๑๖๒. หลงทาง...


หลงทาง...


             ชีวิตคนเราตั้งแต่เกิดมาลืมตาดูโลก บรรพบุรุษส่วนใหญ่ ไม่ว่าพ่อ -แม่ ครู อาจารย์ ส่วนใหญ่จะสอนให้ลูก ๆ ได้รับแต่การศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียน แล้วก็เรียนอย่างเดียว ในวัยเด็ก ๆ แม้แต่วันเสาร์ - อาทิตย์ หรือแม้แต่ตอนเย็นหลังเลิกเรียนก็ต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม ๆ จากภายในห้องเรียน เหมือนกับจะเป็นการบังคับว่า "เธอต้องเรียน ๆ เท่านั้น" จำกัดความเป็นชีวิตในวัยเด็ก จำกัดขอบเขตของคำว่า "เด็ก" การใช้ชีวิตของเด็ก ๆ ในสมัยนี้จึงบิดเบือนไป ไม่มีโลกส่วนตัวของตัวเองในวัยเด็ก ถูกขีดเส้นให้เดินภายในกรอบของพ่อ - แม่ ที่บังคับให้เดินภายในวงที่พ่อ - แม่ ขีดให้เท่านั้น...ถูกต้องแล้วหรือ?

             ถ้าพูดถึงชีวิตจริงแล้ว เราควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจะดีกว่า ๆ ที่จะไปขีดเส้นให้พวกเขาเดิน ผู้เป็นพ่อ - แม่ ควรปล่อยให้เขาเดินแล้วคอยตล่อม คอยดูอยู่ห่าง ๆ คอยแนะนำ ให้คำปรึกษาพวกเขา แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ เพราะแต่ละครอบครัวก็มีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และสุดท้ายก็กลับกลายมาเป็นปัญหาสังคม ปัญหาบางปัญหาเกิดขึ้นโดยที่บางคนก็ไม่ทราบเลยว่าที่กระทำเช่นนั้นแล้วทำให้คนอื่น + คนภายในสังคม องค์กรนั้นเดือดร้อน...เพราะปัญหาต่าง ๆ บางปัญหามันสะสมมาจากจุดดั้งเดิมของตนเอง มันค่อย ๆ สะสมแล้วก็จะมาโผล่หรือผุดขึ้นในยามที่ตัวเราเข้ามาทำงาน เสมือนเมื่อตอนเยาว์วัยนั้นถูกเก็บกด กดดันจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง...มีทางใดบ้างที่จะเยียวยา บางเรื่องก็เยียวยาได้ แต่บางเรื่องก็ยากสุดที่จะเยียวยา ปล่อยให้เป็นปัญหาของสังคม คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงานหรือองค์กรจะต้องมานั่งแก้ไขปัญหากัน

            ในสังคมไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะวงการการศึกษา มักจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการเรียนให้จบในระดับสูง ๆ แต่บางคน บางครอบครัวลืมนึก ๆ ถึง คำว่า "ชีวิต ๆ ที่พบกับความสุข" ไม่ว่าจะ แรกเกิด วัยเยาว์ วัยเรียน วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานจนถึงวัยชรา...ทุก ๆ วัย สิ่งที่ชีวิตคนเราต้องการมากสุด นั่นคือ "การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข" หาใช่ว่า...ต้องการความสุขในบั้นปลายไม่...ทุก ๆ วัย ต้องการแสวงหาความสุขให้กับชีวิตด้วยกันทั้งนั้น...แต่ที่มนุษย์หลงทาง นั่นคือ คิดว่าไปหาความสุขในตอนบั้นปลายของชีวิต...เลือกที่จะทำบุญก็ตอนวัยชรา เลือกที่จะเข้าวัดก็ตอนที่วัยชรา...ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด...เพราะหากคิดดูดี ๆ แล้ว ทุก ๆ วัย เป็นวัยที่สามารถกระทำให้ตนเองมีความสุขได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะวัยเด็ก วัยที่ผู้ใหญ่ ควรสร้างฐานการมีจิตเมตตา จิตกุศลมากกว่าจิตอกุศล การสั่งสอนให้ลูก หลาน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับผู้อื่นให้มาก ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ มันจะเป็นสิ่งที่พ่อ - แม่ ได้สร้างหรือสร้างเป็นต้นทุนให้กับลูก หลาน โดยที่ตนเองไม่รู้ตัวให้กับพวกเขา เป็นทุนที่ให้เขาโดยที่ไม่ต้องลงทุนเป็นทรัพย์สิน หากแต่ให้พวกเขาโดยการบอก แนะนำ บ่มเพาะนิสัยให้กับพวกเขามากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนให้กับพวกเขาได้ไปใช้ชีวิตกับคนอื่นและมีประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติได้ต่อไป

             ใช่ว่า...บางคนจบการศึกษาสูง ๆ แล้วจะเป็นคนดีกันทุกคน เปล่าเลย...หาเป็นเช่นนั้นไม่ บางคนไม่จบการศึกษาสูง แต่เขาเป็นคนดี มีคนยกย่อง นับถือ เพราะเขาเป็นคนดี ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่าง ใช่ว่า จะทำให้การันตีได้ว่า คนมีการศึกษาสูงแล้วต้องดีกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา ทั้งหลายทั้งปวง ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของตนเองมากกว่าว่าจะดำเนินไปในทางใด ดีหรือไม่ดีมากกว่า...เหตุเพราะปัจจุบันทุกคนมุ่งหวัง ๆ ที่จะเรียนให้สูง ๆ นั่นเอง ความจริงแล้ว การศึกษาที่ทุกคนมุ่งหวังที่จะเรียนให้สูง ๆ นั้น เป็นสิ่งดี ถ้าทุกคนแยกแยะออก "ความรู้" เป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้สังคมดีขึ้น ถ้าเรารู้จักใช้ความรู้ที่เรารู้นั้นด้วยการใช้แบบถูกที่ถูกทาง แต่สิ่งที่คนที่มีการศึกษาสูง ๆ เมื่อมีความรู้เท่าเทียมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถเหมือนกันได้ นั่นคือ "ปัญญา" ๆ ทำให้แต่ละคนมีความคิดเห็นต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนดั้งเดิมที่ผู้เขียนกล่าวมาตั้งแต่ต้นว่า "ต้นทุนของปัญญา" ที่แตกต่างกันตั้งแต่ในวัยแรกเกิด วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน ที่แต่ละคนสะสมมานั้นมีไม่เท่ากัน...ทำให้คนเรามีปัญญาที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งและแตกต่างกัน

            มีใครสักกี่คนที่จะรู้ว่า เมื่อจบการศึกษาสูงแล้ว จะสามารถนำความรู้นั้นมาปรับใช้กับชีวิตของเราเองได้อย่างไรบ้าง? เพราะบางคนเมื่อมีความรู้มาก ๆ แล้ว มักจะหลงอยู่กับในวังวนของกิเลส ตัณหา อำนาจ หารู้จักเพียงพอไม่กับการใช้ชีวิต ต่อให้ดิ้นรนกันไปเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ...แต่สุดท้าย...ทุกคนไม่พ้นกับวังวนของชีวิตที่เรียกว่า "จุดจบของชีวิต" บนเชิงตะกอน...ห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ที่ใคร ๆ ก็ไม่ต้องการลงไปนอน...แต่สุดท้าย...ก็ต้องนอน เพราะหนีไม่พ้นกับคำว่า "เกิด แก่ เจ็บ ตาย"...แล้วจะขวนขวายอะไรไปมากมายให้กับชีวิต เพราะเราก็ไม่สามารถขนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เอาติดตัวเราไปได้เลย...คิดบ้างหรือไม่...กับคำว่า "ทำความดี" ทำความดีให้กับตนเอง ให้กับคนอื่น ให้กับสังคม ให้กับคนรอบข้าง ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ทำให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนายิ่งขึ้น...มันเหมือนกับว่า...มนุษย์ทุกวันนี้กำลังเดิน "หลงทาง" กันมากกว่า...

 

หมายเลขบันทึก: 535112เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ ครูอิงจันทร์

เป็นบันทึกไว้เตือนตนได้ดีจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณท่าน ผอ. มากๆ ค่ะ ที่กรุณาแบ่งปัน

มีความสุขมากๆ นะคะ

ขอบคุณที่ให้ข้อคิดเตือนใจค่ะ เห็นด้วยกับการนำเสนอค่ะ 

ประเทศไทยยังขาดการสอนทักษะชีวิตค่ะ

ขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่เข้ามาเยี่ยมและให้ดอกไม้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท