ชีวิตที่พอเพียง ๑๙๐๕. กินกุ้ง Crawfish ที่วอชิงตัน ดีซี



คณะของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไปดูงานและประชุมวิชาการด้าน Global Health ที่นครวอชิงตัน ดีซี นัดกันไปเลี้ยงฉลองความสำเร็จของท่านอธิการบดี ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน กันที่ร้าน Hot n Juicy Crawfish บนถนน คอนเน็กติกัต ใกล้โรงแรมแมริอ็อท สถานที่ประชุม เย็นวันที่ ๑๕ มี.ค. ๕๖ โดยท่านคณบดีปานเทพ รัตนากร เป็นผู้แนะนำร้านและคณบดีอุดม คชินทร สนับสนุน และผมเป็นเจ้ามือ ทำให้ได้ประสบการณ์กินอาหารทะเลแบบแปลก ประทับใจไม่มีวันลืม

ต้นเหตุมาจากการประชุม CUGH 2013 วันแรก คือ ๑๔ มี.ค. ๕๖ ที่หลังการเปิดประชุมโดย Julio Frenk ปาฐกถานำ ชี้ทางพัฒนา GH และ Rajiv Shah, CEO ของ USAID กล่าวแล้ว ก็ถึงช่วงการอภิปรายกลุ่ม ชื่อ Global Leaders in Global Health ที่ท่านอธิการบดีรัชตะเป็นวิทยากรด้วยท่านหนึ่ง ร่วมกับ รมต. หญิงจากประเทศรวันดา และอธิการบดีผู้ชายจากประเทศเคนยา อัฟริกันสองคนพูดเน้นเรื่องบุคลากรสุขภาพ ที่มีปัญหาสมองไหลแก้ไม่ตก โดยที่ งปม. ด้านสุขภาพของเขามาจากทุนต่างประเทศร้อยละ ๔๐

ในรอบสุดท้ายของการอภิปราย ท่านอธิการบดีรัชตะปล่อยหมัดเด็ด ว่าฟังแล้วเรื่อง GH นี้มีรายละเอียดซับซ้อนมาก และแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ สภาพของประเทศไทยแตกต่างจากสภาพในประเทศ Subsaharan Africa อย่างสิ้นเชิง เราไม่มีปัญหาสมองไหล โดยที่เมื่อ ๔๐ ปีก่อนเรามีปัญหานี้ ก็จัดระบบแก้ จนเวลานี้เรามีระบบพัฒนาแพทย์เฉพาะทางที่เข้มแข็งมาก และคุณภาพระดับสากล ระบบบริการส่วนที่เป็นธุรกิจเอกชน เรามองว่าเป็นส่วนช่วยเสริมบริการของรัฐ โดยที่เรามีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าโดยใช้เงินด้านสุขภาพทั้งหมดเพียงร้อยละ ๖ ของ จีดีพี

เป็นการอภิปรายที่ถือว่า ประสบความสำเร็จด้าน health diplomacy ทำให้ท่านอธิการบดีเนื้อหอม มีหลายมหาวิทยาลัยมาตอม เพื่อหาลู่ทางความร่วมมือ

ผมจึงบอกทั้งคณะว่า ต้องเลี้ยงฉลอง โดยผมยินดีเป็นเจ้ามือ

ตอนแรกจะไปกินค่ำวันที่ ๑๔ เลย แต่ติดงาน reception ของ CUGH 2013 เราจึงกะจะไปกินตอนสองทุ่ม ให้คุณแอ้มแห่ง MUGH ไปจองที่ ๙ ที่ โดยหวังว่าหมอสุวิทย์ กับ อ. บุ๋ม จะกลับจากนิวยอร์กมากินทัน คุณแอ้มกลับมาบอกว่าเขาไม่รับจอง ประกอบกับสมาชิกกินชีส ๑๕ ชนิด และอาหารอื่นๆ ในงาน reception จนอิ่มเสียแล้ว จึงตกลงไปกินเย็นวันที่ ๑๕ โดยหมอสุวิทย์อด เพราะกลับมาเมืองไทยก่อนตอนเช้าวันนั้น

วันที่ ๑๕ ประชุมเสร็จ ๑๘ น. ใช้เวลารวมพลครู่หนึ่งก็เดินไปที่ร้าน ใช้เวลา ๕ นาที ร้านใหญ่พอสมควร เขาจัดให้เราไปนั่งที่โต๊ะยาวด้านหลังสุด สะดวกในการเข้าห้องน้ำและล้างมือ

คณบดีอุดม เป็นคนออกความคิดว่าสั่งชนิดรวมมิตรดีกว่า มีทั้งปู, crawfish (เป็นกุ้งชนิดหนึ่ง ตัวเล็ก หัวใหญ่ มีเนื้อนิดเดียว), กุ้งแชบ๊วย, ไส้กรอก, ข้าวโพด, มันฝรั่ง นึ่งในซ้อส ซึ่งเราสั่งเผ็ดมาก-กลาง-น้อย ได้ตามชอบ เสิร์ฟมาในถุงพลาสติกมีถังรอง พร้อมมีถังใส่เปลือก

ก่อนอาหารมา เขาเอากระดาษมาปูโต๊ะ มีม้วนกระดาษรองกินและเช็ดมือ มีกระดาษพลาสติกผูกคอปิดด้านหน้าเสื้อเพื่อกันเปื้อน เรากินกันอย่างเอร็ดอร่อยโดยไม่เปื้อนเลย แต่กลิ่นอาหารนี้มันติดเสื้อผ้ากลับไปที่โรงแรม

นอกจากนั้น เรายังสั่งหอยนางรมสดกินกับมะนาวฝรั่ง อร่อยเหมือนของบ้านเรา แต่ผมรู้สึกว่ากลิ่นคาวน้อยกว่า และเนื้อไม่อวบอ้วนอย่างหอยสุราษฎร์

ได้ไวน์ขาว Cabernet Souvingon มาแกล้มด้วย ทำให้ได้บรรยากาศสนุกสนาน เรากินกันไปสักประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็พบว่าร้านมีคนเต็ม

เสียดาย ลืมถ่ายรูปบรรยากาศในร้าน


วิจารณ์ พานิช

๑๖ มี.ค. ๕๖

สนามบิน นครวอชิงตัน ดีซี




ร้าน Fresh n Juicy Crawfish



คณบดีอุดมกำลังเดินเข้าร้าน



เตรียมพร้อม



อาหารเสิร์ฟมาอย่างนี้



หอยฝรั่ง



เรากินกันอย่างนี้



และอย่างนี้






หมายเลขบันทึก: 535111เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แปลกดีค่ะ  ไม่เคยเห็น ชอบให้อาจารย์เล่าเรื่องอาหารการกินค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท