Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

CISG : อนุสัญญาสหประชาชาติที่ไม่ผูกพันประเทศไทย แต่ศาลไทยอาจปฏิเสธที่จะใช้ไม่ได้ หากมีการกล่าวอ้างกฎหมายขัดกัน


แต่ใน พ.ศ.๒๕๕๖/ค.ศ.๒๐๑๓ นี้ ผลการทบทวนอีกครั้งก็อาจจะชี้ว่า สังคมทางเศรษฐกิจไทยน่าจะพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับสังคมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อันทำให้การยอมรับ CISG อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นแล้วสำหรับประเทศไทย ดังนั้น การให้สัตยาบันต่อ CISG น่าจะเป็นประเด็นที่ควรยกมาพิจารณาอีกครั้งมิใช่หรือ ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖

--------

บทนำ

--------

CISG หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (United Nations Convention on Contracts for International Sales of Goods) เป็นกฎเกณฑ์ที่ยอมรับในตลาดการค้าระหว่างประเทศใน ๗๙ ประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๘๐/พ.ศ.๒๕๒๓ อนุสัญญานี้ได้รับการลงนามที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จึงมักถูกเรียกว่า “อนุสัญญาเวียนนา (the Vienna Convention) อีกด้วย” อนุสัญญานี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law - UNCITRAL) อนุสัญญานี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๑๙๘๘/พ.ศ.๒๕๓๑ โดยสัตยาบันสารของ ๑๑ ประเทศ กล่าวคือ Argentina, China, Egypt, France, Hungary, Italy, Lesotho, Syria, the United States of America, Yugoslavia, and Zambia.

อนุสัญญานี้จัดเป็นสนธิสัญญา (treaty) ที่ก่อตั้งกฎหมายซื้อขายระหว่างประเทศเอกรูป (uniform international sales law) เราพบว่า CISG มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะ ๗๙ ประเทศที่ยอมรับอนุสัญญานี้ หมายถึงประเทศที่มีบทบาทที่สำคัญในการค้าโลก  CISG ยอมรับให้ผู้ส่งออกสินค้าหลีกเลี่ยงปัญหาการขัดกันแห่งกฎหมายอันนำไปสู่การเลือกกฎหมาย โดยการเสนอกฎเกณฑ์สาระบัญญัติที่ยอมรับกันได้เข้ามาเป็นกฎหมายที่มีผลต่อสัญญาซื้อขายแทนที่กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายขัดกัน ซึ่งซับซ้อนและยุ่งยาก โดยกฎหมายสารบัญญัติเอกรูปว่าด้วยสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศภายใต้ CISG การค้าระหว่างประเทศย่อมมีความคล่องตัวมากกว่า จึงเป็นธรรมดาที่ CISG จะได้รับการต้อนรับอย่างมากโดยรัฐที่เปิดตลาดการค้าสู่ประชาคมระหว่างประเทศ แม้กฎหมายขัดกันจะนำไปสู่ความแน่นอนทางกฎหมายได้ระดับหนึ่ง แต่ความซับซ้อนของกลไกการเลือกกฎหมายก็เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการซื้อขายระหว่างประเทศ

----------------------------------------------------------

ประเทศไทยควรจะต้องสนใจ CISG หรือไม่ ? อย่างไร ?

----------------------------------------------------------

ในสถานการณ์ที่ประชาคมอาเซียนกำลังจะเปิดเสรีเต็มรูปใน ค.ศ.๒๐๑๕ การยอมรับ CISG ในระหว่างประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียนก็อาจเป็นการสร้างเสถียรภาพและความคล่องตัวให้แก่การค้าระหว่างประเทศได้เช่นกัน ความรอบรู้ใน CISG จึงสำคัญอย่างต่อนักกฎหมายไทย มีความจำเป็นที่จะศึกษาถึง CISG ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ศึกษาหลักกฎหมายการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศภายใต้ CISG (๒) ศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง CISG และปพพ.ว่าด้วยซื้อขายของไทย และ (๓) ศึกษาความเป็นไปได้ของแนวทางในการพัฒนาและบัญญัติกฎหมายซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศของไทยให้สอดคล้อง CISG และสถานการณ์โลก

------------------------------------

นักธุรกิจไทย  CISG และศาลไทย

------------------------------------

CISG ถูกบังคับใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในศาลไทย แล้วหรือยัง ? จริงอยู่ CISG มีผลใน ๗๙ ประเทศ อันไม่รวมถึงประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมีจุดเชื่อมระหว่าง CISG และ ปพพ.ไทย อยู่แล้ว เราพบว่า เนื้อหาของ CISG ก็ปรากฏตัวเป็น lex mercatoria ที่ใช้กันอยู่แล้วในทางปฏิบัติของผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ และกฎหมายของพ่อค้าที่มีอยู่ใช้อยู่นี้ก็มีที่มาจาก “หลักความศักดิ์สิทธิในการแสดงเจตนาในสัญญา” แม้ในเรื่องของ “การเลือกกฎหมายและการเลือกการระงับข้อพิพาทในสัญญา” ซึ่งเป็นไปได้อยู่แล้วในระบบกฎหมายไทย โดยการยืนยันของมาตรา ๑๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น” โดยการวิจัยเชิงประสบการณ์ในลักษณะนี้ เราอาจจะตระหนักว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของ CISG แต่ก็มีสัญญาจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับ CISG ในสถานะกฎหมายที่มีผลบังคับต่อสัญญา อันทำให้ศาลไทยต้องมีหน้าที่ที่จะใช้ CISG ในการสร้างสรรค์คำพิพากษาของศาลไทย ทั้งนี้ เป็นไปภายใต้มาตรา ๑๓ วรรค ๑ ดังกล่าวมา

-------------------------------------------------------------

ควรทบทวนความสำคัญของ  CISG ต่อประเทศไทยหรือไม่

------------------------------------------------------------

สถานการณ์ของประชาคมการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะแตกต่างไปจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะที่มีการยกร่าง CISG ใน ค.ศ.๑๙๘๐/พ.ศ.๒๕๒๓ และในขณะที่ CISG มีผลจริงในประชาคมระหว่างประเทศใน ค.ศ.๑๙๘๘/พ.ศ.๒๕๓๑  สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันของ ค.ศ.๒๐๑๓/พ.ศ.๒๕๕๖ กล่าวคือ ๓๓ ปี นับแต่การยกร่าง หรือ ๒๕ ปี นับแต่ความมีผล เราน่าจะต้องมาทบทวนหรือไม่ว่า CISG น่าจะเหมาะสมแล้วกับสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศไทยแล้ว แม้ว่า ๓๓ ปีก่อนเป็นต้นมา เราจะเชื่อว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะผูกพันโดยตรงต่อ CISG แต่ใน พ.ศ.๒๕๕๖/ค.ศ.๒๐๑๓ นี้ ผลการทบทวนอีกครั้งก็อาจจะชี้ว่า สังคมทางเศรษฐกิจไทยน่าจะพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับสังคมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อันทำให้การยอมรับ CISG อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นแล้วสำหรับประเทศไทย ดังนั้น การให้สัตยาบันต่อ CISG น่าจะเป็นประเด็นที่ควรยกมาพิจารณาอีกครั้งมิใช่หรือ

---------

อ่านต่อ

--------

  • ·พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, L’Unification conventionelle du droit de la vente internationale (การทำกฎหมายว่าด้วยซื้อขายระหว่างประเทศให้เป็นเอกรูปโดยสนธิสัญญา), วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกเพื่อเสนอต่อมหาวิทยาลัย Robert Schuman de Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ (ภาษาฝรั่งเศส)
  • พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ซื้อขายระหว่างประเทศและเสถียรภาพทางกฎหมาย, ใน : รพี ' ๓๓, หนังสือที่ระลึกวันรพี ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๒ ของสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, น.๕๑-๕๕.
  • พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ เสถียรภาพในทางกฎหมาย และประเทศไทย: ความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายสาระบัญญัติพิเศษว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ, ใน : รพีสาร, ๓(๒๕๓๗)๘, ๒๕-๓๕. 
  • http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=189&d_id=189
  • พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บทบาทของ Incoterms ต่อสัญญาซื้อขายที่มีลักษณะระหว่างประเทศ, ใน:วารสาร นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ๒๔(๒๕๓๗)๔, ๗๖๑-๗๘๒
  • http://www.lawonline.co.th/Document/AcharnPuntip18.doc
  • พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ตอบคุณ Naruethip เรื่องกฎหมายที่มีผลบังคับสัญญาที่มีต่อเนื่องกับสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ, บันทึกเพื่อตอบคำถามนักศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ, เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ 
  • http://www.learners.in.th/blog/archanwell-and-business4society/482341 
  • http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=555&d_id=554
  • พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กรณีศึกษานายเงียโจ : การเลือกกฎหมายที่มีผลบังคับความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อขายกล้วยไม้ระหว่างคนกะเหรี่ยงสัญชาติไทยและบริษัทตามกฎหมายลาวซึ่งข้ามชาติมาจากญี่ปุ่น, กรณีศึกษาเพื่อการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ 
  • http://www.learners.in.th/blogs/posts/534669
  • https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151504834638834

--------------------------------------------------------------


หมายเลขบันทึก: 532979เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 03:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท