หลวงพ่อไม้ พุทธานุสสติบนความเรียบง่ายแห่งประติมากรรม




พระพุทธรูปไม้แกะสลักด้วยไม้ประดู่ จากช่างนิรนามพื้นบ้านอีสาน อายุร่วมร้อยปี ขนาดใหญ่กว่าคนจริงเล็กน้อย เคยเป็นองค์ประธานในโบสถ์เก่าที่ถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่ ปัจจุบันยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ที่วัดอัมพวัน บ้านห้วย จ.ชัยภูมิ


หลวงพ่อไม้  พุทธานุสสติบนความเรียบง่ายแห่งประติมากรรม

ในที่นี่จะนิยาม “รุ่นเก่า” ของสภาพชนบทอีสาน อยู่ในช่วงเวลาก่อนกึ่งพุทธกาลเล็กน้อย โดยใช้รูปธรรมการอธิบายจากวรรณกรรม“ลูกอีสาน” ของคำพูน บุญทวี กวีซีไรท์ปี 2522  เพื่อย้อนเวลาให้เห็นบรรยากาศสังคมชนบทอีสานยุคที่ยังห่างไกล ทุรกันดาร ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความแห้งแล้ง ความไม่แน่นอนของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ด้วยความเป็นอยู่เรียบง่าย พอเพียง เชื่อมั่นในการทำความดี แสดงออกอย่างใสซื่อซ่อนอารมณ์ขำอยู่ลึกๆ 

วันนี้คือ “รุ่นใหม่” หมายถึง วิถีชีวิตชนบทอีสานที่เปลี่ยนไป เจือด้วยวัฒนธรรมใหม่ที่นำเข้าโดยคนรุ่นลูกหลาน สภาพที่เปลี่ยนแปลงเหมือนดูหนังคนละม้วน จนเห็นรอยต่อระหว่าง “ความเก่า” กับ “ความใหม่” แต่ก็ยังแฝงด้วยรากเหง้าวัฒนธรรมอีสาน

โอกาสที่ได้เยี่ยมเยือนเพื่อนฝูงหลายพื้นที่ช่วงสงกรานต์ ได้เห็นหลายหมู่บ้านกำลังรื้อโบสถ์เก่า (บางพื้นที่เรียกโบสถ์ว่า "สิม") รื้อศาลาการเปรียญหลังเก่า รื้อกุฏิ  แล้วหาเงินผ้าป่า กฐินจากคนรุ่นใหม่มาสร้างแทนที่  ให้ใหญ่โตสมกับเป็นหมู่บ้านที่พัฒนาแล้ว 

  แต่ความรู้สึกห่วงของผมเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ

ในสิ่งก่อสร้างเก่าที่ถูกรื้อนั้น เป็นผลผลิตแห่งศรัทธา ที่คนรุ่นก่อนเคยทุ่มเทแรงใจแรงกายให้กับวัดวาอารามในครั้งกระโน้น โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี หรือความช่วยเหลือจากสังคมภายนอกซึ่งอยู่ไกลเกินเอื้อม ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยจิตอาสา ด้วยแรงศรัทธาต่อพระศาสนา กับสองมือที่หยาบกร้านและความละมุนของจิตใจ แม้ชิ้นงานที่เก่าผุพังนั้นจะดูแข็งทื่อ ขาดความประณีตบรรจง แต่ก็แฝงด้วยความเพียรพยายามด้วยกำลังที่มีอยู่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนวัดวาอารามจะได้รับการใส่ใจทะนุบำรุง จนเกิดวัตถุสิ่งของในวัดมากมาย ด้วยใจที่มุ่งสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปเก่า ธรรมาสน์เก่า ภาพเขียนฝาผนังเก่า ลายปูนปั้นเก่า ลายแกะสลักเก่า ที่สั่งสมสืบทอดไว้ด้วยความคิด ความเชื่อ ภูมิปัญญาพื้นบ้านแบบรุ่นต่อรุ่น สิ่งเหล่านี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้เพียงใด? หรือว่ามันสูญหายไปกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียแล้ว

พระพุทธรูปไม้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พบในโบสถ์เก่า หรือสิมเก่าที่ถูกรื้อ เท่าที่ผมได้ศึกษาดู หลายหมู่บ้านมีคตินิยมในการสร้างพระพุทธรูปไม้เล็กๆ ถวายวัดในโอกาสที่ได้บวชลูกชาย ด้วยความศรัทธาในการสืบทอดพระศาสนา เป็นมงคลชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการพบพระพุทธรูปไม้จำนวนมากเวลารื้อโบสถ์เก่า หรือสิมเก่าในวัดชนบทอีสาน ลักษณะส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก มีรูปลักษณ์ง่ายๆ ไม่เน้นรายละเอียดที่ประณีตบรรจง จากการใช้เครื่องมือง่ายๆ บางองค์ก็สร้างผิดสัดส่วน  ด้วยผู้แกะสลักไม่ใช่มืออาชีพ ไม่มีความรู้ทางพุทธศิลป์ แต่มีใจศรัทธาเปี่ยมล้น เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็ก ยังมีโอกาสได้สรงน้ำพระพุทธรูปไม้เล็กๆ นี้มากมายในวัดช่วงสงกรานต์  แม้จะเป็นการสรงน้ำพระตามประเพณีที่ผู้ใหญ่พาทำ เพียงท่านสมภารบอกว่า เวลาสรงน้ำ หรือเวลากราบไหว้ ให้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ผมก็ทำอย่างเต็มใจ เกิดความสุขใจ สบายใจ  

คราวนี้ผมพบพระประธานโบสถ์เก่าในหมู่บ้านที่อนุรักษ์ไว้ เป็นพระพุทธรูปไม้รูปลักษณ์การแกะสลักเหมือนภาพวาดของเด็กอนุบาล แต่ถ้าจ้องดูดีๆ ก็รู้สึกถึงความขรึมขลังอย่างประหลาด องค์พระไม้นี้มีขนาดใหญ่กว่าตัวคนจริงเล็กน้อย ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า หลวงพ่อไม้ประดู่งาม เนื่องจากทำจากแก่นไม้ประดู่ยากที่ปลวกจะทำลายได้ ผู้แกะสลัก เข้าใจว่าเป็นอดีตท่านสมภารเมื่อแรกก่อตั้งวัด เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานโบสถ์หลังเก่าอายุร่วมร้อยปี ภายหลังที่รื้อโบสถ์เก่าออกจึงได้อัญเชิญมาอนุรักษ์ไว้ข้างกุฏิหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ในหมู่บ้านห้วย จ.ชัยภูมิ ดูแล้วนึกถึงภาพที่เคยประดิษฐานไว้ในโบสถ์หลังเล็กๆ ที่มีหน้าต่างน้อยๆ แสงสลัวในตอนกลางวันหรือมืดสนิทในตอนกลางคืน คงวังเวงน่ากลัวพิลึก เช่นนี้นี่เอง ผมจึงได้ยินชาวบ้านข้างวัดหรือพระเณรที่บวชใหม่มีเรื่องเล่าอยู่เสมอว่า ในโบสถ์เก่าหรือสิมเก่านั้นมีผีดุ คงเป็นเพราะว่ามีบรรยากาศที่ชวนจินตนาการนี่เอง

 อย่างไรก็ตาม จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ องค์พระประธานพระพุทธรูปไม้ที่เหลืออยู่ กับพระพุทธรูปทองเหลืองสุกปลั่งองค์ใหม่ที่มาประดิษฐานแทนในพระอุโบสถหลังใหม่ที่สวยงามนี้ จะต้องเกิดการเปรียบเทียบในรูปลักษณ์ คุณค่าของไม้กับทองเหลือง ของคนรุ่นใหม่ว่า ประติมากรรมใดที่มีคุณค่าควรแก่การเคารพบูชา ความรู้สึกส่วนตัวผมอยากให้ทุกคนคิดว่าการกราบไหว้บูชานั้นหากยังติดยึดในรูปลักษณ์ หรือยังเป็นไปด้วยจิตที่คิดจะขออำนาจพุทธคุณดลบันดาลโชคลาภให้แก่ตนแล้ว ก็น่าจะได้ประโยชน์น้อยกว่าการกราบไหว้ด้วยจิตพุทธานุสสติ หรือกราบไหว้ด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชี้ทางสว่างให้แก่การดำเนินชีวิตที่สงบสุข งดงาม ด้วยหลักแห่งความเป็นจริง ที่เรียกว่า หลักอริยสัจจ์  4

ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยสอนว่า บทสรุปหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมดเป็นไปตามภาษาบาลีที่ว่า “สพฺเพ  ธมฺมา นาลํ อภินิเวสายะ” (ธรรมหรือสิ่งทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น)

 “ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นเห็นตถาคต (ปรากฏในพระไตรปิฏก)

คิดอย่างนี้แล้ว เบาสบาย  เวลาผมกราบหลวงพ่อไม้แล้วก็รู้สึกสุขใจ เหมือนตอนที่เป็นเด็ก 


หมายเลขบันทึก: 533213เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2013 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2013 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนไปมหาสารคามผมได้พบพระไม้ด้วย

แต่ชอบอันนี้มาก

http://www.gotoknow.org/posts/80393

หายากแน่ๆเลย

โอ้โห  อาจารย์เป็นนักท่องยุทธจักรจริงๆ ของพื้นบ้านเหล่านี้ต้องใจรักและสนใจจริงๆ จึงจะพบเห็น ผมคนอีสานแท้ๆ ยังเห็นมาน้อยมาก ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ช่วยเติมเต็มให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท