ตามบริบทของอัฟริกัน เพื่อแก้ปัญหาสมองไหล

          ทั้งหมดนั้น ผมสรุปว่า เป็นเพราะเสพติดความช่วยเหลือ


วิจารณ์ พานิช

๑๕ มี.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 535196เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท