ชีวิตที่พอเพียง: ๑๘๙๘. ชวนนักวิชาการรับใช้สังคมทำงานวิชาการสร้างทฤษฎี



          วันที่ ๕ มี.ค. ๕๖ อาจารย์แหวว (พันธุ์ทิพย์  กาญจนจิตรา สายสุนทร)  ยกทีมไปคุยกับผม และคุณเปาที่มูลนิธิสยามกัมมาจลเพื่อAAR ชีวิต และเตรียมตัวสู่ชีวิตผู้อาวุโส

          ท่านพยายามถามว่า ผมเตรียมชีวิตส่วนของตัวเองอย่างไรเมื่อใกล้เกษียณ ผมตอบไม่ได้เพราะไม่เคยวางแผนชีวิตของตนเองเลยว่าจะเป็นอะไร ทำอะไร ยกเว้นเมื่ออายุราวๆ ๓๐ วางเส้นทางชีวิตที่จะไม่เปิดคลินิกหารายได้ เพื่อทุ่มเทชีวิตให้แก่งานวิชาการ

          จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังทำงานวิชาการตามเส้นทางนั้น

          ผมแนะนำท่านว่า ทีมนักกฎหมายเพื่อคนจนของอาจารย์แหวว ได้สั่งสมความรู้ และประสบการณ์จากการทำงานไว้มากมาย  น่าจะได้แปลงความรู้นั้นเป็นความรู้เชิงทฤษฎี ยกระดับความรู้ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม (และแก่โลก)ในระยะยาว  คือได้สร้างความรู้เชิงทฤษฎีทางกฎหมายว่าด้วยชีวิตของผู้คนชายขอบของรัฐ หรือชีวิตของผู้ยากไร้ ยาวกว่าการทำงานช่วยเหลือคนจนเป็นรายๆ

          ในวันนั้นเราไม่ได้คุยลงลึกไปสู่วิธีปฏิบัติ ผมจึงกลับมาทำการบ้านส่งอาจารย์แหววเสนอแนะวิธีปฏิบัติที่ไม่ทราบว่าจะใช้ได้ผลหรือไม่  ในบริบทของเครือข่ายอาจารย์แหวว

          เริ่มต้นโดยทีมช่วยกันlist รายชื่อวารสารวิชาการทางกฎหมาย (และสาขาใกล้เคียง) ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางกฎหมาย เน้นที่กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมในสังคมที่คำนึงถึงกลุ่มคนด้อยโอกาส

          แล้วตกลงกันว่า ใครจะติดตามวารสารเล่มไหนนำมาเขียนลงบล็อกสัปดาห์ละ(อย่างน้อย) ๑ บันทึก  โดยแต่ละบันทึกเป็นการAAR รายงานผลการวิจัย ๑ เรื่อง ว่ามันเกี่ยวข้องกับงานที่เครือข่ายอาจารย์แหววกำลังทำกันอยู่อย่างไร มีข้อตกลงด้วยว่าทุกคนในเครือข่ายต้องเข้าไปอ่านบันทึกของสมาชิกเครือข่าย และต้องเขียนบันทึก AAR ประจำสัปดาห์ คนละ ๑ บันทึกว่า ตนเกิดแนวความคิดตั้งโจทย์วิจัยอะไรบ้าง จากงานที่เครือข่ายอาจารย์แหววกำลังทำ

          ถ้าเขียนลงบล็อกมันประเจิดประเจ้อเกินไป  สมาชิกเครือข่ายอยากให้อยู่เฉพาะในวงในของเครือข่าย จะใช้ GoogleGroup ก็ได้

          ขอเสนอโจทย์AAR  รายงานผลการวิจัยที่อ่านจากวารสารดังนี้  (๑)​โจทย์วิจัยคืออะไร  (๒) ใช้วิธีตอบโจทย์อย่างไร  (๓) ข้อมูลที่ใช้ได้มาอย่างไร  (๔) เขาใช้ทฤษฎีอะไรบ้างในการตั้งโจทย์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและในการสรุปผล  (๕) สรุปผลน่าเชื่อถือหรือไม่มีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง  (๖) ข้อสรุปนี้ใช้ได้กับบริบทสังคมไทยที่เครือข่ายฯกำลังทำงานอยู่หรือไม่  (๗) เราเห็นลู่ทางทำวิจัยจากข้อมูลของเราเพื่อต่อยอด (หรือโต้แย้ง) ความรู้ในรายงานผลการวิจัยนี้อย่างไรบ้าง

          สมาชิกของเครือข่ายฯต้องตกลงกันว่า ต่อไปนี้จะจัดเวลาร้อยละ ๒๐ (๓๐?) ให้แก่กิจกรรม“วิชาการขาขึ้น” คือขาสร้างความรู้เชิงทฤษฎีโดยยังคงมีเวลาร้อยละ ๗๐ - ๘๐ ทำงาน“วิชาการขาลง ”คือขาใช้ความรู้เอาไปแก้ปัญหา

          อีกวิธีหนึ่งที่ควรนำมาใช้คือ หาสมาชิกเครือข่ายที่ไม่ใช่นักกฎหมาย เช่น นักมานุษยวิทยา  นักสังคมวิทยา ชวนมาทำงานวิชาการ  review วารสารร่วมกัน

          ทุกๆ ๒- ๓เดือน สมาชิกของเครือข่าย ควรนัดกันมาพบหน้าเพื่อหารือกันว่าได้โจทย์วิจัยอะไรบ้าง  สำหรับสร้างความรู้ใหม่ที่จะตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ โดยทำวิจัยจากข้อมูล และกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่เครือข่ายได้ทำไปแล้ว  และกำลังทำอยู่  และวางแผนร่วมกันว่าใครจะเป็นแม่ (พ่อ) งาน  คนนี้จะเป็น principal investigator ในการตีพิมพ์ผลงาน ใครร่วมมือบ้างก็จะได้เป็น co-investigator  โดยมีข้อตกลงชัดเจนว่าใครทำอะไร

          จะให้ดีตั้งชื่อผลงานวิจัยที่จะตีพิมพ์ไว้ล่วงหน้า (แก้ไขปรับปรุงได้) เล็งไว้เลยว่าจะส่งไปตีพิมพ์ในวารสารใด แล้วเริ่มเขียน(ร่าง)บทนำข้อมูล และวิธีการและบทสรุปไว้ล่วงหน้า เอามานำเสนอตอนประชุมพบหน้ากันให้สมาชิกช่วยแนะนำ

          อาจารย์แหววครับ อาจารย์ลืมให้การบ้านผม แต่ผมก็ตั้งโจทย์เองส่งการบ้านให้แล้วนะครับ


วิจารณ์  พานิช

๗ มี.ค.๕๖



หมายเลขบันทึก: 533973เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2013 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2013 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท