Fareeda
รอ.หญิง เบญจมาภรณ์ Fareeda Hua-jiem

ท่านคิดว่าจริงมั้ยที่สังคมจะสะท้อนจริยธรรม?


ครั้งหนึ่งเมื่อยามว่างเคยนั่งคิดทบทวนการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาในแต่ละวัน โดยพบว่ายิ่งนับวันยิ่งทำให้สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวได้ทะลุปรุโปร่งและลึกซึ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาได้ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านการฝึกฝน อบรม ทดสอบจากสิ่งเร้าต่างๆในสังคมมาเป็นจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงคือ สภาพความเสื่อมของสังคม หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญหาจริยธรรมทางสังคม ซึ่งปัจจุบันพบเห็นได้มากและบ่อย ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อต่างๆที่ประโคมข่าวไว้อย่างหลากหลาย เช่น จากสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและประสบการณ์ชีวิต หรือแม้แต่การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวกับจริยธรรมต่างๆ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมีแต่ข่าวที่ส่งผลในทางลบ สิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือสิ่งที่ผิดจริยธรรมฯลฯ เมื่อเห็นแบบนี้แล้วเราจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างไร

คำว่า จริยธรรม (Ethics) ก็จะคิดถึงอะไรก็ตามหรือตัวพฤติกรรมการกระทำซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม คุณงามความดี การมีคุณธรรมความเมตตากรุณา การมีศีลธรรม การกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

  จริยธรรม เกี่ยวพันกับการปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนาต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้คนประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี ละเว้นความชั่วทำแต่ความดี ซึ่งมีรากฐานมาจากคำว่า “จริย หรือ จริยา” ซึ่งหมายถึงความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ถ้าใช้รวมกับคำอื่น เช่น จริยศึกษา ธรรมจริย ฯลฯ ในความหมายตามพจนานุกรมฯ พ.ศ. 2539 จริยธรรม คือธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม 

ปัญหาทางจริยธรรม คือสถานการณ์ของบุคคลในการเลือกการกระทำระหว่างสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง สิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือไม่ผิดศีลธรรม ถูกจริยธรรมหรือผิดจริยธรรม ซึ่งเรื่องของจริยธรรมยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอีกด้วย  โดยวัฒนธรรมเป็นค่านิยม ความเชื่อความคิดจิตสำนึก รูปแบบพฤติกรรม ในการอยู่ร่วมกัน และถูกใช้เป็นกรอบความคิด แนวทางหรือแบบแผนในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม  วัฒนธรรมเกิดจากความคิดความเชื่อร่วมกันของคนในกลุ่ม แล้วจึงก่อให้เกิดเป็นแบบพฤติกรรมของกลุ่ม ทั้งนี้ในแต่ละที่อาจมีวัฒนธรรมที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ จึงถือว่ามีความสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่าสิ่งใดเป็นประเด็นปัญหาทางจริยธรรมหรือไม่ เราจะต้องศึกษาและเข้าใจถึงประเด็นปัญหาด้านจริยธรรมในด้านต่างๆ และการรับมือกับปัญหาจริยธรรมที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต หากสังคมได้กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ไว้จะทำให้ประเด็นปัญหาด้านจริยธรรมผ่อนคลายลงหรือสามารถช่วยบรรเทาความร้ายแรงของผลกระทบที่เกิดจากปัญหาทางจริยธรรมได้ ส่วนหนึ่งรูปแบบในการจัดการกับปัญหาทางจริยธรรมนั้นอาจใช้วิธีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางต่างๆ ที่จะป้องกันการเกิดปัญหาทางจริยธรรมไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะสร้างความรู้สึกที่ดีและช่วยให้ปัญหาด้านจริยธรรมผ่อนคลายลง ลดความไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่ปัญหาด้านจริยธรรมก็อาจเป็นไป

การพัฒนาจริยธรรมในสังคมนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่หนักและใหญ่หลวง อาจต้องใช้เวลา ต้นทุน และทรัพยากรเป็นจำนวนมากเพื่อส่งเสริมสนับสนุนในการแก้ปัญหาที่มากมาย ประชาชนในสังคมมีจริยธรรมในระดับที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนและปลูกฝังจริยธรรมจากครอบครัวและโรงเรียน ตลอดจนสังคมของคนเหล่านั้น และโอกาสที่จะประพฤติผิด ซึ่งการพัฒนาจริยธรรมทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป  เช่น

-  ผู้นำในสังคมควรตระหนักถึงความสำคัญของการมีจริยธรรมในสังคมและควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งประกอบด้วยความมีใจกว้าง การประพฤติดีงาม ความเสียสละ ความซื่อตรง ไม่ข่มเหงผู้ด้อยกว่าด้วยอำนาจที่มิชอบ

-  การจัดทำจัดสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับและสื่อสารให้ทุกคนทราบโดยทั่วกันเพื่อเป็นกรอบหรือแนวทางในการประพฤติตนในการอยู่ร่วมกันในสังคมอีกทั้งการกำหนดมาตรการหรือบทลงโทษต่อผู้ที่มีความประพฤติขัดกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับดังกล่าวร่วมด้วย

-  การจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมขึ้นบ่อยๆ เช่น การพัฒนาตนโดยใช้หลักจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ฯลฯ

-  เสริมสร้างการมีความรับผิดชอบตามหน้าที่ (Accountability ) หมายถึง ความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติตามหน้าที่ตน

-  การรู้จักภาระหน้าที่ (Responsibility) หมายถึง ความสำนึกในหน้าที่ของตนและปฏิบัติหน้าที่ของตน ด้วยความสามารถและมีประสิทธิภาพ

-  ความเสมอภาคและความเป็นธรรม (Equitable Treatment) หมายถึง การปฏิบัติตัวต่อกันด้วยความเท่าเทียมกันในสังคม

-  ความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การดำเนินงานต่างๆที่สามารถตรวจสอบได้ และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสในสังคม 

- ส่งเสริมสื่อที่สนับสนุนการพัฒนาจริยธรรมแก่คนในสังคม  คือส่งเสริมสื่อที่สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน

 ฯลฯ

แล้วท่านๆมีความคิดเห็นเพิ่มเติมและสนับสนุนอย่างไรกันบ้างค่ะ



หมายเลขบันทึก: 533848เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2013 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2013 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท