พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

กรณีนายวิษณุ บุญชา หลานชายของคนชาติพันธุ์มอญซึ่งเป็นอดีตคนหนีภัยความตายจากประเทศพม่า ปัจจุบันเป็นคนไร้สัญชาติซึ่งเกิดในประเทศไทย และอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักดินแดน


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

กรณีนายวิษณุ บุญชา หลานชายของคนชาติพันธุ์มอญซึ่งเป็นอดีตคนหนีภัยความตายจากประเทศพม่า ปัจจุบันเป็นคนไร้สัญชาติซึ่งเกิดในประเทศไทย และอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักดินแดน[1]

โดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์[2]

------------------------------------------

ประวัตินายวิษณุ บุญชา 

------------------------------------------

  เนื่องจากกรณีศึกษานายวิษณุ บุญชา และครอบครัว[3]เป็นกรณีศึกษาซึ่งร้องขอความช่วยเหลือมายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2549 และอยู่ในความดูแลของโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และคณะ ภายใต้ทุนสนับสนุนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รวมรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบันและปัจจุบันกรณีศึกษานายวิษณุ บุญชา ก็ยังอยู่ในความดูแลของโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาสิทธิและสถานะบุคคลฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายวิษณุ บุญชา

  ข้อเท็จจริงของนายวิษณุ บุญชาและครอบครัว เป็นตัวอย่างครอบครัว 3 รุ่นที่ประสบปัญหาสถานะบุคคล[4] ซึ่งนายวิษณุ บุญชาเป็นบุคคลรุ่นที่ 3 ของครอบครัว โดยเอกสารฉบับนี้มีลักษณะของการบันทึกข้อเท็จจริงและถ่ายทอดผ่านนายวิษณุ บุญชา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำไปสู่การกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายวิษณุ บุญชาต่อไป

  นายวิษณุ บุญชา มีมารดาคือนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี  นามสกุล ศรีวาร หรือไม่มีนามสกุล และบิดาคือนายเล็ก บุญชา โดยนายวิษณุ บุญชา เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2537 ณ โรงพยาบาลบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 

-------------------------------------------

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมารดาของนายวิษณุ

-------------------------------------------

มารดาของนายวิษณุ คือนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี  เกิดที่บ้านทุ่งก้างย่าง หมู่ที่ 3 ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2513 (ปรากฏตามหนังสือรับรองการเกิดเลขที่333/2553 ออกให้โดยสำนักทะเบียน อำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี) จากมารดา(ยายของนายวิษณุ บุญชา) คือ นางแสนถี หรือนางสันที หรือนางแสนดี[6] เป็นหญิงชาติพันธุ์มอญ เกิดที่เมืองม่องเย่ ประเทศพม่า ประมาณ พ.ศ.2489 เมื่ออายุได้ประมาณ 16 ปีหรือประมาณ พ.ศ.2505 สถานการณ์ในประเทศพม่ามีการสู้รบบ่อยครั้งระหว่างชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า ทำให้ไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ จึงตัดสินใจเดินเข้าไทยโดยปราศจากเอกสารพิสูจน์ตนผ่านด่าน ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และได้พบรักอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายสอน (บิดาของนางปัจจรา หรือตาของนายวิษณุ บุญชา) จนตัดสินใจตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านทุ่งก้างย่าง ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนะบุรี ทั้งสองมีบุตรด้วยกันรวม 8 คน และทุกคนเกิดในประเทศไทย ได้แก่ 1)เอมิต  2)ปัจจรา 3)เบญจพร  4)อำพล  5)สุมิตร 6)อดุลย์  7)ชาญชัย และ 8)บุญชัย แต่ปัจจุบันเอมิต เบญจพร สุมิตร ได้เสียชีวิตแล้ว

ทั้งนางแสนถีฯ และนายสอน เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจากประเทศพม่า ส่วนบุตรทุกคนก็ไม่ได้รับการแจ้งเกิดว่าเกิดในประเทศไทย จึงตกเป็นบุคคลไร้รัฐเช่นกัน จนกระทั่งปี พ.ศ.2526-2527 ทางการไทยได้ขอให้ชาวมอญซึ่งเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ย้ายไปอยู่อาศัยที่บ้านวังกะ อ.สังขละบุรี แต่เมื่อบริเวณนั้นเกิดน้ำท่วม ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงย้ายมาสร้างบ้านที่หม่องสะเทอ และเป็นจุดที่ครอบครัวนี้ได้รับการสำรวจ และจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลในบ้าน (พ.ถ.2) อันนำไปสู่การจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า และได้รับเอกสารพ.ถ.2 และทะเบียนบ้านประเภทท.ร.13 ฉบับสำเนาและระบุว่าทุกคนอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 7xx ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยนายสอน และนางแสนถีฯ ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6 ช่วงเวลานี้แม้ว่าทั้งครอบครัวจะได้รับการขจัดความไร้รัฐโดยการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย แต่ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีเอกสารพิสูจน์ตน ประกอบกับสถานการณ์ที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน เมื่อนายสอนหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตลง ทำให้นางแสนถี หรือนางสันที หรือนางแสนดี ได้พาลูกๆ ย้ายออกจากบ้านหม่องสะเทอ อ.สังขละบุรี กลับไปอาศัยที่หมู่บ้านทุ่งก้างย่างอ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรีอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่อ.สังขละบุรีดำเนินการถ่ายรูปผู้ได้รับการสำรวจฯ กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเพื่อจัดทำบัตรประจำตัวให้ ส่งผลให้ไม่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนกลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า

ต่อมาในปี พ.ศ.2536 จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านไม่มีเลขที่ ในซอยวัดคู่สร้าง ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ต่อมาในปี พ.ศ.2549 นายอำพล ได้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลมายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นแล้วได้ส่งคำร้องต่อไปยัง คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วันที่ 8 มีนาคม 2553 นางแสนถี หรือสันที หรือแสนดี และสมาชิกในครอบครัวได้เดินทางไปแสดงตนและยื่นคำร้องขอยกเลิกการจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎร ณ สำนักทะเบียน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อพิสูจน์ความทรงสิทธิในทะเบียนราษฎร ในสถานะผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ซึ่งได้รับการสำรวจไปเมื่อ พ.ศ.2527

จะเห็นได้ว่าครอบครัวรุ่นตายาย และแม่ของนายวิษณุ บุญชา มีลักษณะของการย้ายถิ่นเพื่อทำมาหากินให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ทำให้ความเข้าใจในเรื่องปัญหาสถานะบุคคล และเอกสารพิสูจน์ตนของสมาชิกในครอบครัวกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไปสำหรับกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเช่นนี้ ซึ่งส่งผลให้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ “ชื่อ” ในเอกสารราชการหรือเอกสารแสดงตน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ระบุว่าตนเองคือใคร เป็นเรื่องที่นางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี  อาจจะไม่ได้คำนึงถึง จนนำไปสูปัญหาเรื่องการ พิสูจน์ตนในเอกสารราชการของนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี  เพราะเหตุว่าปรากฏชื่อหลายชื่อที่แตกต่างกัน ดังนี้

มารดาของนายวิษณุ ใช้ชื่อสมัยเด็กตามที่เพื่อนบ้านเรียกขานว่า “บุญมี” แต่ในเอกสารราชการฉบับอื่นของเธอ รวมทั้งเอกสารของนายวิษณุ บุญชางกลับระบุว่า มารดาของวิษณุชื่อ “นางปัจจรา ไม่มีนามสกุล” (ปรากฏตาม 1.บัญชีรายชื่อบุคคลในบ้าน แบบ พ.ถ.2 หมู่บ้านหม่องสะเทอ บ้านเลขที่ 7xx หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี ระบุชื่อ ด.ญ.ปัจจรา ออกโดย อ.อสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, 2.สำเนาทะเบียนบ้าน ท.ร.13 เลขประจำบ้าน 7108-0024xx-x, 3.หนังสือรับรองการเกิด(ทร.20/1) ของนางปัจจรา เลขที่ 3xx/2553 ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี  ) หรือ “นางปัจจรา ศรีวาร” (ปรากฏตาม หนังสือรับรองการเกิด (ทร.20/1) ของนายวิษณุ  เลขที่ x/2553 ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) หรือ “นางบุญมี ศรีวาร” (ปรากฏตาม 1.สมุดทะเบียนห้องคลอดของโรงพยาบาลบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี,  2.หนังสือรับรองการเกิด (ทร.20/1) ของนายวิษณุ เลขที่ x/2553 ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี, 3. สำเนาหนังสือที่ รบ 0027.x/01/1546 แจ้งผลข้อมูลการเกิดของบุคคล ออกโดยโรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี)  หรือ “นางบุญมี  ไม่มีนามสกุล”ชื่อเล่นที่เพื่อนของนางปัจจราใช้เรียกกัน(ปรากฏตามคำบอกเล่าของนางปัจจรา) หรือ “นางปัญจรา (ไม่มีนามสกุล)” (ปรากฏตามสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ท.ร.38ข ของนายวิษณุ บุญชา) หรือ “นางปัญจรา ศรีวาร” (ปรากฏตาม หนังสือรับรองการเกิด (ทร.20/1) ของนายวิษณุ  เลขที่ x/2553 ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี )หรือ “นางปัญจรา บุญชา” (ปรากฏตามระเบียนแสดงผลการเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 2 ประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์)

  ดังนั้นแม้ว่า โดยข้อเท็จจริงนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี เป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน ตาม มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เพราะเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2514 แต่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการพิสูจน์สิทธิดังกล่าว ด้วยเหตุประการหนึ่งมาจากเรื่อง เอกสารรับรองการเกิดในประเทศไทย (หนังสือรับรองการเกิด(ทร.20/1) ของนางปัจจรา เลขที่ 3xx/2553 ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี) และเอกสารทางทะเบียนราษฎรซึ่งยืนยันข้อเท็จจริงว่าอาศัยอยู่ในประเทศไทย ระบุชื่อบุคคลตามเอกสารแตกต่างกัน

----------------------------------------------------

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดาของนายวิษณุ บุญชา

----------------------------------------------------

บิดาของวิษณุชื่อ “นายเล็ก ไม่มีนามสกุล” (ปรากฏตามสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ท.ร.38ข ของนายวิษณุ บุญชา) หรือ “นายเล็ก บุญชา” (ปรากฏตาม หนังสือรับรองการเกิด ทร.20/1 เลขที่ x/2553 ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี)

โดยเกิดที่ประเทศพม่า ประมาณปี พ.ศ. 2510 (ปรากฏตามคำบอกเล่าของนายเล็ก) ได้อพยพเข้ามาจากเมืองทวายประเทศพม่าเมื่อประมาณ พ.ศ.2522 โดยไม่มีเอกสารเดินทาง หรือเอกสารแสดงตนใดๆ ผ่านเข้ามาทาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เข้ามาอาศัยอยู่ที่ บ้านทุ่งก้างย่าง ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

เมื่อปี พ.ศ.2547 ขณะทำงานอยู่ในโรงงานปุ๋ย บริษัท ไทยเซ็นทรัล เคมิคัลจำกัด  นายเล็กจึงได้ไปรับการสำรวจและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หรือทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ท.ร.38/1 และได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก คือ 001195 1022xxx เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547

------------------------------------------

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายวิษณุ บุญชา [5]

------------------------------------------

  นายวิษณุ บุญชา เกิดจากนางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี  และนายสอน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2537 ณ โรงพยาบาลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ปกติประเพณีของชาวมอญจะไม่มีนามสกุล ดังนั้นช่วงฝากครรภ์นางปัจจราฯ ก็เกรงว่าจะฝากครรภ์ไม่ได้หากไม่มีนามสกุล จึงได้ขอยืมนามสกุล “ศรีวาร” จากเพื่อนของนางแสนถี ฯ มาใช้ฝากครรภ์ โรงพยาบาลได้ออกเอกสารรับรองการเกิดของนายวิษณุให้บิดาและมารดานำไปแจ้งเกิด แต่เมื่อนางปัจจราฯ ได้รับแจ้งว่าตนเองต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งทะเบียนบ้านไปแสดงด้วย ทั้งนางปัจจราฯ และนายเล็ก จึงไม่กล้าไปแจ้งเกิดนายวิษณุ บุญชา ส่งผลให้นายวิษณุไม่ได้รับการแจ้งเกิด จึงไม่มีสูติบัตรและไม่ได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยจึงตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ

ต่อมา เอกสารรับรองการเกิดที่ได้รับมาจากทางโรงพยาบาลก็สูญหายไปพร้อมกับสมุดฝากครรภ์(สมุดแม่และเด็ก) หลังจากกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ไม่นาน และแม้นางปัจจราฯ จะรู้ดีว่าเอกสารนี้มีความสำคัญกับ นายวิษณุ แต่ก็ไม่กล้าแจ้งความ เพราะ เกรงจะถูกตำรวจจับเนื่องจากตนเองไม่มีเอกสารแสดงตน

ด้วยเหตุที่นายวิษณุ ประสบปัญหาด้านสุขภาพ ตั้งแต่เกิด ป่วยเป็นปอดบวม ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนางปัจจราฯ และนายสอนเอง เห็นว่าหากตนเองและสามียังทำงานและพักอยู่ในโรงงานผลิตพลาสติกต่อไปอาจทำให้บุตรชายมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น จึงได้อพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่กับนางแสนถีฯ ผู้เป็นแม่ ที่ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และเปลี่ยนมาประกอบอาชีพค้าขายผัก  ส่วนนายเล็กสามีก็สมัครเป็นคนงานในโรงงานไทยเซ็นทรัลเคมีคัล จำกัด

เมื่อนายวิษณุ มีอายุครบเกณฑ์เข้าเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ด้วยความกังวลว่าบุตรชายจะมีปมด้อย เพราะไม่มีนามสกุล ทำให้นางปัจจราฯ ขอยืมนามสกลุเพื่อนบ้านเพื่อให้ นายวิษณุ สมัครเข้าเรียน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ด.ช.วิษณุ ศรีสายหยุด” (ปรากฏตาม สมุดรายงานประจำตัวนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนวัดคู่สร้าง ระบุชื่อนักเรียน ด.ช.วิษณุ ศรีสายหยุด และระเบียนแสดงผลการเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงชั้นที่ 2 ประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนวัดคู่สร้าง ระบุชื่อนักเรียน ด.ช.วิษณุ ศรีสายหยุด) ในช่วงเวลานี้เอง นายวิษณุ เริ่มรู้ว่าตนเองไม่มีสูติบัตร และไม่มีทะเบียนบ้านอย่างเพื่อนคนอื่น เพราะในช่วงเปิดเทอมคุณครูประจำชั้นมักจะเรียกถามถึงทะเบียนบ้านอยู่บ่อยๆ  ภายหลังจากที่นางปัจจรา ฯ ได้อธิบายให้คุณครูทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว คุณครูก็เข้าใจปัญหาครอบครัวของนายวิษณุ และไม่ได้เรียกร้องขอทะเบียนบ้านและสูติบัตรอีก

พ.ศ.2549 นายอำพลเริ่มต้นร้องขอความช่วยเหลือเรื่องการประสบความไร้สัญชาติของครอบครัว รวมถึงกรณีนายวิษณุเข้ามายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2551 ขณะที่นายวิษณุ เรียนชั้น ป.6 เป็นเทอมสุดท้ายด้วยเหตุที่ ด.ช.วิษณุ เป็นเด็กเรียนดี และมีความประพฤติดี จึงสอบเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ได้สำเร็จ

ในปี พ.ศ.2552 นายวิษณุ เมื่อได้รับการประสานความช่วยเหลือ และคำแนะนำทางกฎหมายโดยคณะทำงานในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ก็ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38 ก) กลุ่มเด็กนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย โดยอ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการและได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 มีสถานะเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือราษฎรต่างด้าวของรัฐไทย

ประมาณเดือนกรกฎาคม 2552 ด้วยคำแนะนำของอาจารย์ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง นักวิจัยในกองทุน ศ.คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการแก้ไขชื่อ -นามสกุล ของ นายวิษณุ และบิดา มารดาที่ปรากฏในเอกสารการมอบตัวของทางโรงเรียนให้ถูกต้องตรงกันโดยแก้ไขจากเดิม นายวิษณุ ไม่มีนามสกุล แก้ไขเป็น นายวิษณุ บุญชา ชื่อมารดา จากนางบุญมี ---แก้ไขเป็น นางปัญจรา บุญชา ชื่อบิดา คือ นายเล็ก บุญชา

วันที่ 17 สิงหาคม 2553 นายวิษณุก็ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน คือ 0-1186-89000-xx-x และได้รับการออกบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ปรากฏตาม : 1.ทะเบียนประวัติประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร 38ก  ของนายวิษณุ บุญชา เลขประจำตัว 0-1186-89000-xx-x ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ และ 2.บัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขประจำตัว0-1186-89000-xx-x)

  นอกจากนี้ระหว่างปี พ.ศ.2551-2553 คณะทำงานฯ ได้ติดต่อโรงพยาบาลบ้านโป่งเพื่อขอออกหนังสือรับรองว่าวิษณุเกิด ณ สถานพยาบาลในประเทศไทย เพื่อเป็นเอกสารยืนยันจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดระหว่างนายวิษณุกับประเทศไทย และแม้ว่าทางโรงพยาบาลจะไม่มีต้นขั้วของ หนังสือรับรองการคลอด ท.ร.1/1 แล้วเนื่องจากโรงพยาบาลจะต้องทำลายต้นขั้วทุก 5-10 ปี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลค้นทะเบียนห้องคลอดก็เชื่อว่านายวิษณุน่าจะคลอดที่โรงพยาบาลบ้านโป่งจริง แต่โรงพยาบาลไม่สามารถออกเอกสาร ท.ร.1/1 ได้ซ้ำได้ ทางโรงพยาบาลบ้านโป่งยินดีออกเป็นหนังสือแจ้งทางเทศบาลท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านโป่งเพื่อยืนยันว่านางปัจจราฯ ได้มาคลอดนายวิษณุ ที่นี่จริง และหนังสือฉบับดังกล่าวทำให้วิษณุสามารถขอหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) จากสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้สำเร็จเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 (ปรากฏตาม หนังสือรับรองการเกิด ทร.20/1 เลขประจำตัวประชาชน 0-1186-89000-xx-x  ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ระบุว่านายวิษณุ บุญชาเกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2537)

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 นายวิษณุ บุญชา ได้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตาม ม.23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551ต่อเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยนายวิษณุ บุญชาได้เสนอพยานเอกสารกล่าวคือ

1.หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) นายวิษณุ บุญชา เลขประจำตัว 0-1186-89000-xx-x เลขที่ x/2553 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบางเมืองบ้านโป่ง

2.แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38ข) ของนายวิษณุ บุญชา เลขประจำตัว 0-1186-89000-xx-x ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2552

3.สำเนาบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเลขประจำตัว 0-1186-89000-xx-x ออกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2553 ออกโดยอำเภอพระสมุทรเจดีย์

4.หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) นางสาวปัจจรา ไม่มีชื่อสกุล เลขประจำตัว 6-7108-00039-xx-x สัญชาติพม่า เลขที่ 333/2553 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2553 ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอไทรโยค

5.สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ของนางสาวปัจจรา บ้านเลขที่ 783 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เลขรหัสประจำบ้าน 7108-0024xx-x

6.ระเบียนแสดงผลการเรียนหลักฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงชั้นที่ 2 ประถมศึกษาปีที่ 4-6 (ป.พ.1) ของเด็กชายวิษณุ ศรีสายหยุด ออกโดยโรงเรียนวันคู่สร้าง จังหวัดสมุทรปราการ

7.ระเบียนแสดงผลการเรียน หลักฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงชั้นที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 1-3(ป.พ.1) ของเด็กชาย วิษณุ บุญชา ออกโดยโรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์

8.ประกาศนียบัตรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบให้แก่นายวิษณุ ศรีสายหยุด ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2549 เกียรติบัตรจากโรงเรียนวัดคู่สร้าง มอบให้นายวิษณุ ศรีสายหยุด ในวันที่ 11 สิงหาคม 2549

9.ประกาศนียบัตรจากชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ร่วมกับองค์กรภาคี มอบให้นายวิษณุ บุญชา เนื่องจากได้ผ่านการประเมินมาตราฐานศีลธรรมระดับดี ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2553

นอกจากนั้นเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ยังได้เรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำ ได้แก่ นายสำรวย ศรีสายหยุด และนายสถาพร แก้วสัมฤทธิ์เป็นพยานในการรับรองชื่อสกุลของนายวิษณุ บุญชา เพราะที่ผ่านมานายวิษณุ บุญชา ใช้นามสกุลแตกต่างกัน ส่วนนางสาวปัจจราฯ นายเล็ก บุญชา และนางมณฑา คล้ายสมบูรณ์ สอบปากคำประเด็นคุณสมบัติในการทรงสิทธิสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ของนายวิษณุ บุญชา

อย่างไรก็ตาม สำนักทะเบียนเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ มีหนังสือถึง เลขที่ สป 52901/ทร.044 ถึง นักกฎหมายประจำโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2555 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านของนายวิษณุ บุญชา  และมีหนังสือ เลขที่ 52901/ทร.043 ถึง นายวิษณุ บุญชา ลงวันที่ 17 เมษายน 2555 เรื่องแจ้งผลการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน โดยระบุว่า ทางอำเภอพระสมุทรเจดีย์ได้พิจารณาคำขอลงรายการสัญชาติไทยตาม มาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 และมีความเห็นว่าสำนักทะเบียนเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์แจ้งนายวิษณุ บุญชา ให้นำพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานอื่นๆ มาแสดงเพื่อพิสูจน์ความทรงสิทธิในสัญชาติไทย โดยให้สอบสวนเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น กล่าวคือ

1.ให้สอบสวนพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดยืนยันได้ว่านางสาวปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี นามสกุล ศรีวาร เป็นบุคคลคนเดียวกัน และมีฐานะเป็นมารดาของนายวิษณุ บุญชา จริง

2.ให้สอบสวนว่าบุคคลตามข้อ 1. เป็นมารดาของนายวิษณุ บุญชา จริง โดยหากไม่สามารถนำพยานบุคคลมาสอบสวนได้ ให้นำพยานหลักฐานอื่น เช่น ผลการตรวจ DNA ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม

และระหว่างนี้ทางโครงการบางกอกคลินิกฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็อยู่ระหว่างการจัดทำความเห็นทางกฎหมายในประเด็นเรื่องการเรียกร้องพยานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ความทรงสิทธิในสัญชาติไทยของนายวิษณุ บุญชา เพื่อเสนอต่อสำนักทะเบียนเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ และสำนักทะเบียนอำเภอพระสมุทรเจดีย์

-------------------------------------------------------------------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลของนายวิษณุ บุญชา

-------------------------------------------------------------------------------------------

1.  นายวิษณุ บุญชา เป็นบุตรที่เกิดในประเทศไทย จากมารดาต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2514 ใช่หรือไม่ ?

2.  ขณะที่นายวิษณุ บุญชา เกิดนั้นมารดาคือนางปัจจราฯ มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยหรือไม่? อย่างไร?

3.  นายวิษณุ บุญชา เป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผลของมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 หรือไม่ ? อย่างไร ?

4.  นายวิษณุ บุญชา เป็นบุตรที่เกิดในประเทศไทย จากมารดาต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2514 ใช่หรือไม่ ?

5.  มารดาของนายวิษณุ บุญชา (นางปัจจราฯ) คือ ผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เพราะถูกถอนสัญชาติไทย โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช่หรือไม่ ?

6.  เพราะฉะนั้นนายวิษณุ บุญชา คือ ทรงสิทธิในสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เพราะเกิดจากมารดาซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ใช่หรือไม่?

7.  กระบวนการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของนายวิษณุ บุญชา ต้องอาศัยพยานหลักฐานใด ?



[1]จัดทำเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2556

[2]นักกฎหมายประจำโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาสิทธิและสถานะบุคคลฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[3]เป็นกรณีศึกษาที่ถูกรวบรวมข้อมูลภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการในการสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงเพื่อการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลจากหน่วยงาน รวมถึงคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และคณะ ภายใต้ทุนสนับสนุนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รวมรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบัน) 2) กองทุน ศ.คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้กองทุน ศ.คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงาน ได้แก่ อ.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, อ.รุ่งรัตน์ ธนบดีธาดา, อ.ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง, คุณบงกช นภาอัมพร, คุณอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์, คุณปุณฑวิชญ์ ฉัตรมงคลชาติ, คุณมณีวรรณ สิงห์ทอง, คุณพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ และ อ.กิติวรญา รัตนมณี (รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบัน) 3) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และคณะทำงาน ได้แก่ อ.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, คุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว และ คุณกรกนก วัฒนภูมิ (รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2552 ถึงพ.ศ.25554) คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(พ.ศ.2552) โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ(ประธานอนุกรรมการฯ)และคณะทำงาน ได้แก่ อ.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล(อนุกรรมการ), คุณมานะ งามเนตร์(อดีตเลขานุการฯ), คุณเอกชัย ปิ่นแก้ว(อดีตเลขานุการฯ), คุณวัฒชนะ วงศ์สินนาค, คุณณัชชา พูลเอี่ยม และคุณอุษณีย์ บัววาสิทธิ์ (รวบรวมข้อมูลเป็นคำร้องที่ 366/2553 ตั้งแต่ พ.ศ.2553 ถึงพ.ศ.2555)

[4]โปรดอ่านเพิ่มเติม ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, บันทึกถึงระหว่างทางการเปลี่ยนผ่านจากความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และไร้สิทธิ

ของคนมอญอพยพสามรุ่นในรัฐไทย ในเอกสารประกอบการพัฒนาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหัวข้อ แนวคิดทางกฎหมายในการพัฒนาและพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคล, วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2554

[5]โปรดอ่านเพิ่มเติม กิติวรญา รัตนมณี, ด.ช.วิษณุ บุญชา (๑): กรณีตัวอย่างบุคคลที่มีสิทธิเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทย ในสถานะคนต่างด้าว แต่เข้าไม่ถึงสิทธิในความเป็นจริง, สืบค้นทาง http://www.gotoknow.org/posts/250811

[6]โปรดอ่านเพิ่มเติม กิติวรญา รัตนมณี, (ร่าง)สรุปข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย-แนวทางในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของนางแสนถี หรือนางสันที หรือนางแสนดี, วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓


หมายเลขบันทึก: 532887เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2013 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท