มดแดง


                                                            มดแดง (โถ..มดแดง)

                                                     นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)


                                 

มดแดง แมลงที่มีการจัดระเบียบสังคม ที่เรียกว่า Social Organization มี มด ผึ้ง และต่อ และเรียกแมลงพวกนี้ว่า Social Insects หมายถึง แมลงที่มีการทำงานร่วมกัน มีการสร้างรัง เลี้ยงดูตัวอ่อน ต่อสู้ศัตรูที่มาทำอันตรายให้กับพวกของมัน มดแดงจึงจัดเป็นแมลงที่มีสังคมชนิดหนึ่ง  จึงได้ทำการรวบข้อมูลความรู้เกี่ยวกับมดแดงไว้ดังนี้
1. รูปร่างลักษณะของมดแดง มดแดง มีลำตัวสีส้มค่อนแดง ความยาวตลอดลำตัวประมาณ 1 เซนติเมตร ชาวบ้านโดยทั่วไป เรียกว่า มดแดง บางท้องถิ่น เช่นชาวผู้ไท เรียกว่า มดส้ม ฝรั่งเรียกว่า  Red Ant ในทางวิทยาศาสตร์ มดแดงจัดเป็นสัตว์อยู่ใน ไฟลัมอาร์โทรโปดา (Artropoda) อยู่ในคลาส อินเซกต้า (Insecta Class) สัตว์ที่อยู่ในคลาสนี้ ได้แก่สัตว์จำพวกแมลงต่างๆ เช่น ตั๊กแตน มด ปลวก ผีเสื้อ ต่อ แตน ผึ้ง ฯลฯ สัตว์จำพวกนี้ มีร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ส่วนหัว มีอวัยวะที่สำคัญ คือ หนวด 1 คู่ ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ตา 1 คู่ และปาก ซึ่งมีเขี้ยวที่แหลมคมใช้ประโยชน์ในการขบกัดต่อสู้ศัตรู กัดกินอาหาร รวมทั้งกัดแทะเยื่อใบไม้ ในการสร้างรัง
2. ส่วนอก มีอวัยวะที่สำคัญ คือ ขาที่เรียวเล็ก ยาว จำนวน 3 คู่ ภายในร่างกาย (Body)มีท่อสำหรับการหายใจ โดยใช้ท่อลม(Trachea)ที่มีกิ่งก้านสาขาแยกไปทั่วร่างกาย และเปิดออกสู่ ภายนอกตรงช่อง Spiracle ซึ่งอยู่ข้างลำตัว มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในการเจริญเติบโต ตามกระบวนการMetamorphosis
3. ส่วนท้อง เป็นส่วนที่อยู่หลังสุดของมดแดง เป็นศูนย์รวมของน้ำกรด หรือกรดมดที่มีความเป็นกรดพอดี มดแดงใช้กรดนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างรัง ต่อสู้ขับไล่ศัตรูผู้รุกราน
2.วิถีชีวิตและวงจรชีวิตของมดแดง มดแดง เป็นสัตว์สังคม เนื่องจากมดแดงชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังออกไข่ เลี้ยงดูออกอ่อนให้เจริญเติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ขยายประชากรมดแดงให้เพิ่มมากขึ้น ภายในรังของมดแดง จะมีสมาชิก ดังต่อไปนี้
2.1 แม่เป้งหรือนางพญา (Queen Caste) มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่ามดแดงธรรมดา มีขนาดเท่ากับตัวแตนหรือตัวต่อบางชนิด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน มีหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาผึ้ง เมื่อใดที่แม่เป้งเห็นว่าสภาพไม่เหมาะ ในการสร้างรังและวางไข่ แม่เป้งจะทิ้งรังเดิม แล้วบินไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ที่มีน้ำ อาหารอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ที่มีใบดก เขียวชอุ่ม หนาทึบ และไม่มีศัตรูรบกวน
2.2 มดดำหรือพ่อพญาหรือพ่อพันธุ์ (Male Caste) จะพบพ่อพญาในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น คือประมาณเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน หรือต้นฤดูฝน เนื่องจากพ่อพญาจะต้องผสมพันธุ์กับนางพญาหรือแม่เป้งเพื่อให้แม่เป้งบินไปสร้างรังแล้ววางไข่ คล้ายการผสมพันธุ์ของผึ้ง เมื่อมดดำผสมพันธุ์กับแม่เป้งแล้ว ไม่นานก็จะตายจนกว่าจะถึงฤดูกาล มดดำจะถูกฟักออกมาอีกครั้ง มดดำจะมีปีกสำหรับบินได้ลักษณะพิเศษนี้คล้ายแมลงเม่าของปลวก
2.3 มดแดงหรือมดงาน (Workers Caste) ได้แก่ มดแดงที่พบเห็นกันโดยทั่วไป มีหน้าที่สร้างรัง หาอาหาร เลี้ยงดูตัวอ่อน ตลอดทั้งการป้องกันศัตรูผู้รุกราน มดแดงทุกตัวทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยความขยันขันแข็งตลอดเวลา แม้ในเวลากลางคืน หากไม่มีอาหารที่สะสมไว้ในรัง มดแดงก็จะออกหาอาหารโดยไม่หยุดพักผ่อนเลย
วงจรชีวิตของมดแดง จะเริ่มต้นที่แม่เป้งออกไข่ที่มันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน โดยการพับใบไม้ใบเดียว หรือสร้างใยบริเวณ ซอกของก้านกล้วย ใบไม้ที่ชอบพับทำรังและวางไข่ของแม่เป้ง คือ ใบข่า ใบม้วนหมู ใบยางอินเดีย ใบยอ ใบมะพร้าว เป็นต้น ไข่มดแดงมีหลายลักษณะ ดังนี้
1. ไข่มาก เป็นไข่ที่มีขนาดใหญ่กว่าไข่ธรรมดา สีขาว ใส สะอาด จะฟักออกมาเป็นแม่เป้ง หรือนางพญา สำหรับการออกไข่ขยายพันธุ์ จะมีมากในราวเดือนมกราคม ถึงเมษายน
2. ไข่ฝาก เป็นไข่ที่มีขนาดเล็ก ไม่โต ไม่เต่ง เหมือนไข่มาก จะฟักออกมาเป็นตัวมดแดงธรรมดา กลายเป็นมดงานซึ่งถือเป็นประชากรที่สำคัญมากในสังคมมดแดง หากมีประชากรมดแดงมาก ย่อมหมายถึงการขยายประชากรเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมดแดงหรือมดงานนี้ เป็นกำลังในการสร้างรัง หาอาหาร น้ำ เลี้ยงดูไข่หรือตัวอ่อน เพื่อให้เจริญเติบโตภายในเวลาอันรวดเร็ว
3.กระบวนการสร้างรังของมดแดง มดแดงทุกตัวจะมีใยพิเศษ ที่สร้างมาจากกรดน้ำส้มหรือกรดมดจากส่วนท้อง ผสมกับเยื่อหรือยางของใบไม้ ถ้ากล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์โครงสร้างของใบไม้จะมีแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตปนอยู่ มดแดงจะดึงใบไม้มายึดให้ติดกันโดยใช้ใยนี้ เมื่อแห้งจะมีสีขาวและเหนียว คล้ายสำลี ยึดติดให้ใบไม้เป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้
มดแดงชอบทำรังอยู่ตามต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ริมลำห้วย ลำธาร หนองน้ำ จะพบมดแดงอาศัยทำรังอยู่อย่างหนาแน่น มากกว่าแหล่งที่ไม่มีน้ำ เนื่องจากมดแดงต้องการน้ำมาก เพื่อใช้ในการสร้างกรดน้ำส้ม บรรจุไว้ในส่วนท้อง แล้วนำไปใช้ในการดำรงชีวิตของมัน
ต้นไม้ที่มดแดงชอบทำรัง ได้แก่ ต้นไม้ที่มีใบอ่อน นุ่ม หนา ไม่ผลัดใบง่าย มีอัตราการคายน้ำ คายก๊าซออกซิเจนที่ดี เช่น ต้นหว้า ชมพู่ สะเม็ก มะม่วง ลำไย มะเฟือง มะไฟ ต้นจิก ต้นรัง ต้นพอกกะบกกะบากเป็นต้น
ในฤดูฝน มดแดงจะสร้างรังอยู่ตามต้นไม้เล็กๆ ไม่สูงมากนักเนื่องจากการสร้างรังในที่สูง มดแดงจะประสบกับปัญหาจาก ลม ฝน พายุ ทำให้รังได้รับความเสียหาย จึงพากันสร้างรังขนาดเล็ก หลายๆ รัง ในที่ต่ำเกือบติดดิน เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว ดังนั้นหากมีใบของพืชประเภทไม้เลื้อย เช่น บวบ ม้วนหมู ตำลึง หรือไม้เถาพื้นบ้าน มดแดงจะสร้างรังอาศัยอยู่ทันที
4.อาหารของมดแดง
มดแดงชอบอาหารที่สะอาด ทั้งสดและแห้ง ที่สามารถจะกัด แทะได้ ซึ่งเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือ พวกแมลงต่างๆ โดยจะคาบไปเก็บสะสมเอาไว้ในรัง ถ้าเป็นอาหารชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถจะคาบหรือ ลากไปเก็บในรังได้ มดแดงจะช่วยกันกัด และเยี่ยวราดหรือปล่อยกรดมดใส่ไว้ เพื่อไม่ให้อาหารนั้นบูดเน่าเสียหาย เปรียบเสมือนเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง และรอให้อาหารนั้นแห้ง จึงค่อยกัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปเก็บไว้ในรัง เพื่อป้อนตัวอ่อนหรือกินเป็นอาหารพร้อมๆกัน ในการหาอาหาร มดแดงจะเดินทางไปรอบๆ ที่อยู่ของมัน ถ้าหากพบเหยื่อหรืออาหาร  มดแดงจะส่งสัญญาณให้กันได้รับรู้และเดินทางมาทันที หากเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ มันจะรุมกัด และเยี่ยวราด (ปล่อยกรดมดหรือกรดน้ำส้ม) เหยื่อจะตาย หรือได้รับบาดเจ็บ มดแดงจะช่วยกันลากไปเก็บไว้ในรังสะสมไว้เป็นอาหารเลี้ยงดูลูกอ่อนต่อไป
ข้อสังเกตประการหนึ่งพบว่า มดแดงจะนำอาหารไปเก็บสะสมไว้ในรังเสมอ เนื่องจาก
ภายในรังอาหารจะไม่ถูกน้ำค้าง น้ำฝน อาหารจะไม่บูดเน่า รวมทั้งเป็นที่รวมของสังคมมดแดง ซึ่งจะมีการประชุม วางแผนการทำงานและกินอาหารร่วมกัน อีกประการหนึ่งด้วย
5.ศัตรูของมดแดง
ศัตรูของมดแดง กล่าวได้ว่า มีค่อนข้างน้อย เพราะมดแดงมีเยี่ยวเป็นกรดน้ำส้ม หรือกรดมดที่บรรจุไว้ในส่วนท้องของมัน สามารถขับไล่ศัตรูผู้รุกรานที่อยู่อาศัย โดยมดแดงจะกัดและเยี่ยวราด ทำให้ปวดแสบ ปวดร้อน ประกอบกับมีกลิ่นที่ฉุน ทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ หลบหนีหรือถูกทำลายไปแต่ก็ยังพบว่ามดแดงมีศัตรูอยู่บ้างได้แก่
5.1 ปลวก มดแดงจะไม่ชอบปลวก แต่ปลวกก็ไม่ใช่ศัตรูโดยตรงของมดแดง เพราะปลวกไม่ได้ทำอันตรายมดแดงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงว่า มดแดงไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีปลวก คงเป็นเพราะปลวกมีกลิ่นที่มดแดงไม่ชอบก็อาจเป็นได้
5.2 มดดำ มดดำทุกชนิดเป็นศัตรูโดยตรงของมดแดง หากมดฝ่ายใดพลัดหลงเข้าไปในกลุ่มของฝ่ายตรงข้าม ก็จะถูกรุมกัดจนตาย มดดำจะเก่งกล้ากว่ามดแดงมาก โดยเฉลี่ยแล้วมดดำ ตัวเดียว จะสามารถทำลายมดแดงได้ถึง10ตัว
5.3 มดไฮ มดชนิดนี้บางท้องถิ่น เรียกว่า มดเอือด1 เป็นมดขนาดเล็ก ลำตัวยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร เป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดของมดแดงอย่างยิ่ง เนื่องจากมดชนิดนี้มีเยี่ยวที่มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก หากมดแดงได้รับกลิ่น และถูกเยี่ยวของมันก็จะตายทันที คล้ายกับว่าได้รับแก็สพิษฉันนั้น มดไฮ 1 ตัว สามารถทำลายมดแดงได้ถึง 20 ตัวเลยทีเดียว
 1 เอือด เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ดินที่มีแร่เกลือสินเธาว์ผสมอยู่ เรียกว่าขี้ทา ขี้เอือด มดเอือด บางทีเรียกว่ามดไฮ
6.ประโยชน์ของมดแดง มีมากมายหลายประการ พอสรุปได้เป็นหัวข้อ ดังนี้
6.1 ใช้เป็นอาหาร ได้จากไข่ และตัวมดแดง มดแดงมีกรดน้ำส้ม ให้รสเปรี้ยว อร่อย
มีคุณสมบัติเป็นกรดใช้แทนมะนาว หรือน้ำส้มสายชู ให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม รายการอาหารที่ได้จากมดแดงและไข่มดแดง ได้แก่ ยำไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดงแกงขี้เหล็กไข่มดแดงทอดไข่ยัดไส้เป็นต้น
6.2ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคดังนี้
6.2.1 ใช้สูดดม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โดยใช้มดแดง นำมาขยำแล้ว สูดดม
6.2.2 แก้ท้องร่วง ใช้เนื้อไก่พื้นบ้าน นำส่วนที่เป็นเนื้อแหย่เข้าไปในรังมดแดง เมื่อมดแดงกัดได้ปริมาณมากดึงออกมาแล้วใช้มือขยำนำไปย่างไฟให้สุกรับประทานขณะที่ยังร้อน อาการท้องร่วงจะบรรเทาและหายไป
6.2.3 แก้ท้องผูก นำมดแดงมาต้มใส่น้ำสะอาด ประมาณ 1 – 2 ถ้วย พอเดือด ยกลงแต่งรสโดยใช้เกลือพอเหมาะ กรองด้วยผ้าขาวบาง ดื่มทันที อาการท้องผูกจะหาย
6.2.4 ใช้ลบรอยไฝหรือขี้แมลงวัน โดยจับเอาตัวมดแดงกัดตรงเม็ดไฝ ให้มันเยี่ยวใส่ ถ้าไฝเม็ดโต ให้กัดหลายตัวพร้อมกัน ด้วยฤทธิ์ของน้ำกรด ไฝจะบวมและเปื่อยละลายเอาสีดำไหลออกมา เมื่อแผลหายจะไม่ปรากฏเม็ดไฝอีกต่อไป มีเพียงรอยแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น
6.2.5 ใช้แก้โรควูบ นำรังมดแดงร้างที่เกิดจากต้นคูณ มาใส่หม้อนึ่งต้มให้เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะอังกับไอน้ำเดือด สูดเอาไอร้อน ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรควูบจะมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด
6.3 ใช้กำจัดศัตรูพืช ต้นผลไม้ต่างๆ ตลอดทั้งพืชผัก เช่น บวบ ถั่วฝักยาว แตงร้าน หากมีมดแดงอาศัยอยู่ จะปราศจากหนอน แมลง เพลี้ย รบกวน เนื่องจากมดแดงจะจัดการนำไปเป็นอาหารจนหมดสิ้น ต้นมะม่วงที่มีปัญหาเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้งในต้นมะขาม หากนำมดแดงไปเลี้ยงเอาไว้ จะหมดปัญหาไป ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการกำจัดศัตรูพืชและปลอดสารพิษด้วย
6.4 ให้ความเพลิดเพลิน ผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคน จะมีความเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียด มดแดงจะช่วยผ่อนคลาย ทำให้เกิดคุณธรรมที่ได้จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การดำรงชีวิตของ มดแดงอยู่เสมอ มดแดงให้ข้อคิด คติและสัจธรรมแก่เรามากมายหลายประการ ซึ่งผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคนจะสัมผัสได้
7. ข้อพึงระวังจากมดแดง แม้ว่ามดแดง จะมีประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว มดแดงก็ยังมีสิ่งที่พึงระวังอยู่บ้างดังรายละเอียดต่อไปนี้
7.1กัดเจ็บแต่ไม่เป็นอันตราย
7.2 เยี่ยวของมดแดงซึ่งเป็นกรด หากเข้าตาจะปวดแสบ ปวดร้อนวิธีแก้ไข ใช้น้ำลายป้ายตาจะหายทันที
7.3เสื้อผ้าที่ถูกน้ำกรดจากมดแดงจะซีดด่างขาดความสวยงาม
7.4 ก่อความรำคาญ ในกรณีที่มดแดงไต่เข้าไปหาอาหารในบ้านเรือน อาจเข้าใจผิดว่า มดแดงก่อความรำคาญ แท้จริงแล้วมดแดงไปหาอาหารเพื่อนำไปป้อนลูกอ่อนของมันนั่นเอง หากจัดที่ให้น้ำ ให้อาหารและนำอาหารวางไว้ที่ต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ มดแดงจะไม่เข้ามารบกวนเราเลย ข้อสังเกต มดแดงจะสร้างรังที่ต้นไม้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างรังในบ้านเรือนของคนเรา.

ในช่วงนี้จะเห็นว่าตามตลาดชุมชน หรือตลาดเล็กๆ จะมีไข่มดแดงวางขายมากมาย ไข่มดแดงทานพอเหมาะพอดีก็จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย  

ไข่มดแดง เป็นอาหารจานเด็ดของภาคอีสาน แต่ในทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ก็มีให้รับประทานเช่นกัน มาทำความรู้จักกับ ไข่มดแดง เพื่อจะได้กลายเป็นเมนูสุขภาพได้

ไข่มดแดง เป็นหนึ่งในสุดยอดอาหารตามฤดูกาล ที่เมื่อได้ลิ้มลองแล้วก็มักจะติดอกติดใจกันถ้วนหน้า ส่วนใหญ่แล้วจะได้ยินกันว่าเป็นอาหารจานเด็ดของภาคอีสาน แต่ในทางภาคเหนือและภาคกลางก็มีให้กินเช่นกัน แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เคยได้ลองชิม ก็มาทำความรู้จักกับ ไข่มดแดง กันเสียหน่อยดีกว่า ไข่มดแดงจัดว่าเป็นอาหารตามฤดูกาล ในช่วงฤดูร้อน หรือประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยไปจนถึงเดือนมิถุนายน โดยสามารถแบ่งไข่มดแดงออกไปเป็นสองชนิด คือ ไข่ผาก เป็นไข่ที่มดแดงออกมาเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นตัวมดแดง จะมีลักษณะเล็ก ลีบ ฝ่อ ไม่เต่งตึง ส่วนใหญ่แล้วไข่ผากจะมีตลอดทั้งปี แต่ก็ไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร เนื่องจากมีรสเปรี้ยว และเลือกไข่ออกจากแม่มดแดงได้ยาก ถ้านำมาปรุงอาหารก็จะใช้ใส่ต้มยำ หรือใส่อาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยว 
ส่วน ไข่ใหญ่ หรือ ไข่มดแดง จะมีขนาดใหญ่เต่งตึง และมีน้ำในไข่มากกว่าไข่ผาก ไข่ใหญ่จะเจริญเติบโตออกมาเป็นแม่เป้ง ซึ่งเป็นมดแดงอีกแบบหนึ่งที่สามารถบินได้ เมื่อแม่เป้งโตเต็มที่แล้วก็จะออกไข่มาเป็นลูกมดแดง ไข่ใหญ่จะมีเฉพาะในฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่มดแดงจะเร่งแพร่ขยายพันธุ์ รังมดแดงที่มีไข่ใหญ่ เต่งและตึงจะเริ่มมีไข่ตั้งแต่ช่วงปลายฤดูหนาวประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน แต่ช่วงที่นิยมนำมากินกันมากที่สุดคือช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เพราะไข่มดแดงช่วงนี้จะใหญ่ เต่ง ตึง และอร่อยที่สุด
ไข่มดแดงสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู อย่างเช่น ต้มกับผักหวานป่า นำไปใส่ไข่เจียว ทำยำไข่มดแดง เป็นต้น ซึ่งไข่มดแดงนั้นก็มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีน ฟอสฟอรัส และแคลเซียม มีสรรพคุณทางยาช่วยระบายท้อง ช่วยให้เจริญอาหาร และเป็นอาหารบำรุงธาตุน้ำ แต่มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ ถ้าหากกินมากจะทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง
ก้อยไข่มดแดงสุดยอดอาหารของชาวอีสาน มีโปรตีนสูงนะครับขอบอก ในไข่มดแดง 100 กรัมจะมีปริมาณโปรตีน 8.2 กรัม ซึ่งถือว่ามากพอสมควร แต่จะมีไขมันน้อยกว่าไข่ไก่มาก ไข่มดแดงจะมีไขมัน 2.6 กรัมเทียบกับไข่ไก่ซึ่งมีมากถึง 11.7กรัม นอกจากนั้นไข่มดแดงยังมีสรรพคุณช่วยระบายท้อง ช่วยเจริญอาหารเป็นยาบำรุงธาตุน้ำ ฤดูกาลที่รับประทาน คือฤดูร้อน แต่จะแสลงสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารหากรับประทานจะทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง สตรีหลังคลอดบุตรหากรับประทานอาจทำให้น้ำนมน้อย คนเป็นไข้หรือฟื้น ไข้หากรับประทานจะทำให้ไข้หนักขึ้น

วันนี้ขอเสนอเมนู ก้อย(ยำ)ไข่มดแดง ที่ไปแหย่มาเมื่อวันก่อน

ไข่มดแดงล้างให้สะอาด เครื่องปรุงก็มี พริกป่น ข้าวคั่ว หอมแดง พริกแดง มะนาว สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง น้ำปลา อันดับแรกใส่พริกป่น น้ำปลา มะนาว คลุกเบาๆนะครับ เดี๋ยวไข่แตกชิมดูก่อนถ้าอร่อยแล้วตามด้วยข้าวคั่ว และเครื่องหอมต่างๆ




หมายเลขบันทึก: 535030เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ยำไข่มดแดงน่าอร่อยแต่ยังไม่เคยทาน

แถวบ้านคุณมะเดื่อมีมดแดงเยอะมาก  ตามต้นมะม่วงเยอะที่สุด ยังไม่เคยเอาไข่มดแดงมาทำอาหารเลยจ้ะ  เห็นทีต้องลองดูบ้างแล้ว

-สวัสดีครับ

-ไข่มดแดงทำเมนูไหนๆก็อร่อยครับ



สวัสดีค่ะ คุณอานนท์

  • คุณยายชอบยำไข่มดแดงค่ะ อร่อยดี

ชอบทานทั้งไข่มดแดงและแม่เป้งค่ะคุณหมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท