Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

วิวัฒนาการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน


การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นแนวโน้มสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ (Regional Trade Agreements: RTAs) มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลองค์การการค้าโลก ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2555 พบว่า มีการรวมกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ ที่ได้แจ้งกับองค์การการค้าโลกสูงถึง 511 กลุ่ม


สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนของอาเซียนเพิ่งจะเด่นชัดเมื่อปี พ.ศ. 2519 เมื่ออาเซียนได้จัดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรก และผู้นำประเทศสมาชิกได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความสมานฉันท์ของอาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ขึ้น อาทิ การจัดทำ ASEAN Preferential Trading Arrangement (PTA) ในปี พ.ศ. 2520 การลงนามความ ตกลงความร่วมมือด้านการสำรองอาหารของอาเซียน (ASEAN Food Security Reserve) โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียนในภูมิภาค เช่น โครงการอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Projects) โครงการความเกื้อกูลด้านอุตสาหกรรม (ASEAN Industrial Complementation) เป็นต้น

อาเซียนได้พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจก้าวสำคัญไปอีกระดับหนึ่งด้วยการประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะต่อมาถึงปัจจุบัน โดยได้มีการจัดตั้งคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (Agreement of the Common Effective Preferential Tariff Scheme for the ASEAN) เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานเขตการค้าเสรีอาเซียน อาฟตานับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของอาเซียนในการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกโดยการยกเลิกอุปสรรคทางการค้าทั้งในด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ระหว่างกัน ปัจจุบันการดำเนินงานอาฟตามีความคืบหน้าไปมาก อัตราภาษีสินค้า ส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน) ได้ลดมาอยู่ที่ร้อยละ 0-5 แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยในปี พ.ศ. 2550 ประเทศอาเซียนเดิมได้ปรับลดภาษีสินค้าจำนวนร้อยละ 80 ของสินค้าในบัญชีลดภาษีเป็น 0% แล้วโดยสินค้าในบัญชีลดภาษีของไทยมีทั้งสิ้น 8,300 รายการ และรายการที่ลดภาษีเป็น 0% แล้วมี 6,643 รายการ


ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนเดิมทั้ง 6 ประเทศมีเป้าหมายยกเลิกภาษีสินค้าทุกรายการเป็น 0% ภายในปี พ.ศ. 2553 สำหรับประเทศอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม หรือ CMLV) มีการกำหนดการลดภาษีศุลกากรแตกต่างกันออกไป โดยเวียดนามลดภาษีเหลือร้อยละ 0-5 ในปี พ.ศ. 2549 ลาวและพม่าในปี พ.ศ. 2551 และกัมพูชาภายในปี พ.ศ. 2553 และทั้ง 4 ประเทศจะต้องยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าทุกรายการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 โดยมีความยืดหยุ่นในสินค้าบางรายการได้จนถึงปี 2561 ที่ผ่านมาการจัดตั้งอาฟตาได้ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าภายในภูมิภาคอย่างมาก มูลค่าการค้าในปี 2536 ที่มีมูลค่าเพียง 82,444 ล้านเหรียญสหรัฐได้เพิ่มเป็น250,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2549

เมื่อการเปิดเสรีทางการค้าได้มีความคืบหน้าไปลำดับหนึ่งจึงเกิดแนวคิดของการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ และการลงทุนขึ้นในปี พ.ศ. 2538 และปี พ.ศ. 2541 ตามลำดับ เพื่อสร้างจุดแข็งและเสริมสร้างขีดความสามารถในการเป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค และจัดตั้งเขตการลงทุนที่มีศักยภาพ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) อาเซียนได้ขยายความร่วมมือไปสู่การเปิดเสรีการค้าการบริการ โดยการจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Service: AFAS) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการเป็นผู้ให้บริการในภูมิภาคและให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการที่ลึกและกว้างภายใต้กรอบ WTO โดยการเจรจาเปิดตลาดของอาเซียนจะดำเนินการเป็นรอบๆ และจะต้องเจรจาไปจนบรรลุเป้าหมายการเปิดตลาดทุกสาขาบริการในปี พ.ศ. 2558

ในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) อาเซียนได้จัดทำกรอบความตกลงเขตลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA) เพื่อเปิดเสรีลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคบริการ 5 ภาค คือ การผลิต ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และธุรกิจบริการเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับ 5 ภาค โดยประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ มีเป้าหมายการเปิดเสรีการลงทุนและให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติแก่นักลงทุนอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) และสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน CMLV ภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาเซียนจะได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคโดยการจัดทำ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งส่งผลให้เกิดโอกาสและประโยชน์ทางการพัฒนาในระดับหนึ่ง แต่บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเงินโลก การเพิ่มของราคาพลังงานการเคลื่อนย้ายแรงงาน ข้ามพรมแดน เป็นต้น ได้ผลักดันให้อาเซียนตระหนักถึงความสำคัญและของความร่วมมือไปสู่ก้าวประวัติศาสตร์ คือ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)

บรรณานุกรม

สำนักนโยบายและแผน. (2555). รายงานการศึกษาโอกาสและผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย.


หมายเลขบันทึก: 534270เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2013 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท