วิเคราะห์ข้อมูลการขอสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 ราย “นายวิษณุ บุญชา”


วิเคราะห์ข้อมูลการขอสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 ราย “นายวิษณุ บุญชา”

วิเคราะห์ข้อมูลการขอสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 ราย "นายวิษณุ บุญชา"

จากบทความของคุณพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ "กรณีนายวิษณุ บุญชา" ผู้เขียนลองวิเคราะห์ต่อ [1]

ข้อมูลนายวิษณุ

นายวิษณุ บุญชา เกิดจากนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี (ไม่มีนามสกุล) และนายสอน (ไม่มีนามสกุล) (ที่ถูกต้องคือ นายเล็ก บุญชา) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2537 ณ โรงพยาบาลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปกติประเพณีของชาวมอญจะไม่มีนามสกุล

วันที่ 17 สิงหาคม 2553 นายวิษณุก็ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน (บุคคลเลข 0)คือ 0-1186-89000-xx-x และได้รับการออกบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ทต.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ)

ข้อมูลมารดานายวิษณุ

มารดาของนายวิษณุ คือนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี (ไม่มีนามสกุล) เกิดที่บ้านทุ่งก้างย่าง หมู่ที่ 3 ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2513

สำเนาทะเบียนบ้าน ท.ร.13 เลขประจำบ้าน 7108-0024xx-x (อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี) นางสาวปัจจรา ไม่มีชื่อสกุล (บุคคลเลข 6)เลขประจำตัว 6-7108-00039-xx-x สัญชาติพม่า

ประเด็นพิจารณาจากข้อมูลของมารดานายวิษณุ

โดยข้อเท็จจริงนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี เป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน ตาม มาตรา 23 [2] แห่ง พรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 เพราะเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2513 แต่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการพิสูจน์สิทธิดังกล่าว ด้วยเหตุประการหนึ่งมาจากเรื่อง "เอกสารรับรองการเกิดในประเทศไทย (หนังสือรับรองการเกิด(ทร.20/1) ของนางปัจจรา เลขที่ 333/2553 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2553 ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี) และเอกสารทางทะเบียนราษฎรซึ่งยืนยันข้อเท็จจริงว่าอาศัยอยู่ในประเทศไทย ระบุชื่อบุคคลตามเอกสารแตกต่างกัน"

ข้อมูลบิดานายวิษณุ

บิดาของวิษณุชื่อ "นายเล็ก"(ไม่มีนามสกุล) (ปรากฏตามสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ท.ร.38ข ของนายวิษณุ บุญชา) หรือ "นายเล็ก บุญชา" โดยเกิดที่ประเทศพม่า ประมาณปี พ.ศ. 2510 (ปรากฏตามคำบอกเล่าของนายเล็ก) ได้อพยพเข้ามาจากเมืองทวายประเทศพม่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2522

ตาม ท.ร.38/1 (บุคคลเลข 00) ได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก คือ 001195 1022xxx เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 (ข้อมูลไม่ระบุว่าเป็นสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลใด ? จ.สมุทรปราการ)

สรุปข้อมูลการเกิด

นางปัจจรา มารดาวิษณุ เกิด ปี พ.ศ. 2513 บุคคลเลข 6 สัญชาติพม่า เกิดในประเทศไทย ตาม ท.ร.20/1 อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

นายเล็ก บิดาวิษณุ เกิด ปี พ.ศ. 2510 บุคคลเลข 00 แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า เกิดประเทศพม่า ขึ้นทะเบียนสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาล? จ.สมุทรปราการ

วิษณุ เกิด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2537 บุคคลเลข 0 เกิด รพ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

วิเคราะห์

นางปัจจรา (ไม่มีนามสกุล) เกิดในประเทศไทย พ.ศ. 2513 เกิดก่อนปว.337 นางปัจจรา จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามมาตรา 7 ทวิ (3) [3] แห่ง พรบ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 นางปัจจรา ถูกถอนสัญชาติตาม ปว.337 ตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2515 นางปัจจราจึงเป็นบุคคลที่จะได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 23

นายวิษณุ เกิดในประเทศไทย 8 มีนาคม พ.ศ. 2537 เกิดหลัง พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 (ใช้บังคับ 26 กุมภาพันธ์ 2535) ทำให้มารดาของนายวิษณุ ถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวที่เข้าประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากนางปัจจรา(มารดาวิษณุ) เป็นบุคคลที่จะได้สัญชาติไทยตามมาตรา 23 ฉะนั้น นายวิษณุ จึงเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจาก ปว.337 จึงได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 23 ด้วย เป็นกลุ่มบุตรที่เกิดก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 [4]

ข้อแนะนำ

นายวิษณุ ควรจะยื่นคำร้องขอตรวจสอบ DNA กับนางปัจจรา เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ "มารดา-บุตร" เพราะหากบุคคลใด บุคคลหนึ่งรับอนุมัติให้ได้รับสัญชาติไทยก็จะมีผลให้อีกฝ่ายหนึ่งได้สัญชาติไทยไปด้วยประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ จากข้อมูลเอกสารที่สับสนไม่ถูกต้องตรงกัน ก็จะได้ข้อยุติลง


[1] พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์, "กรณีนายวิษณุ บุญชา หลานชายของคนชาติพันธุ์มอญซึ่งเป็นอดีตคนหนีภัยความตายจากประเทศพม่า ปัจจุบันเป็นคนไร้สัญชาติซึ่งเกิดในประเทศไทย และอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักดินแดน", 14 เมษายน 2556. http://www.gotoknow.org/posts/532887

& กิติวรญา รัตนมณี, "ด.ช.วิษณุ บุญชา (๓) : ควรได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยแค่ไหน เพียงใด ?", 25 มีนาคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/250903 & http://gotoknow.org/blog/kitiwaraya6/250903

[2] พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 23 "บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 1 และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 2 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน"

[3] มาตรา 7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

"ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง" **

** มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 7

[4] หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309.1/ว 5527 ลง 30 มีนาคม 2552เรื่อง การขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่ง พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551, http://118.174.31.136/STR/data_pdf/mt03091_v5527.pdf

หมายเลขบันทึก: 532932เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คิดกันเรื่อง DNA เหมือนกันค่ะ แต่มันแพงเกินกว่ากำลังของครอบครัวนี้ค่ะ

วิษณุใกล้จะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วค่ะ

แต่ที่ควรจะเร่งเรื่อง ก็น่าจะเป็นเรื่องของคุณแม่ของวิษณุก่อน ซึ่งต้องไปทำที่สังขละบุรีค่ะ

อ.แหววขอความช่วยเหลือจากกรรมการสิทธิฯ อยู่ค่ะ คงต้องไปตามเรื่องอีกที

ยังหารือกับ อ.เชอรี่ พวงรัตน์ว่า สำหรับครอบครัวนี้ เราอาจจะต้องเอามาทำเอง เป็นครอบครัวที่มีคนมาศึกษามาก แต่การพัฒนาสิทธิให้กับพวกเขาคืบหน้าช้ามากค่ะ 

ขอบคุณนะคะที่ให้ความสนใจ

ขอบคุณมากเลยนะคะ ที่ให้ความสนใจกับปัญหาของครอบครัวนี้ และแนะนำการแก้ไขปัญหาให้ค่ะ

อยากให้มีผู้สนใจกรณีปัญหาแบบนี้อีกเยอะๆ เลยค่ะ


เรื่อง DNA เราก็เห็นด้วยว่าเป็นช่องทางหนึ่ง ที่อาจจะทำได้ (ถ้าเรามีงบประมาณส่วนนั้นเพียงพอ) และอาจจะทำให้เรื่องของวิษณุจบได้เร็วขึ้น

แต่กรณีนี้เราก็ชั่งใจอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะเรามีความเห็นกันว่า พยานบุคคล และพยานเอกสารเราก็นำไปแสดง แต่การพิจารณาของเจ้าหน้าที่อาจจะไม่พยายามเข้าใจกับบริบทแวดล้อม สภาพแวดล้อมของปัญหาของคนลักษณะนี้ จึงเรียกร้องพยานเอกสารที่มกาเกินไป  จนเรียกว่าไม่ยอมรับฟัง พยานเอกสาร(ซึ่งเป็นเอกสารราชการ เช่น หนังสือรับรองการเกิดของวิษณุ)ที่เราได้เสนอไปก่อนหน้านี้เลยหรือไม่ ถ้าพยานเอกสารที่มีเพียงพอกับการรับฟัง การเรียกร้องผล DNA ก็เคยมีฎีกาออกมาว่า เป็นการเรียกร้องพยานหลักฐานเกินสมมควร

ขอบคุณความเห็นอ.แหวว ที่จุดประกายอีกครั้งว่า ถ้าเรายังไม่อยากตรวจ DNA ในตอนนี้ เราควรกลับไปจัดการเรื่องของ มารดาของวิษณุ ที่สังขละบุรีให้เรียบร้อยก่อนหรือไม่

กำลังคิดอยู่เช่นกันค่ะว่า เราควรไปตามเรื่องการยื่น ม.23 ของมารดาวิษณุ ที่สังขละบุรี  โดยคณะทำงานฯของเรากันเอง ไม่รอทางอื่นๆแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท