เมืองช้างสุรินทร์ & ปราสาทหินบุรีรัมย์


แม้จะต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างความเป็นอยู่ แต่เราคือคนไทย มีหัวใจดวงเดียวกัน

ทริปนี้ฉันออกเดินทางเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์   ตั้งใจไปเที่ยวหาพี่สาวใจดี (ตามคำชวน) พี่เพ็ญศรี  สายรัตน์  หรือพี่เพ็ญ  เราเจอกันตอนอบรม  พักด้วยกันประมาณ 4 อาทิตย์  ทำให้สนิทกันพอสมควรค่ะ  เราไม่ได้เจอกันนานหลายปีเลยค่ะ   เมื่อมีโอกาสจึงขอไปเที่ยวหาซะหน่อย  ประกอบกับการอยากพักผ่อนอยากเที่ยวของฉันด้วย  และเมืองช้างสุรินทร์  ฉันยังไม่เคยไปสัมผัสด้วยซิ  งานนี้ฉันไม่บ้าพอที่จะขับรถไปเอง  กลัวจะไม่ถึงสุรินทร์ 555.........  ขอนั่งรถทัวร์ไปละกันค่ะ จากเมืองเหนือ(ลำปาง) สู่ ภาคอีสาน(สุรินทร์)  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมงค่ะ    


ตามฉันมาเที่ยวเมืองช้าง @ สุรินทร์  กันดีกว่าคร้าาาาาา


เริ่มจากแวะไหว้พระขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง  ณ  วัดบูรพาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีอายุประมาณกว่า 200 ปี เท่าๆ กับอายุของเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ จางวาง (ปุม) เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300-2330 โดยประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น เรียกชื่อว่า "วัดบูรพ์"


ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐาน  (1) หลวงพ่อพระชีว์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก   หลวงพ่อพระชีว์หรือหลวงพ่อประจีองค์นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด คาดว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม นับเป็นปูชนียวัตถุที่ชาวสุรินทร์เคารพบูชา ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมืองสุรินทร์   (2) พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) เคยประจำอยู่ ณ วัดบูรพาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จนกระทั่งมรณภาพ พ.ศ. 2526 ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกัมมัฏฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาสให้การยอมรับว่า หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เป็นองค์เดียวที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิต จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งภาวนาจิต 

เดินทางมาำไกล  ขอพระคุ้มครองนะค่ะ  สาธุ สาธุ......






จากนั้นพี่เพ็ญ  ก็พาฉันมากินข้าว &  รับลมชมวิว  ที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง  เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดสุรินทร์  อยู่ในความดูแลของชลประทานสุรินทร์ค่ะ  อ่างเก็บน้ำแห่งนี้  เป็นสถานที่พักผ่อนของคนจังหวัดสุรินทร์  อากาศร้อนๆ แบบนี้  มีที่ให้มาลงเล่นน้ำดับร้อนกันค่ะ    






เมื่อท้องอิ่ม  สงสัยพี่เพ็ญจะกลัวฉันง่วง  เลยพาฉันมาเดินย่อยอาหารในงาน  วันข้าวหอมมะลิอินทรีย์และมหกรรมผ้าไหมสุรินทร์   ถือว่าเป็นความโชคดีของฉันที่เดินทางมาเที่ยวสุรินทร์ช่วงนี้พอดี







ผ้าไหมสุรินทร์สวยๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ  สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ฉันไ้ด้เยอะเลย   แถมยังยั่วกิเลสฉันได้อีก ฮ่าฮ่า!!!!  

ภายในงานนอกจากจะมีการจำหน่ายผ้าไหม  ของดีเมืองสุรินทร์แล้ว  ยังมีการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง  ของกินของใช้ต่างๆ มากมายเลยค่ะ    ที่สำคัญงานนี้ยังมีการสาธิตขั้นตอนการสาวไหม  ++++ รู้ล่ะค่ะว่าทำไม  ผ้าไหมที่นี่ถึงได้แพงจัง อิอิ.....เพราะกว่าจะได้ผ้าไหมสวยๆ อย่างที่เห็นสักผืน  ยุ่งยากเหมือนกันค่ะ  สมราคาแล้วล่ะค่ะ  



นอกจากสาธิตขั้นตอนการสาวไหมแล้ว    ยังมีตัวไหมเป็นๆ  มาให้ยลโฉมกันอีกนะค่ะ  มาดูหน้าตาตัวไหมตั้งแต่เป็นดักแด้กันค่ะ   ดูว่าจะน่ารักน่าชังขนาดไหน  อิอิ......





จนได้ไหมที่จะนำมาต้มเพื่อสาวไหม ไว้ทอผ้าต่อไปค่ะ  ขอบอกว่าสวยมากๆ  เหลืองอร่ามเป็นสีทองเลยค่ะ  





แล้วก็มาตื่นตาตื่นใจกันต่อ  กับ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์  กันต่อ.....ของเค้าดีจริงๆ ค่ะ







เดินมาจนสุดถนน  ยังไม่ทันหายเหนื่อย  เจอช้างเป็นฝูงเลยค่ะ......ตายละใครเอาช้างมาเดินเล่นแถวนี้นี่   ไม่อยากคิดเลยว่าถ้าโดนเหยียบแล้วจะเป็นไง.......แต่มันไม่ใช่ช้างจริงหรอกค่ะ   เป็นรูปปั้นช้างน่ะ แฮ่ แฮ่..... แวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกสักหน่อยกับการบันทึกสถิติโลกกินเนสส์   กับผลงานการจัดเลี้ยงโต๊ะช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก  โดยกิสเนสส์ เวิรลด์  เรคคอร์ด   และแวะไหว้อนุสาวรีย์ผู้สร้างเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ จางวาง (ปุม)  ซึ่งอยู่กลางถนน ใกล้ๆ กับรูปปั้นฝูงช้างนั่นเองค่ะ  






เดินจนเหนื่อย  กินจนอิ่มท้ิอง  เที่ยวจนหน่ำใจ    ขอพักก่อนแล้วค่อยมาเที่ยวกันต่ออีกวันนะค่ะ


จากเมืองช้างสุรินทร์  สู่เมืองปราสาทหินบุรีรัมย์  

มันเป็นความฝันของฉันตั้งนานละค่ะ  ว่้าถ้ามีโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตขอไปเดินขึ้นปราสาทหินพนมรุ้ง ไปดูปรากฎการณ์อันน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ   และ....แล้ววันนี้ความฝันของฉันก็เป็นจริง  แม้ว่าฉันจะไม่ได้เห็นปรากฎการณ์ ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก  ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บานก็ตาม  แค่ได้มาเดินสัมผัสบรรยากาศปราสาทหินแ่ห่งนี้แล้ว  ทำเอาฉันทึ่งและภูมิใจในความเป็นคนไทย และบรรพบุรุษของเรามากเลยค่ะ   





ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า พนมรุ้ง นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่







ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือ พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้นเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ

องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน







ถัดจากนั้นเป็นทางเดินทั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูมเรียกว่าเสานางเรียง จำนวนข้างละ 35 ต้น ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช ซึ่งผังกากบาทยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพาน มีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด ในศาสนาฮินดู หรือเป็นจุดที่ผู้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1 มีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา

ที่หน้าซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออก มีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 ระเบียงคดก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบลานปราสาทแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะมีผนังกั้นอยู่เป็นช่วง ๆ มีซุ้มประตูกึ่งกลางของแต่ละด้าน ที่มุมระเบียงคดทำเป็นซุ้มกากบาท ที่หน้าบันของระเบียงคดทิศตะวันออกด้านนอก มีภาพจำหลักรูปฤๅษีซึงหมายถึงพระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจรวมหมายถึง นเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานแห่งนี้ด้วย






ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17

ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่าห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น







ที่บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น พระศิวนาฏราช (ทรงฟ้อนรำ) ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระราม (ในเรื่องรามเกียรติ์) หรือพระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤๅษีเป็นต้น




จากปราสาทหินพนมรุ้ง  เรามาชมโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง  ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก  "ปราสาทเมืองต่ำ"  ค่ะ  




ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดปราสาทบูรพาราม ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยคำว่า เมืองต่ำ นี้ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองเรียกโบราณสถานแห่งนี้ เพราะปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง โดยมวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุในที่นี้ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา





บาราย (ทะเลเมืองต่ำ)  เป็นสระน้ำขนาดใหญ่  สร้างขึ้นเืพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรม  บารายแห่งนี้รับน้ำมาจากเขาพนมรุ้ง  โดยมีช่องรับน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของบาราย   อยู่ใกล้ๆ ปราสาทเมืองต่ำค่ะ    






ท้ายนี้ แม้ว่าเราจะต่างถิ่น  ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างความเป็นอยู่   แต่ฉันเชื่อว่าเรามีหัวใจเดียวกันค่ะหัวใจของความเป็นคนไทย   ขอบคุณอีกครั้งสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น  และมิตรภาพดีดีของพี่เพ็ญ และครอบครัว  ไว้มีโอกาสยินดีต้อนรับสู่ภาคเหนือค่ะ  


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก... วิกิพีเดีย ค่ะ


แล้วพบกันใหม่ค่ะ

กอหญ้า...

หมายเลขบันทึก: 533868เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2013 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2013 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

-สวัสดีครับ..

-พี่สาวกอหญ้า.....ปราสาทเขาพนมรุ้ง.....กับปราสาทเมืองต่ำ สวยงามจริง ๆ ครับ..

-งานนี้ไปเที่ยวคุ้มสุด ๆ น่อ...เที่ยวงานข้าวมะลิและผ้าไหม..ว่าแต่..ได้สาวไหมก่อ ..

-เขาว่าไปบุีรีรัมย์ต้องกิน"กุ้งจ่อม" ได้กินพ่องก่ 55

-ขอบคุณสำหรับภาพบรรยากาศและความทรงจำดีๆ จากทริปนี้คร๊าบ!!!

-เก็บ"บะม่วงขี้ง๊ะ" มาฝาก..55


เดินทางไกลนะครับพี่กอหญ้า บ้านเฮาลำปางไปสุรินทร์ แต่มันคุ้มนะครับทั้งมิตรภาพและบรรยากาศ และที่ที่เราไปเที่ยว .....ขอบคุณนะครับพี่แบ่งปัน

สวัสดีค่ะ

- คุณเพชร  "กุ้งจ่อม" ซื้อมาฝากพ่อ แต่บ่ได้ชิม  เห็นแล้วเหมือนมันจะบ่สุกน่ะ  ปล.กลัวท้องเสีย  ช่วงนี้รู้สึกสุขภาพย่ำแย่  ต้องดูแลกันหน่อยค่ะ  ทริปนี้ถือว่าคุ้มค่ากับการรอคอยค่ะ  ขอบคุณมะม่วงขี้ยะ  ตวยเน่อ

- คุณลูกหมูเต้นระบำ  ถึงจะำไกลแต่ก็คุ้มค่าจริงๆ ค่ะ  

ขอบคุณทุกกำลังใจนะค่ะ

สวยงามน่าเที่ยว..ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

คุณพี่ใหญ่  น่าเที่ยวจริงๆ ค่ะ  มรดกของชาิติไทย  สวยงามที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท