สุญญตา คืออะไร ?


ถ้าจะแปล สุญญตา ก็แปลคำนี้ได้ว่าคือ “ความว่าง” “ความไม่มีอะไร” แต่ถ้าจะเอาความหมาย เมื่อค้นไปค้นมา แต่ละคนแต่ละแหล่งก็ว่ากันไปคนละแบบ และแต่ละคนก็อาจจะฟังแล้วเข้าใจไปคนละแบบ


สำหรับชาวพุทธที่แท้ ชาวพุทธที่ฉลาด ควรไปดูว่าพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร ตามที่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎก แล้วก็มาเทียบกับการทำ กัมมัฏฐาน แล้วก็ค่อยยอมรับความหมายที่ถูกต้องทีหลัง คือใช้ประสบการณ์เป็นตัวพิสูจน์


นอกเรื่องนิดหนึ่งว่า คำว่า สุญญตา หรือ ศูนยตา นี้ในภาษาอังกฤษมีสะกดหลายแบบ เช่น sunyata sunjata shunyata แบบที่สะกดเน้นบาลีเช่น suññatā ที่สะกดเป็นแบบสันสกฤตก็มีคือ  Śūnyatā 

อันที่จริง ภาษาอังกฤษสองคำนี้ บทความในวิกิพีเดียก็มี (แต่อ่านแล้วก็ต้องฟังหูไว้หู อย่าเพิ่งไปเชื่อมากนัก เพราะว่าเนื้อความในวิกิพีเดียมันก็เป็น อนิจจัง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเมื่อใครๆ ก็เข้าไปแก้ไขได้ แม้ว่าส่วนมากจะเชื่อถือได้ แต่ก็มีที่ผิด)


ฝรั่งแปลสุญญตา ใช้คำว่า nothingness แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า ในบางบริบทที่บางคนเข้าใจ(ผิด)จะมีความหมายที่ไม่ตรงกันกับทางพุทธหรือไม่ ผมไม่ค่อยเชื่อการตีความเรื่องสุญญตาในมุมมองของนักปรัชญาฝรั่ง อาจจะกลายเป็นความหมายของคำ นิรัตตา และ อุจเฉทะ ไป แม้แต่ชาวพุทธมหายานบางคนเมื่อพูดถึงสุญญตาก็ไพล่ไปพูดถึงเลข ๐ ซึ่งผมเห็นว่า คำอธิบายมันไม่ตรง


เคยอ่านเจอว่า คำสอนเรื่องความว่างนี้ ในทาง มหายานก็อย่างหนึ่ง ทางเซ็นก็อย่างหนึ่ง ไม่ตรงกันนัก แม้จะถือว่าเซ็นไปมหายาน แต่ผมยังไม่มีโอกาสเช็คว่าเขาตีความตรงกันหรือไม่


ทางมหายานพูดถึงสุญญตามาก เริ่มทีเดียวก็ คำสอนของพระนาคารชุนะ ซึ่งฝรั่งไปยกย่องประหนึ่งว่าท่านเป็นนักปรัชญาชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่โดยละเลยความสำคัญของพระพุทธเจ้า (จริงๆ แล้วเป็นไปได้ว่า ทางมหายานไม่ตระหนักว่าทางเถรวาทมีคัมภีร์ว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้คำนี้มาก่อนพระนาคารชุนะแล้ว หรือไม่ก็ฝรั่งส่วนมากไม่รู้เรื่องนี้) แต่แท้จริงมองข้ามความเป็นจริงว่า ท่านไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักปรัชญาที่ใช้ตรรกะ ท่านเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ท่านปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านน่าจะรจนาคัมภีร์อาศัยจากประสบการณ์การปฏิบัติ  ท่านอาจจะเป็นพระอริยบุคคลระดับใดระดับหนึ่ง อาจจะเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณก็ได้ หรือไม่ก็มุ่งพุทธภูมิเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ที่ผมกังวลก็คือการตีความความเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าตามคำสอนของพระนาคารชุนะในสายตาของปุถุชนฝรั่งที่ยังกิเลสหนาอยู่ เราคนไทยไม่ควรจะไปหลงผิดตามการตีความของฝรั่งว่าพระนาคารชุนะว่าอย่างนั้นอย่างนี้


วันนี้จะว่าด้วย สุญญตา ในแง่ทางเถรวาท พระไตรปิฎกมีกล่าวถึงใน พระสูตร ๒ สูตร ได้แก่ จูฬสุญญตสูตร (จูฬ ก็คือ จุล เป็นคำเดียวกัน) กับ มหาสุญญตสูตร (จะมีที่พระสูตรอื่นอีกไหม ? ยังหาไม่เจอ ผมเองก็ยังรู้น้อย อ่านพระไตรปิฎกยังไม่จบ) 


จากการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ถ้าคนไหนเข้าฌานได้ ก็จะพบว่า ประสบการณ์จากการเข้าสมาธินั้น ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรทั้งสอง การปฏิบัติให้ผลสอดคล้องกับทางปริยัติ นี่ว่าจากประสบการณ์ของตัวเองยืนยันได้ 


พระพุทธองค์ตรัสไว้ในจูฬสุญญตสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๓๓๓ ) ตอนหนึ่งว่า “ดูกร อานนท์ ทั้งเมื่อก่อน และบัดนี้ เราอยู่มากด้วยสุญญตวิหารธรรม”


แปลว่า ตรัสเล่าว่า ในใจของพระพุทธองค์นั้น ทรงไว้ซึ่ง “ความว่าง” อยู่ในพระทัยเป็นส่วนมาก 

คำว่า “วิหารธรรม” นี้ก็หมายถึงว่า สิ่งที่จิตใช้เป็นบ้าน ใช้เป็นที่อยู่ของจิต คือ ก็คือ อารมณ์ที่จิตไปรับรู้ (sensed object) แต่ในที่นี้ความว่างเป็นนามธรรมที่ละเอียด


ทรงอธิบายไว้ กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อเราเพ่งความสนใจอะไรเป็นหลัก จนมีสมาธิมากขึ้น สิ่งอื่นๆ ก็ไม่อยู่ในควมสนใจของเรา ถึงมีอยู่แต่ใจมันไม่สนใจ ไม่ไปใส่ใจ มีอยู่ก็เหมือนไม่มี เช่น ถ้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าคนเดียวในที่สงัด ไม่มีคนอื่นอยู่รอบๆ เราก็ไม่ไปนึกถึงคนอื่นๆ ถึงคนอื่นยังมีอยู่แต่ก็เหมือนไม่มี ไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีสมาธิมากขึ้น สนใจแต่ดิน (เช่น อาจจะพิจารณา ปฐวีกสิณ) ถึงแม้มีต้นไม้อยู่เต็มป่า แต่ใจมุ่งโฟกัสอยู่ที่แผ่นดิน ต้นไม้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี 

จนเมื่อเข้าฌานไปเรื่อยๆ แต่ละขั้นๆ ก็ตัดอารมณ์รับรู้ไปเรื่อยๆ สิ่งต่างๆ ก็ค่อยๆ หายไปจากความสนใจไปตามลำดับความลึกของฌาน จนแม้แต่ในฌานที่ ๘ ซึ่งเป็นอรูปฌานที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ แม้สัญญาจะหริบหรี่แต่ก็ยังมีอยู่เล็กน้อย อย่างอื่นก็สูญไปจากการรับรู้หมด แต่ก็ยังเหลือการรับรู้ในฌานนั้น 


พอถึง เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต (น่าจะทรงหมายถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ ที่พระอนาคามีและพระอรหันต์ผู้ทรงฌาน ๘ ได้เข้าได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ อาจจะทรงหมายถึง ผลสมาบัติ ของพระอริยบุคคลเบื้องตำ่ ๓ ก็ได้) การรับรู้อย่างอื่นดับไปหมด ว่างไปหมด เห็นที่ไม่ว่างก็แต่การเกิดดับของอายตนะ ๖ เท่านั้น เห็นการปรุงแต่ง ว่าสิ่งใดปรุงแต่งได้ก็ยังไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา จนเกิดการปล่อยวาง บรรลุเป็นพระอรหันต์ การรู้หรือญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวายที่อาศัยกามาสวะ (อาสวะ ที่อาศัยอายตนะ ๕) ว่างจาก กามาสวะ ว่างจาก ภวาสวะ (อาสวะใน “ความมีความเป็น”) ว่างจาก อวิชชาสวะ (อาสวะใน อวิชชา หรือ ความไม่รู้ชัด)  นั่นจึงเป็นสุญญตสมาบัติอันเยี่ยมยอดที่แท้จริง


แม้ผู้ยังไม่สามารถเข้าถึงฌานระดับอรูปฌานได้ แต่เพียงในระดับรูปฌาน ก็สามารถรู้สึกได้ถึงความว่างนั้นๆ ก็เป็นพยานได้ว่า สุญญตานั้นเป็นภาวะที่ประสบได้ และมีเป็นขั้นๆ ตามที่พระพุทธองค์สอนไว้ในพระสูตรทั้งสองที่ทางเถรวาทรับถ่ายทอดมาจริง  


เมื่อเข้าฌานในระดับลึก ความว่างที่รู้สึกได้ ประสบได้ ทำให้จิตได้พักผ่อน นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมพระไตรปิฎกจึงบอกว่าพระพุทธองค์มีพุทธกิจทั้งวันจากเช้ามืดถึงดึกดื่น และทรงใช้เวลาเอนพระวรกายด้วยสีหไสยาส์ไม่นานนัก  เพราะจิตของพระองค์พักผ่อนอยู่เรื่อยๆ กับสุญญตสมาบัติเมื่อทรงมีโอกาสนั่นเอง


ผมเป็นเพียงนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง ถ้าเขียนอะไรผิดพลาดไป หากมีผู้รู้จะช่วยชี้แนะก็ยินดีรับฟัง ผมก็จะได้ศึกษาเพิ่มเติมและแก้ไขบล๊อกนี้ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต สำหรับท่านอื่นได้ศึกษาและพิจารณาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 533326เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2013 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2013 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท