Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

รายงานการศึกษาโอกาสและผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อกระทรวงมหาดไทย


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร


สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) หรืออาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยในปัจจุบันมีจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และไทย

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี แห่งการก่อตั้ง อาเซียนได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่องจากจุดเริ่มต้นของการมุ่งเน้นในการสร้างความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงร่วมกันในระยะแรกได้ปรับเปลี่ยน
ไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจมากขึ้น

ในปีพุทธศักราช 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดและวางแผนเพื่อพัฒนาและยกระดับความร่วมมือระหว่างกันไปสู่ทิศทางที่ก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการรวมตัวและความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) สำหรับ


ประเทศไทยเองได้มีการเตรียมพร้อมในเชิงนโยบายซึ่งปรากฏทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 และคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตลอดจนการเตรียมพร้อมเชิงกลไก ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ภายใต้การพัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมักจะได้รับความสนใจ
และกล่าวถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง โดยแนวโน้มการพัฒนาสำคัญอันจะเกิดจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ การจัดระบบและการเพิ่มขึ้นของการค้า การลงทุนและการบริการระหว่างประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายตัวของเมือง การบริหารงานชายแดน การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างใกล้ชิด การเคลื่อนย้ายคน และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร อย่างไรก็ดี แม้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกระทรวงมหาดไทยโดยตรง


ในเชิงการขับเคลื่อนหรือดำเนินการให้เป็นไปตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย
แต่ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปรับตัวและเตรียม
ความพร้อมสำหรับผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบที่จะเกิดขึ้นในระดับประเทศ หน่วยงาน พื้นที่ และ ประชาชนก็ย่อมจะเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันหรือเป็นแรงสนับสนุนที่จะทำให้การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทยเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดประโยชน์สูงสุด


จากการศึกษา พบว่า แนวโน้มโอกาสและผลกระทบต่อกระทรวงมหาดไทยภายใต้อำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มีความท้าทาย ได้แก่ ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-traditional Security Issues) การบริหารงานทางทะเบียน การปรับตัวของการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด การค้าชายแดน การประกอบอาชีพของประชาชน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การขยายตัวของเมือง ความต้องการด้านระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การจัดการความขัดแย้ง การพัฒนาภาษาต่างประเทศ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน


ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 กระทรวงมหาดไทย
ควรดำเนินการตามประเด็นยุทธศาสตร์ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่


1) การสร้างความพร้อมเชิงยุทธศาสตร์ระดับองค์กร (Organizational Strategic Preparedness Building) ประกอบด้วยกลยุทธ์ คือ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารจัดการ การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ระเบียบ กฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาภาพลักษณ์องค์กร


2) การเพิ่มขีดสมรรถนะการบริหารจัดการพื้นที่ (area-based management) ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค (Capacity Building for Integrated Regional Administration and Development) ประกอบด้วยกลยุทธ์ คือ การเสริมสร้างสมรรถนะการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการกระชับความร่วมมือระดับจังหวัด/ กลุ่มจังหวัดกับภาคส่วนอื่นๆ


3) การยกระดับการบริการ และอำนวยความเป็นธรรมประชาชน (Public Service Quality Upgrading) ประกอบด้วยกลยุทธ์ คือ การพัฒนาการบริการประชาชน และการอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยเพื่อให้การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงมหาดไทยบรรลุสำเร็จ ควรกำหนดให้มีกลไกการขับเคลื่อนใน 3 ระดับ คือ การจัดตั้งศูนย์ศึกษาและเตรียมความพร้อมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เฉพาะกิจ) การจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงมหาดไทย และการกำหนดแนวทางการพัฒนาระยะยาวโดยบรรจุในแผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2555-2558


บรรณานุกรม


สำนักนโยบายและแผน. (2555). รายงานการศึกษาโอกาสและผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย.


หมายเลขบันทึก: 534265เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2013 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท