กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุน พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๕


กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุน
พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๕

                                                                             โดย  ถวิล  อรัญเวศ   รอง ผอ.สพท.ชำนาญการพิเศษ
                                                                                                  
สพป.นครราชสีมา เขต ๔

บทนำ

   เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๕  ก็เพราะได้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ดังนั้น เพื่อให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินของกองทุนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓ ตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้กระทำได้  รัฐมนตรีว่าการระทรวงศึกษาธิการจึงได้ลงนามออกกฎกระทรวงไว้ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕



เนื้อหา

               ในกฎกระทรวงนี้ มีคำนิยามที่ควรทราบ ดังนี้

เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา” หมายความว่า การสื่อสารผ่านระบบคลื่นความถี่ระบบสื่อตัวนำหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการแพร่ภาพ เสียง รวมถึงการสื่อสารในรูปแบบอื่นซึ่งครอบคลุมสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม สื่อโสตทัศน์ แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการหรือแหล่งการเรียนรู้ที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการให้บริการทางการศึกษา

กองทุน” หมายความว่า กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

คณะกรรมการหมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

การขอรับการจัดสรรเงินกองทุนต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการผลิต การวิจัย

หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ผู้ใดก็ตามที่ประสงค์จะขอรับการจัดสรรเงินกองทุนให้ยื่นคำขอรับการจัดสรรเงินกองทุนต่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการพร้อมแนบเอกสารหรือหลักฐาน ดังต่อไปนี้

(๑) สำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

(๒) รูปถ่ายขนาด ๔ × ๖ เซนติเมตร จำนวน ๒ รูป ซึ่งถ่ายครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวก

หรือแว่นตาสีเข้ม และไม่ใส่ผ้าโพกศีรษะ เว้นแต่ผู้ซึ่งมีความจำเป็นตามศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมของศาสนาของตน และถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกินหกเดือน

 (๓) โครงการเพื่อการผลิต การวิจัย หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับวิธีการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ระยะเวลาในการดำเนินงาน และผู้รับผิดชอบโครงการ

 (๔) เอกสารหรือหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดกรณีผู้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนเป็นนิติบุคคล ให้แนบสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล วัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล พร้อมเอกสาร หรือหลักฐานตาม (๓) และ (๔)

 หากผู้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอในนามหน่วยงานของรัฐ โดยให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น พร้อมเอกสารหรือหลักฐานตาม (๓) และ (๔) ด้วยข้อ ๔

เมื่อสำนักงานได้รับคำขอรับการจัดสรรเงินกองทุนแล้ว ให้ตรวจสอบคำขอเอกสารหรือหลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนแก้ไขเพิ่มเติมคำขอ หรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและครบถ้วน

ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานถ้าผู้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอ หรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องจนพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนทิ้งคำขอและให้สำนักงานจำหน่ายเรื่องออกจากสาระบบในกรณีที่สำนักงานตรวจสอบคำขอ เอกสารหรือหลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้สำนักงานเสนอคำขอต่อผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๕ เพื่อพิจารณากลั่นกรองการจัดสรรเงินกองทุนต่อไป ในการพิจารณากลั่นกรองการจัดสรรเงินกองทุน ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ

จากบุคคลซึ่งมีความรู้และประสบการณ์สูงด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการขอรับการจัดสรรเงินกองทุน ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองทางวิชาการและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองทางวิชาการในแต่ละโครงการ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติโครงการที่สมควรได้รับการจัดสรรเงินกองทุนให้สำนักงานทำสัญญาเป็นหนังสือกับผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด และหากปรากฏหลักฐานในภายหลังว่า ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนไม่ปฏิบัติตามสัญญา ให้คณะกรรมการเพิกถอนการอนุมัติโครงการและเรียกเงินกองทุนที่ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนได้รับการจัดสรรไปแล้วคืนได้ให้ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุน รายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนต่อสำนักงานตามแบบที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำหนดในกรณีที่ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงิน ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการระงับการจ่ายเงินงวดต่อไปไว้ก่อนแล้วรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตาม ในกรณีที่ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุน ขอแก้ไขปรับปรุงโครงการ หากการแก้ไขปรับปรุงโครงการไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติ  ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาอนุมัติการแก้ไขปรับปรุงโครงการแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบต่อไป ให้สำนักงานจัดทำระบบทะเบียนผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกองทุน

บทวิพากษ์

ปัจจุบัน เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญยิ่งต่อการจัดการศึกษา และจัดว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยตลอดจนสร้างสังคมฐานความรู้เพื่อการศึกษาตลอดชีวิตดังนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้กำหนดขอบเขตและบทบาทหน้าที่ของรัฐในการจัดการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้ในหมวด ๙ มาตรา ๖๓-๖๙ ครอบคลุม ทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำ โครงสร้างพื้นฐานในการเผยแพร่รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ และ สื่อโทรคมนาคมอื่นๆ เพื่อนำมา ใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาให้มีการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตพัฒนาสื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อการศึกษาให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้เรียน ให้มีทักษะในการผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ให้มีการระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มาตรา ๖๘ และจัดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายแผน ส่งเสริมและประสานการวิจัย การพัฒนา และการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษามาตรา ๖๙ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดงบประมาณเป็นทุนเริ่มต้นเพื่อดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ไว้เป็นรายการหนึ่งในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.๒๕๕๔ ในวงเงินงบประมาณ 5 ล้านบาท และ กทช.สนับสนุนงบประมาณสมทบเข้ากองทุนตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ จำนวน ๑๐๐ ล้านบาท ซึ่ง กสทช. ได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการ ในพิธีการจัดงาน“คุณภาพ  ICT เพื่อคุณภาพการศึกษาไทย” ๗๕  ล้านบาท และได้มอบเพิ่มเติม ๒๕ ล้าน บาท จนครบ ๑๐๐ ล้านบาท

  ปัจจุบันมีเงินกองทุนจำนวน ๑๐๕ ล้านบาท ประกอบด้วยเงินประเดิมกองทุน จำนวน ๕ ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๔ และเงินสมทบเข้ากองทุนปี ๒๕๕๓ ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จำนวน ๑๐๐ ล้านบาท การจัดสรรเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งบริหารในรูปแบบคณะกรรมการ  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน  มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นรองประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ๗ คน ประกอบด้วยเลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง และผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๔ คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษามีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

   ฉะนั้น จึงถือได้ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นอย่างยิ่งในอันที่จะนำมาพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของคนในชาติให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเอาเซียนในปี ๒๕๕๘

สรุป

 ผู้ใดก็ตามที่ประสงค์จะขอรับการจัดสรรเงินกองทุน ICT ให้ยื่นคำขอรับการจัดสรรเงินกองทุนต่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการพร้อมแนบเอกสารหรือหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่ายขนาด ๔ × ๖ เซนติเมตร จำนวน ๒ รูป ซึ่งถ่ายครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวกหรือแว่นตาสีเข้ม และไม่ใส่ผ้าโพกศีรษะ เว้นแต่ผู้ซึ่งมีความจำเป็นตามศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมของศาสนาของตน และถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกินหกเดือน โครงการเพื่อการผลิต การวิจัย หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับวิธีการดำเนินงานค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานระยะเวลาในการดำเนินงาน และผู้รับผิดชอบโครงการเอกสารหรือหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดกรณีผู้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนเป็นนิติบุคคล ให้แนบสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล วัตถุประสงค์ของนิติบุคคลผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล พร้อมเอกสาร หากผู้ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอในนามหน่วยงานของรัฐ โดยให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น พร้อมเอกสารหรือหลักฐานตามกำหนดในประกาศนั้น ๆ ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับการพิจารณาตามแต่กรณี


บรรณานุกรม

สำนักงานเลขานุการกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สป. (๒๕๕๔). ความเป็นมาและความสำคัญของกองทุน. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๖

  จากเว็บไซต์ จาก http://www.moe.go.th/edtechfund/fund/index.

  php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=2&Itemid=2

สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (๒๕๕๕) . ราชกิจจานุเบกษา. หน้า ๑๗-๑๙ เล่ม ๑๒๙

  ตอนที่ ๑๑๒ ก ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ

   วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๖ จาก

  http://www.moe.go.th/moe/upload/news19/FileUpload/30791-5879.pdf


หมายเลขบันทึก: 532912เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2013 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท