ประเด็นการลงเลขบุคคลผิดประเภท หรือได้รับการบันทึกทางทะเบียนผิดพลาดกรณีนางบุษบา อาหมื่น


ประเด็นการลงเลขบุคคลผิดประเภท หรือได้รับการบันทึกทางทะเบียนผิดพลาด

21 เมษายน 2556

สืบเนื่องมาจาก ข้อเขียนเมื่อ 16 เมษายน 2556 เรื่อง "การให้เลขประจำตัวประชาชนผิดประเภทบุคคล" และจากข้อเขียนของคุณศิวนุช สร้อยทอง เมื่อ 21 เมษายน 2556 เรื่อง กรณีศึกษา : กรณีครอบครัวนางบุษบา อาหมื่น คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย [1]

ผู้เขียนมีข้อสังเกตในประเด็นการลงเลขบุคคลผิดประเภท หรือได้รับการบันทึกทางทะเบียนผิดพลาด

ข้อเท็จจริงประวัตินางบุษบา

นางบุษบา อาหมื่น เกิด 1 มกราคม 2520 เกิดที่บ้านแสนสวย หมู่ 11 ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย

นายอาชาซึ่งเป็นบิดาของนางบุษบาเกิดเมื่อ พ.ศ.2497 ส่วนนางวาสนา ซึ่งเป็นมารดาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 บิดาและมารดาอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย บุคคลทั้งสองมีบุตร 2 คน กล่าวคือ (1) นางบุษบา ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.2520 และ (2) นางสาวดอกไม้ ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ. 2525 บุคคลทั้งสี่เกิด ณ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย

บิดาและมารดาของนางบุษบาได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 และต่อมาได้รับการลงสัญชาติไทยที่อำเภอแม่ลาน้อย ทั้งบิดามารดาและน้องสาว(น.ส.ดอกไม้) ได้เลขบุคคลประเภทที่ "8"

แต่นางบุษบาในขณะขอลงรายการสัญชาติไทยของบิดามารดา ไม่อยู่ในพื้นที่ (ย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่น) จึงไม่ได้รับการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านเช่นเดียวกับน้องสาวและบิดามารดา เมื่อปี 2544

วิเคราะห์การให้เลขบุคคลผิดประเภท

นางบุษบา ได้รับการบันทึกรายการบุคคลเป็น "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" บุคคลเลข "0" เมื่อปี 2550 จึงอาจถือว่า "เป็นการลงเลขบุคคลผิดประเภทหรือได้รับการบันทึกทางทะเบียนผิดพลาดไป" เพราะ ในขณะสำรวจบุคคลประเภทที่ 6 ตัวนางบุษบาไม่อยู่ในหมู่บ้าน และไปมีครอบครัวที่อื่นแล้ว นางบุษบาจึงไม่สามารถลงรายการบุคคลประเภท 6 ได้ ซึ่งกรณีมีการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนผิดพลาดนี้ สำนักทะเบียนกลางเคยมีหนังสือสั่งการแจ้งแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขไว้บ้างแล้ว [2]

การที่นางบุษบาจะได้เลขบุคคลประเภทที่ 6 นั้นณวันสำรวจบุคคลบนพื้นที่สูง นางบุษบาต้องอยู่ในพื้นที่ที่เดียวกับบิดามารดาด้วย หรือ ต้องได้รับการสำรวจในฐานะครอบครัวใหม่แยกต่างหาก (เมื่อปี 2544 นางบุษบาอายุ 24 ปี มีสามีคือนายบรรจง) แต่ปรากฏว่า นางบุษบา ไม่ได้รับการสำรวจเป็นบุคคลประเภทที่ 6 แต่อย่างใด

เมื่อมีการลงรายการประเภทบุคคลนางบุษบาเป็นบุคคลประเภท "0" แล้ว ก็ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามว่า นางบุษบาจะไม่สามารถลงรายการบุคคลเป็นบุคคลประเภทที่ 6 ได้

ประกอบกับมาตรา 10 [3] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 บัญญัติให้ การทะเบียนราษฎรต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง

หากมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง นายทะเบียนมีอำนาจดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องได้

การพิจารณาสัญชาติไทยของนางบุษบา

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า บิดามารดา และน้องสาวของนางบุษบา (น.ส.ดอกไม้) ได้รับสัญชาติไทย เป็นบุคคลประเภทที่ 8 แล้ว และผลการตรวจ ดีเอ็นเอ กับบิดามารดาก็พบว่านางบุษบา "เป็นบุตรจริง"

ฉะนั้น ในกรณีของนางบุษบา การพิจารณาการได้สัญชาติไทยของนางบุษบา ตามสมมติฐาน 2 กรณีกล่าวคือ

กรณีที่ 1 หาก บิดามารดานางบุษบาเกิดในประเทศไทย มิใช่ต่างด้าวเข้าเมืองโดยมิชอบ (ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง หรือ เข้ามาอยู่ชั่วคราว) หรือได้รับการผ่อนผันฯ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 หรือ ป.ว. 337 [4] ทำให้บุตร (นางบุษบา) ไม่เสียสัญชาติไทยตาม ป.ว. 337 และเมื่อ พระราชบัญญัติสัญชาติฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ใช้บังคับตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 นางบุษบาก็ยังคงไม่เสียสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ [5] วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เนื่องจากเกิดก่อนกฎหมายใช้บังคับ)

ดังนั้น นางบุษบาจึงมีสัญชาติไทยตามมาตรา 7(2) [6] (เกิดในราชอาณาจักรไทย) ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตาม มาตรา 23 [7] แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

กรณีที่ 2 สำหรับในกรณีที่ปรากฏว่า บิดามารดานางบุษบาเกิดต่างประเทศ (ไม่เกิดในราชอาณาจักรไทย) ตามข้อสมมติข้างต้นก็ใช้ไม่ได้ เพราะบิดามารดาของนางบุษบาย่อมไม่ได้สัญชาติไทย และทำให้นางบุษบาไม่ได้สัญชาติไทยตาม ป.ว. 337 เพราะนางบุษบาเกิดช่วงตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2515 จะไม่ได้สัญชาติไทย ตาม ป.ว. 337 และนางบุษบาเกิดก่อน 26 กุมภาพันธ์ 2535 จึงได้กลับคืนสัญชาติไทย ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 [8] ถือว่านางบุษบาเกิดในประเทศไทย และได้รับผลกระทบจาก ป.ว. 337 จึงเข้าเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตาม มาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

ซึ่งจะส่งผลให้บุตรของนางบุษบา ที่เกิดก่อน 28 กุมภาพันธ์ 2551 เข้าเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตาม มาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 ด้วย

พิจารณาแนวทางการได้สัญชาติไทยของนางบุษบา

ทางที่ 1 นางบุษบายื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553 [9] ในกลุ่มเป้าหมายที่ 1 (กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่เป็นเวลานานแต่ตกสำรวจ เข้ามาในประเทศไทยก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2542 และจัดทำทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 18 มกราคม 2548) แต่นางบุษบาต้องเป็นบุคคลประเภทที่ 6 หรือ 7 หากได้รับอนุมัติสัญชาติไทยจะเป็นบุคคลประเภทที่ 8 และยกเลิกรายการบุคคลประเภท "6" หรือ "7" แต่ปรากฏว่า นางบุษบาเป็น บุคคลเลข "0" จึงไม่สามารถใช้แนวทางนี้ได้

ทางแก้ไขก็คือ หากนางบุษบาต้องยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงจากบุคคลประเภท "0" เป็นบุคคลประเภท "6" และยกเลิกรายการบุคคลประเภท "0" เสียก่อน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ 105 [10] และหากได้รับอนุมัติสัญชาติไทยจะเป็นบุคคลประเภทที่ 8

ทางที่ 2 นางบุษบายื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553 ในกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ นางบุษบา (บุคคลเลข "0") ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ โดยนางบุษบาต้องได้รับการลงชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.13 เป็นบุคคลประเภท 6 เพราะขณะเกิดบิดามารดาเข้าเมืองโดยมิชอบหรือผ่อนผันฯ เนื่องจากเกิดในประเทศไทย ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ฉะนั้น จึงต้องมีการแก้ไขเลขบุคคลจากบุคคลเลข "0" เป็นบุคคลเลข "6" และยกเลิกรายการบุคคลประเภท "0" เสียก่อน ตามแนวทางที่ 1 และหากได้รับอนุมัติสัญชาติไทยจะเป็นบุคคลประเภทที่ 8

ทางที่ 3 นางบุษบายื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 [11] แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปตามเงื่อนไข ตามแนวทางการวิเคราะห์ข้างต้น ในกรณีบิดามารดานางบุษบาเกิดต่างประเทศ (ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย)

เนื่องจากนางบุษบาเกิดในประเทศไทยและเกิดในช่วงบังคับใช้ตาม ป.ว. 337 โดยมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันฯ จึงทำให้นางบุษบาไม่ได้สัญชาติไทยตาม ป.ว. 337 ข้อ 2 [12]

ในกรณีนี้ นางบุษบาเป็นบุคคลเลข "0" สามารถขอลงสัญชาติไทยตามมาตรา 23 ได้ จึงไม่ถือว่านางบุษบา ได้ลงเลขประเภทบุคคล "ผิดพลาด" ตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น

ทางที่ 4 นางบุษบายื่นคำร้องขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลาหรือขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของ บุคคลที่มีสัญชาติไทย *** (26 กุมภาพันธ์ 2535) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ 57 หรือ ข้อ 97 หรือข้อ 103 *** [13] เพราะ เป็นบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 (แต่ในขณะเกิดบิดามารดายังไม่ได้สัญชาติไทย และบิดามารดามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ท.ร.13 เป็นบุคคลประเภทที่ 6)

ทางที่เป็นไปได้ ก็คือนางบุษบาจะได้รับการเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย บุคคลประเภทที่ 5 เนื่องจากมีอายุเกินกว่า 7 ปีไม่จำเป็นต้องออก ท.ร. 2 หากได้รับอนุมัติจะเป็นบุคคลประเภทที่ 2 หรือ ประเภทที่ 5 โดยการยกเลิกรายการบุคคลประเภท "0"

*** เนื่องจาก บิดามารดาของนางบุษบาเกิดในประเทศไทย และไม่ปรากฏข้อมูลว่าปู่ย่าตายายของนางบุษบา เกิดในประเทศไทยหรือไม่? จึงถือว่า บิดามารดาของนางบุษบาได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามพระราชบัญญัติสัญชาติฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 (26 กุมภาพันธ์ 2535)

ด้วยเหตุผลในแนวทางที่ 4 คือ

(1) มิใช่การลงรายการสัญชาติไทย ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติฯ แต่เป็นการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรฯ ของบุคคลสัญชาติไทย ที่มีบิดามารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย เนื่องจากบิดามารดานางบุษบาได้สัญชาติไทยเป็นบุคคลประเภทที่ 8 แล้ว และมิใช่การได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ

(2) ในกรณีที่บิดามารดาเป็นต่างด้าวที่เกิดในไทย นางบุษบาเกิด 1 มกราคม 2520 อยู่ในช่วงที่ไม่เสียสัญชาติไทยตาม ป.ว. 337 และไม่เสียสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 (เกิดก่อนกฎหมายใช้บังคับ) จึงได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7(2) (เกิดในราชอาณาจักรไทย) ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตาม มาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

(3) ใช้ผลการตรวจ ดีเอ็นเอ ที่ระบุว่านางบุษบาเป็นบุตรของบิดามารดา

แนวทางที่ 2 กับแนวทางที่ 4 เป็นแนวทางที่เป็นไปได้

แต่ตามแนวทางวินิจฉัยของกรมการปกครอง คือแนวทาง 3


อ้างอิงเพิ่มเติม

(1) รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร "...แต่ผลร้ายของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2515 ที่ทำให้เกิด "คนไร้สัญชาติ (Nationalityless Person)" และ คนไร้รัฐ (Stateless Person)" เป็นสิ่งที่ขัดอย่างชัดเจน ต่อ "หลักสิทธิมนุษยชน" ซึ่งได้รับการยอมรับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 4 เนื่องด้วย ความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของบุคคล ย่อมทำให้บุคคลประสบอุปสรรคที่จะใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในการเข้าสู่ปัจจัย 4 แห่งความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่อาจบังเกิดแก่คนไร้รัฐเลย หรือแทบจะไม่อาจบังเกิดแก่คนไร้สัญชาติ ..."

อ้างจาก"รายงานพิเศษ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ที่ส่งผลต่อคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ", 18 มกราคม 2548, http://www.prachatai.com/journal/2005/01/2301

(2) พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 23 บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2535 ข้อ 1 และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 2 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้ สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ถ้าบุคคลนั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียน ราษฎรและเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แกสังคมหรือประเทศไทยให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระ ราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวัน ที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้น กำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียน ราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียน ราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมรภูมิลำเนาในปัจจุบัน

พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเหมือนกุญแจดอกสำคัญที่มาปลดแอกจากความไร้สัญชาติของผู้ที่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 , ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียว กัน รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้ สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และ เด็กหญิงสือบูลา เซกองอากู่ คือหนึ่งในผู้ที่ได้สัญชาติไทยตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ หลังจากที่ต้องอยู่อย่างไร้สัญชาติและตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายมา 13 ปีเต็ม

ข้อเท็จจริงของเด็กหญิงคนนี้คือเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นลูกของคนที่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (ป.ว. 337) ซึ่งทำให้เธอไม่ได้สัญชาติตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.สัญชาติ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2508 กล่าวคือ "ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมีได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดา ของผู้นั้นเป็น (1) ผู้ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง"

นอกจาก นั้นเธอยังตกเป็นนักโทษอาญาแผ่นดิน ในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับดังกล่าวที่บัญญัติว่า "ให้ถือว่าผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้า เมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนี้"

"..การไม่มีสัญชาติไทยของสือบูลา มันยังส่งผลต่อมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ที่เข้าไปครอบตัวเด็กอีกก็คือทำให้เด็กมีสถานะเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองตลอด ชั่วกัลปาวสานเลย ไม่ว่ารุ่นลูกจะเกิดมากี่ชั้นๆ จะเกิดในประเทศไทย เขาจะผสมกลมกลืนกับประเทศไทยมากขนาดไหน หรือรักประเทศไทยมากกว่าคนไทยจริงๆ เขาก็ไม่มีสิทธิได้สัญชาติ เพราะโดนมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 นี้ล็อกเอาไว้เมื่อคุณเกิดมาคุณก็ผิดกฎหมาย.." บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของคุณชุติ งามอุรุเลิศ นักกฎหมายประจำสำนักกฎหมายธรรมสติ ในสารคดี 7 ทวิ วรรค3 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ กฎหมายหรือผู้ทำร้ายทำงายเด็ก มูลนิธิกระจกเงา

หลังจาก ที่มีการผลักดันจากทุกฝ่ายให้มีการแก้กฎหมายมาตราดังกล่าวมาร่วม 5 ปีเต็ม ในที่สุดพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 23 ข้างต้นก็ถึงกำหนดคลอดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเท่ากับว่าสือบูลา รวมถึงพ่อแม่ของเธอได้รับสัญชาติไทยตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551

รศ.ดร.พันธุ์ ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร กล่าวว่า ในพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 ได้มีการแก้เรื่องคนที่ถูกถอนสัญชาติโดย ป.ว. 337 เมื่อปี 2515 ซึ่งพยายามที่จะช่วยเหลือบุคคลที่เคยถูกถอนสัญชาติโดย ป.ว. 337 ให้กลับคืนสัญชาติไทยดังเดิม ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ไม่ยากโดยย้อนดูข้อเท็จจริงว่าเขาเกิดในประเทศไทยและ เสียสัญชาติไทยโดย ป.ว. 337 หรือไม่

"กรณี เด็กที่เกิดในประเทศไทยแล้วถูกหาว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่เราเรียกว่า 7 ทวิ วรรค 3 พอเราอธิบายว่าร่างกฎหมายแบบเดิมมันขัดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐสภาก็ผ่านกฎหมายนี้ง่ายๆ คนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ใช่คนเข้าเมือง คนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายคือพ่อแม่ ก็ต้องไปจับพ่อแม่ มาจับลูกได้อย่างไร ถ้าบอกว่าแค่เกิดในไทยแล้วผิดกฎหมาย คนทั้งประเทศไทยก็ผิดกฎหมายทุกคนเพราะฉะนั้นก็ไม่ยากที่จะแก้กฎหมายนี้ ซึ่งสือบูลาก็ได้สัญชาติไทยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุภาพันธ์ 2551" นักวิชาการคนเดิมกล่าว

ปทุมวดี นาคพล, "พระราชบัญญัติฉบับให้ (คืน) ความเป็นไทย", สำนักกฎหมายเพื่อการพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิกระจกเงา, http://www.tobethai.org/autopage2/print.php?h=22&s_id=3&d_id=4&page=1


"พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555"

ลิงค์ดาวน์โหลด พรบ.แก้ไขถึงฉบับที่ 5 (Multiversional, both Word & PDF files)

https://www.mediafire.com/?cpk4kf3k4hgo717

http://www.mediafire.com/download/cpk4kf3k4hgo717/NationalityAct2508toNo5PSK2555.doc

http://www.mediafire.com/download/07jy0l1k3nmp1dg/พระราชบัญญัติสัญชาติ2508ถึงฉ5-2555update9short.doc

http://www.mediafire.com/download/7683g4tq8ztd68f/พระราชบัญญัติสัญชาติ2508ถึงฉ5-2555update9short.pdf

http://www.mediafire.com/download/grcxnb62gi6r0vb/NationalityAct2508toNo5PSK2555-09.pdf

======================================

[1] ศิวนุชสร้อยทอง, "กรณีศึกษา : กรณีครอบครัวนางบุษบา อาหมื่น คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย." 21 เมษายน 2556,

http://www.gotoknow.org/posts/533505

[2] หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0310.5/ว2359 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 เรื่อง แนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเลขประจำตัวประชาชนและการปรับปรุงฐานข้อมูลทะเบียนกลาง, http://www.mediafire.com/download/eh2827o5uf9vs11/แนวปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเลขประจำตัวฯว2359-2542_1087-1.pdf

[3] มาตรา 10 เพื่อความถูกต้องของการทะเบียนราษฎร ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกเจ้าบ้าน หรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้แสดงหลักฐานต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็น และเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยให้มีอำนาจเข้าไปสอบถามผู้อยู่ในบ้านใด ๆ ได้ ตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าบ้านทราบก่อน ทั้งนี้ ให้กระทำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

ในการเข้าไปสอบถามตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่า การดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อดำเนินการจัดทำหลักฐานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียนและดำเนินการแก้ไขข้อความรายการทะเบียนให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี

การดำเนินการตามวรรคสาม รวมตลอดทั้งวิธีการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงและการอุทธรณ์ของผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของนายทะเบียน รวมถึงการพิจารณาคำอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนไว้ก่อนที่จะรับฟังคำชี้แจงหรือการโต้แย้งได้

(มาตรา 10 วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[4] ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ให้มีผลตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2515 เป็นต้นไป

ข้อ 1 "ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดา หรือมารดานั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้อนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองทั้งนี้เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น"

[5] มาตรา 7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

(มาตรา 7 ทวิ เพิ่มโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535)

[6] มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง

(มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535)

[7] มาตรา 23 "บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 1 และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 2 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน"

[8] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 13 หน้า 3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535, http://law.longdo.com/law/600/rev1558 & http://www.thaigeneralkonsulat.de/th/consular/nationality2.pdf

[9] การพิจารณากำหนดสถานะภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548,ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง "การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย" ลงวันที่ 26 กันยายน 2555โดยมีหลักเกณฑ์ให้สัญชาติ 4 กลุ่ม คือ (1) บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่เป็นเวลานานที่มีเชื้อสายไทยและเกิดในประเทศไทย (2) บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่มานานที่มิได้มีเชื้อสายไทย และเกิดในประเทศไทย (3) บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและถูกบุพการีทอดทิ้งหรือไม่ปรากฏบิดาและมารดา (คนไร้รากเหง้า) (4) บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ

[10] "ข้อ 105 คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมาย ว่าด้วยสัญชาติ รวมทั้งบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อ ในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 13) ให้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) เรียกและตรวจสอบหลักฐานทะเบียนประวัติที่ทางราชการสำรวจและจัดทำให้ไว้เป็นหลักฐาน (ถ้ามี)

(2) สอบสวนผู้ร้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผู้ขอเพิ่มชื่อ โดยเฉพาะประเด็นสถานที่เกิด สัญชาติ ช่องทางและวันเดือนปีที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร บิดามารดาและสัญชาติของบิดามารดา

(3) สอบสวนเจ้าบ้านให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติของผู้ขอเพิ่มชื่อและความยินยอม ให้บุคคลดังกล่าวเข้าอยู่อาศัยในบ้าน

(4) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่าผู้ร้องมีชื่อ และรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นหรือไม่

(5) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอเพิ่มชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 หรือไม่

(6) รวบรวมหลักฐานพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอแห่งท้องที่เพื่อพิจารณา

(7) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้นายทะเบียนกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134 (23)

(8) ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 13) และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจาก ว่า "คำร้องที่...ลงวันที่...." แล้วให้นายทะเบียน ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

(9) รายงานตามข้อ 132 (6)

กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าผู้ขอเพิ่มชื่อเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเพิ่มชื่อ ในทะเบียนบ้านตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ฯลฯ หรือกรณีผู้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่นเป็นคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้จัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะ ทางทะเบียนให้แก่บุคคลนั้นตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางที่เกี่ยวด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน"

(ยกเลิกความตามข้อ 105 เดิมให้ใช้ความใหม่แทน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 ข้อ 10)

[11] หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309.1/ว 5527 ลง 30 มีนาคม 2552 เรื่อง การขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551, http://118.174.31.136/STR/data_pdf/mt03091_v5527.pdf & http://www.mediafire.com/view/?awawvncjp8e4vmx

[12] ข้อ 2 "บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น"

[13] ***ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2545

ข้อ 103 "บุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง หรือบิดาและมารดาเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยคำสั่งของรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) ให้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน ..."

หมายเลขบันทึก: 533548เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2015 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องไปตามปลาทอง ศิวนุชมาแลกเปลี่ยนด้วยมังคะ

ในวันที่ ๑๗ พค. เวลาบ่าย จะมีการพูดเรื่องนี้กันค่ะ มาร่วมเสวนาไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท