วิจัยระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน


ในศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากทำหน้าที่สอน มาทำหน้าที่โค้ช แล้ว ครูต้องมีโอกาสทำตัวเป็น นวัตกร เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ในโรงเรียนและชั้นเรียนของตนด้วย

วิจัยระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

บทความเรื่อง Generating Inprovement Through Research and Development in Education Systems ลงพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับScience Education  บอกเราว่า หากต้องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ต้องมีการปฏิรูปการวิจัยในระบบการศึกษา  โดยมีความท้าทายใหญ่ ๓ ประการ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ได้แก่

1.  เปลี่ยนแรงจูงใจ ให้นักการศึกษาไปทำงานวิจัยการศึกษา ณ จุดที่มีนักเรียนเรียนอยู่ตามปกติ  โดยที่ในปัจจุบัน ระบบแรงจูงใจในมหาวิทยาลัย และในแหล่งสนับสนุนทุนวิจัย เน้นที่การวิจัยเชิงทฤษฎี  ต่อด้วยการนำผลการวิจัย (translation) สู่การปฏิบัติ  ต้องเปลี่ยนไปเน้นสนับสนุนการวิจัย ณ จุดปฏิบัติเองโดยตรง

2.  จัดพื้นที่การศึกษา สำหรับให้ทีมนักวิจัยจากหลายสาขาวิชา ไปทำวิจัยร่วมกัน เพื่อหาทางปรับปรุงการเรียนการสอนระยะยาว  เนื่องจากปัญหาที่ระดับปฏิบัติ มีธรรมชาติซับซ้อน มีปัญหาในหลายมิติ  การแก้ปัญหาให้ได้ผล ต้องการทีมของ นักวิจัย ครู และนักออกแบบการศึกษา ร่วมกันทำงานดำเนินการปรับปรุง และติดตามผลต่อเนื่อง ระยะยาว 

3.  สร้างวัฒนธรรมในระบบโรงเรียน ที่เปิดช่องให้มีการทดลองนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีที่สุดต้องทำในโรงเรียนเอง  เพราะต้องทำภายใต้บริบท ที่จำเพาะของโรงเรียน  ต้องเปลี่ยนความกังวลของพ่อแม่และประชาชนทั่วไป ว่า การทดลองวิธีการใหม่ๆ ในโรงเรียนจะมีผลลบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน  เป็นเชื่อว่าเป็นผลดี ต่อทั้งการเรียนรู้ของนักเรียน และต่อการเรียนรู้ของครู 

อ่านบทความนี้แล้ว  ผมตระหนักถึงความล้าหลังของวิธีคิด (กระบวนทัศน์) ด้านการวิจัยในวงการศึกษาอเมริกัน  ทำให้เดาต่อว่า คงจะคล้ายๆ กันทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย  แต่ก็คิดว่า ความท้าทายใหญ่ข้อ ๓ (เฉพาะข้อ ๓) ข้างบนส่วนหนึ่ง ไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับสังคมไทย  คือสังคมไทยยอมรับ และเห็นคุณค่าการทดลองจัดการเรียนรู้ แบบใหม่ๆ ในชั้นเรียน  ไม่กังวลว่าจะก่อผลเสียต่อการเรียนรู้ ของลูกหลานของตนเลย  แต่ ๒ ข้อแรก เป็นความท้าทายใหญ่สำหรับประเทศไทย อย่างแน่นอน

และคิดให้ดีๆ ข้อท้าทายข้อที่ ๓ อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด  ในส่วนที่ระบบบริหารการศึกษาของเราเป็นระบบอำนาจสั่งการจากเบื้องบน

ผมชอบมาก ที่บทความนี้ อธิบายวิธีคิด ที่ดูเผินๆ น่าจะดี  แต่จริงๆ แล้ว เป็นความคิดที่ผิด  และทำให้ระบบการศึกษาเดินผิดทางอยู่ในปัจจุบัน

เขาบอกว่า งานวิจัยและพัฒนา ต้องคำนึงถึงความท้าทายด้านการออกแบบและการลงมือทำ ๓ ประการ  ที่อ่านแล้วผมตีความว่า เป็นความท้าทายให้เอาชนะมายา หรือความหลอกลวง ให้ได้

·  การกำหนดโจทย์วิจัยที่ถูกต้อง  เรามักคิดว่า หากกำหนดโจทย์วิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนที่ถูกต้อง   ก็จะได้ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์  ซึ่งในที่นี้หมายถึง นำมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้  ความคิดเช่นนี้ผิด   เพราะเป็นวิธีคิดของนักทฤษฎี  เป็นโจทย์ของนักทฤษฎี  หยุดอยู่ที่การค้นพบทฤษฎี

เขายกตัวอย่างการค้นพบวิธีฆ่าเชื้อแบบ Pasteurization โดย Louis Pasteur  เริ่มต้นจากโจทย์ในชีวิตจริง  คือ ทำไมไวน์จึงเสีย  การค้นพบว่า แบคทีเรียเป็นตัวการ ยังไม่เพียงพอ ต่อการตอบโจทย์เชิงปฏิบัติ  ต้องวิจัยต่อ ว่าจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ไวน์เสียอย่างไร  การค้นพบว่า ความร้อนทำลายแบคทีเรียได้ ก็ยังไม่แก้ปัญหาไวน์เสียและนมบูดได้  เพราะนอกจากไม่ให้ไวน์เสียนมบูดแล้ว ยังต้องคงสี รส กลิ่น ลักษณะอย่างอื่น และกินแล้วย่อยได้  จึงต้องค้นคว้าทดลอง ใช้ความร้อน แล้วทำให้เย็น อีกเป็นสิบปี จึงค้นพบวิธีฆ่าเชื้อแบบ Pasteurization

โจทย์วิจัยที่ถูกต้อง ต้องมาจากผู้ใช้  ใช้ภาษาด้านการปฏิบัติ

ความเป็นจริงข้อนี้ นำไปสู่ความท้าทายใหญ่ข้อแรก ตามข้างบน

·  การพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล  การตั้งคำถามที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ได้ผลหรือไม่  หากหมายถึงได้ผลในชีวิตจริง  คำตอบคือ ไม่

ที่วิธีแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผล และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีจากการวิจัย ใช้ไม่ได้ผลดีในสภาพชีวิตจริง  ก็เพราะในชีวิตจริงมีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกสารพัดด้าน  คือเป็นสภาพที่ซับซ้อนมาก  มีเรื่องของความเคยชิน ผลประโยชน์ วิธีคิด อำนาจ ฯลฯ มากมาย  ที่ปฏิเสธวิธีแก้ปัญหานั้น หรือนำมาใช้แบบเบี่ยงเบน

จึงนำไปสู่ความท้าทายใหญ่ข้อที่ ๒  การจัดให้มีพื้นที่จริง สำหรับให้ทีมสหวิทยาการเข้ามาร่วมกันทำวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนาน  จนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

·  การนำผลการวิจัยไปเผยแพร่ให้มีการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง  ต้องคำนึงถึงบริบท หรือสภาพความเป็นจริงของสถานที่ทำงาน หรือสถานที่ปฏิบัตินั้นๆ 

นี่คือที่มาของความท้าทายใหญ่ข้อที่ ๓   คือ การจัดให้มีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ขึ้นภายในโรงเรียนเอง 

ในศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากทำหน้าที่สอน มาทำหน้าที่โค้ช แล้ว  ครูต้องมีโอกาสทำตัวเป็น นวัตกร เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ในโรงเรียนและชั้นเรียนของตนด้วย

ผมเรียกข้อมายา ๓ ข้อข้างบนว่า “simple-minded trap” หรือกับดักวิธีคิดแบบขาดความซับซ้อน ลืมไปว่าระบบการศึกษาเป็นระบบที่ซับซ้อน (Complex-Adaptive Systemsไม่ใช่ Simple System

ในความเห็นของผม บทความนี้ยังมีจุดอ่อน หรือข้อด้อยอย่างแรง หากมองจากบริบทไทย  คือเขาใช้ชื่อบทความว่า R&D in Education Systems  แต่ไม่จับเรื่องการวิจัยเพื่อเข้าใจตัวระบบ  และเพื่อพัฒนาตัวระบบเลย  จับแต่เป้าหมายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเท่านั้น 

บทความนี้จึงถือว่ายอดเยี่ยม ในมุมของการวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอน ในแนวทางใหม่  แต่สอบตก ในเรื่องการวิจัยเชิงระบบ  รวมแล้วบทความนี้ผมให้คะแนน ๕๐ จากคะแนนเต็ม ๑๐๐

อย่าลืมนะครับว่า ผมเขียนบันทึกนี้ใน creative mode  เขียนเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน  คนที่สอบตกอาจเป็นตัวผมเองก็ได้  แต่ในเวทีนี้เราไม่เน้นถูกผิด  ข้อความในย่อหน้าบน เขียนแรงๆ เพื่อจะบอกว่า  ประเทศไทยยังต้องการการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบด้วย  เช่นเราอยากรู้ว่าเงินหายไปไหน  ประเทศไทยใช้เงินด้านการศึกษามาก  ทำไมคุณภาพจึงต่ำสุดขีดเช่นนี้ 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  RDES.pdf

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ค. ๕๖


หมายเลขบันทึก: 534794เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 08:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณท่านอาจารย์ Prof. Vichar... ค่ะ

เมื่อเกิดการตื่นตัวระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาด้่านการเรียนการสอน  อย่างกับว่า มีการเพิ่มบุคคลากรเข้ามาช่วยทางด้านนี้   

ต่อไป เราสามารถวัดเฉพาะปริมาณ  นักเรียน/คุณครู  และ คนไข้/คุณหมอ  เป็นตัวเปรียบเทียบชี้วัดคุณภาพของประชากรได้บ้างไหมคะ ?  ดิฉันแค่ลองมองคร่าวๆ ค่ะ

ถ้าครูเราทำได้ตามที่อาจารย์ว่าก็ดีครับ เพราะการวิจัยนั้นสำคัญ แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ทำวิจัยอย่างจริง ๆ จัง ๆ เพราะภาระหน้าที่ ปากท้อง ยิ่งถ้าในวงการศึกษาเราแล้วคนที่ทำวิจัยเองทำวิจัยเพื่อ 1 พัฒนาตนเอง คือพวกเรียนต่อ ป.โท / ป. เอก   2. พวกที่ทำวิจัยเพื่อขอเงินสนับสนุนการวิจัย  3. พวกที่ทำวิจัยเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ หรือเพิ่มเงินเดือน ซึ่งพอบุคคลเหล่านี้ทำวิจัย ผลที่ตามมาคือเด็กไม่ได้เรียนหนังสือเลย แต่มีนักวิชาการหลายท่านที่บอกว่าการทำวิจัยไม่อยากแค่เก็บหลักฐานแล้วมาวิเคราะห์ผล แต่สำหรับครูในวงการศึกษานั้นเป็นเรื่องยากจริง ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท