มีโรงเรียนไปทำไม : 7. AAR (จบ)


นี่คือยุคทองของวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หากมองจากมุมของโอกาสในการทำคุณประโยชน์ หรือกอบกู้บ้านเมือง แต่จะทำหน้าที่นี้ได้ วงการนี้ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ มิฉนั้น วงการนี้จะเป็น part of the problem ไม่เป็น part of the solution

มีโรงเรียนไปทำไม  : 7. AAR

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson  บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ผมตีความว่า Will Richardson ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ต้องการบอกเราว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เรามีทรัพยากรทางการศึกษาอุดมสมบูรณ์  ทั้งสาระความรู้  เครื่องมือเชื่อมต่อเพื่อเรียนรู้  และ “ครู” ที่จะเข้ามาช่วยแนะนำ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สิ่งที่ขาด หรือเป็นอุปสรรค คือระบบการศึกษาที่ถูกต้องกับยุคสมัย

สิ่งที่ต้องเปลี่ยน และเปลี่ยนยากที่สุด คือกระบวนทัศน์ทางการศึกษา  ที่ยังเน้นการเรียนรู้ความรู้ที่มีความชัดเจน โดยรับการถ่ายทอดจาก “ผู้รู้”  การศึกษายุคใหม่ต้องเน้นเรียนโดยการลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาเอง โดยทำเป็นทีม  ค้นหาความรู้จากทุกแหล่งเอามาทดลองใช้ในการทำงานจริง  โดยผู้เรียนตั้งคำถามหรือกำหนดปัญหาที่ท้าทายและคาดว่าจะมีประโยชน์ต่อตนเองในอนาคต  นำมากำหนดเป็นโครงงานสำหรับทำ

การศึกษาต้องเปลี่ยนจากเรียนสิ่งที่ตกผลึกชัดเจนแล้ว  ไปสู่การเรียนความรู้ที่ยังไม่ชัดเจน และมีความซับซ้อนสูง   คือต้องเปลี่ยนสภาพของนักเรียนและครู ที่อยู่ใน comfort zone ของความรู้  ไปอยู่ใน discovery / uncertainty zone  นี่คือสิ่งที่ครูไม่คุ้นเคย   แต่หากพร้อมออกไปเผชิญ จะสนุกและให้คุณค่าต่อชีวิตมาก  เพราะมันอยู่ในวิถีชีวิตคนนั่นเอง

นั่นคือ การศึกษาต้องออกจาก “กรอบ” ทั้งหลาย  ออกไปสู่ชีวิตจริง ทั้งที่อยู่รอบตัว และที่เชื่อมโยงออกไปทั่วโลก   เราต้องช่วยกันผลักดันการศึกษาไทยออกจากกรอบให้ได้  มิฉนั้นบ้านเมืองเราไปไม่รอด  เพราะคุณภาพคนจะต่ำอย่างที่สุด   คนมีเงินจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศหมด   หรือเรียนอยู่ในโรงเรียนราษฎร์คุณภาพสูงไม่กี่แห่ง  ซึ่งจะยิ่งทำให้สังคมของเรามีความเหลื่อมล้ำสูง 

ตัวการสร้างกรอบ คือกระทรวงศึกษาธิการ  ที่จัดการแบบ ใช้อำนาจควบคุมและสั่งการ  ดังนั้น จะทะลายกรอบได้จริงต้องยุบกระทรวงศึกษาธิการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ให้เหลือขนาดสัก ๕ - ๑๐% ของในปัจจุบัน  และทำหน้าที่ทางวิชาการสนับสนุนเขตการศึกษาเท่านั้น   และเขตการศึกษาต้องไปขึ้นอยู่กับพื้นที่

อีกตัวสร้างกรอบ คือ ระบบทดสอบ/ประเมินต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่  และเป็นที่ยอมรับกันว่าทดสอบได้เพียงบางมิติของการเรียนรู้หรือพัฒนาการเท่านั้น 

ต้องมีการยกเครื่องครั้งใหญ่ ทั้งที่ระบบบริหารการศึกษาของชาติ  และระบบจัดการเรียนรู้

มิฉนั้น โรงเรียนจะเป็นตัวถ่วงการเรียนรู้  คือจัดการเรียนรู้ผิดๆ   

หัวใจของการเรียนรู้ อยู่ที่ความเป็นอิสระ (คู่กับความรับผิดชอบ  ควบความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น)  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำงานอยู่ในสภาพบรรยากาศนี้  ไม่ใช่สภาพควบคุมและสั่งการจากเบื้องบนอย่างในปัจจุบัน   

นั่นคือ ครูต้องเป็นอิสระ  แต่เป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่โค้ช ร่วมเรียนรู้ในโลกกว้างไปกับนักเรียนอย่างจริงจัง  ครูที่ไม่ตั้งใจทำงาน ทำตนเป็นกาฝากการศึกษาต้องออกไปทำอย่างอื่น  อย่าเก็บไว้บ่อนทำลายคุณภาพเด็ก

นอกจากเป็นอิสระ ครูต้องกล้าออกมาจาก comfort zone  ออกมาอยู่ใน discovery & dynamic zone ร่วมกับนักเรียน  ครูทุกคนได้รับช่วงเวลาพัฒนาตนเอง ๕ ปี  ระหว่างนี้มี self-assessment tool ให้ตรวจสอบขีดความสามารถของตนเอง  และให้โอกาส/เครื่องมือ พัฒนาตนเอง  ภายใน ๕ ปี ถ้าไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ ต้องออก  ถ้าผ่าน มีค่าตอบแทนเพิ่ม

เพื่อให้ครูทำหน้าที่นี้ได้  เราต้องสร้าง “ครูพันธุ์ใหม่” ที่เป็น “ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑”  ไม่ใช่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๐ หรือ ๑๙  ที่ล้าหลังไป ๑๐๐ - ๒๐๐ ปี 

ต้องเปลี่ยนทั้ง วิธีสร้างครูใหม่ คือหลักสูตรศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์  และเปลี่ยนทั้งวิธีพัฒนาครูประจำการที่มีอยู่แล้ว

ผมขอวิพากษ์ว่า เวลานี้ กระบวนการพัฒนาครูประจำการที่ทำกันอยู่ส่วนหนึ่ง (เดาว่าเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมอาจจะผิด)  เป็นกระบวนการคอรัปชั่นเงินภาษีอากรที่พวกเราจ่าย  หวังเอาไปเข้ากระเป๋าคนบางคน  โดยอ้างว่าเป็นโครงการพัฒนาครูประจำการ  เป็นกระบวนการที่น่ารังเกียจ

คอรัปชั่นได้เข้ามากัดกร่อน กัดกิน ระบบการศึกษาไทยอย่างน่าตกใจ และน่าอับอาย  ผมพบด้วยตังเองว่า คนที่อ้างตัวว่าอยู่ใกล้ผู้มีอำนาจคือตัวการอย่างน้อยก็คนหนึ่ง 

กลับมาที่ความคิดเชิงบวก  สภาพที่เลวร้ายในวงการศึกษาไทยเช่นนี้คือโอกาส

เป็นโอกาสของวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่จะปฏิรูปตนเอง  สร้างวีรกรรมให้แก่บ้านเมือง  โดยเริ่มที่การปฏิรูปตนเอง  เป็นวิธีการเรียนรู้ของครู ทั้งครูใหม่ และครูที่มีอยู่แล้ว  ให้ครูเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้จากการปฏิบัติงานหลัก/งานประจำ ของตนเอง  ตามที่เขียนไว้ในบันทึกชุดนี้

นี่คือยุคทองของวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์  หากมองจากมุมของโอกาสในการทำคุณประโยชน์ หรือกอบกู้บ้านเมือง  แต่จะทำหน้าที่นี้ได้ วงการนี้ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์   มิฉนั้น วงการนี้จะเป็น part of the problem  ไม่เป็น part of the solution

ผมฝันเฟื่องไปไกล  ไม่ทราบว่าเป็นฝันลมๆ แล้งๆ หรือเป็นฝันที่ควรช่วยกันทำให้เป็นจริง  คนไทยทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันคิดและทำ  ปล่อยไว้ไม่ได้  

ขอหมายเหตุว่า ในบันทึกชุดนี้ ผมใส่ความเห็นของตัวเอง ที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ เข้าไปมากเป็นพิเศษ  เพราะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว  เกิดความรู้สึกเป็นกังวลต่อการศึกษาไทยจริงๆ 

คำตอบของผม ต่อหัวข้อของบันทึกชุดนี้คือ  เรามีโรงเรียนไว้เปลี่ยนแปลงสังคม  หากโรงเรียนทำหน้าที่นี้ไม่ได้ ก็ควรยกเลิกเสีย  แล้วสร้างระบบ/สถาบัน แบบใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ให้แก่สังคม   

วิจารณ์ พานิช

๑๓ เม.ย. ๕๖  ปรับปรุงแก้ไข ๒๐ เม.ย. ๕๖




หมายเลขบันทึก: 533455เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 05:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2013 05:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จำได้ว่า  ข้อสอบต่างๆ ล้วนมีpattern ตามๆ กันมา

ข้อสอบอัตนัย คะแนนเป็นสิทธิ์ของครูผู้ตรวจ

คะแนนทุกอย่างมาจากตำราและความรู้ของครู

นักเรียนอย่าตอบอะไรที่นอกตำราและที่ครูไม่รู้  เดี๋ยวสอบตก

เห็นด้วยครับ  ระบบทุกวันนี้ยังไม่ดีพอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท