มีโรงเรียนไปทำไม : 3. ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา


ปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ในปัจจุบันคือความกระตือรือร้นที่จะเรียน หรืออยากเรียน หากอยากเรียนจริงๆ ก็หาทางเรียนเองได้ไม่ยาก

มีโรงเรียนไปทำไม  : 3. ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson  บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะอุดมศึกษาอเมริกันถูกตำหนิอย่างหนัก   ที่ค่าเล่าเรียนเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว อัตราเพิ่มสูงกว่าอัตราเพิ่ม จีดีพี ของประเทศ  และบัณฑิตที่จบเป็นหนี้สูงขึ้นๆ  และที่ร้ายมากคือเมื่อจบแล้วไม่มีงานทำ  ความเชื่อเดิมว่าการเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นเส้นทางสู่ชีวิตคนชั้นกลางถูกสั่นคลอน  คำนิยามว่า “ผู้มีการศึกษา” คือผู้เรียนจบมหาวิทยาลัย ถูกสั่นคลอน 

อุดมศึกษาจึงมีการปรับตัว  จัดการเรียนรู้แบบใหม่ให้แก่คนอเมริกัน และแก่คนในโลก  เท่ากับสภาพการเรียนรู้แบบ “ทุกที่ ทุกเวลา ทุกคน” กำลังสร้างนิยามใหม่ของการเป็น “ผู้มีการศึกษา” ในโลก  โดยอาศัยโอกาสจากสภาพความอุดมความรู้ของโลก   

เริ่มจาก (๑) การเปลี่ยนระบบรับรองระดับการศึกษา (accreditation)  ที่จะต้องรับรองที่ขีดความสามารถของบุคคล มากกว่า  ที่การผ่านการเข้าเรียนในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย  คำถามคือ ระบบการศึกษามีความสามารถในการวัดทักษะที่กำหนดแค่ไหน  ผมเองมีความรู้สึกว่า วงการศึกษา (ไทย)  ขาดขีดความสามารถในการวัดดังกล่าว  จึงโมเมไปวัดที่ตัวความรู้ และที่การผ่านการสอนในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย  ผมขอโทษหากความเข้าใจของผมคลาดเคลื่อน 

เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบรับรองระดับการศึกษา ที่เน้นขีดความสามารถในการทำงาน (expertise)  MacArthur Foundation ได้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในการวัด expertise  เมื่อไรก็ตาม ที่โลกมีวิธีการวัด expertise ที่เชื่อถือได้  เมื่อนั้นการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ (informal) ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น  ความหมายในทางปฏิบัติของ “คนมีการศึกษา” จะเปลี่ยนไป  คนจะสามารถมีปริญญาได้โดยไม่ต้องผ่านมหาวิทยาลัย   หรือไม่ต้องมีปริญญาก็สามารถได้รับการยอมรับได้ หากมีความสามารถจริง

การเปลี่ยนแปลงประการที่ (๒) การเข้าถึงรายวิชาเปิดกว้าง  เรียนที่ไหนก็ได้ ผ่านระบบ อินเทอร์เน็ต  ดังตัวอย่าง มหาวิทยาลัยพริ้นซตั้น, สแตนฟอร์ด, ดุ๊ก, จอร์เจีย เทค, และ เพนซิลเวเนีย ร่วมกันจัด Coursera เป็นระบบเรียน ออนไลน์ ฟรี  ไม่เสียเงิน  เวลานี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ๖๒ แห่ง  เปิดสอน ๓๓๖ รายวิชา  มีผู้เข้าเรียนกว่า ๓ ล้านคน  

MIT จัด MITx เปิดโอกาสให้ นศ. เรียน ออนไลน์ได้ฟรี  และถ้าต้องการใบประกาศนียบัตรก็ต้องสอบ โดยเสียเงินค่าสอบ 

การเปลี่ยนแปลงประการที่ (๓) ตลาดงาน ที่เปลี่ยนไปหลายด้าน  ด้านแรก การจ้างงานแบบประจำลดลง  หันมาจ้างงานเฉพาะด้าน/บางช่วงเวลา มากขึ้น  ซึ่งหมายความว่าการทำงานของคนจะเป็นนักวิชาชีพอิสระ (freelance) มากขึ้น  คาดว่าในปี ๒๕๖๓ ในสหรัฐอเมริกาจะมีคนทำงานแบบวิชาชีพอิสระมากกว่าทำงานประจำ  ในประเทศไทย บริษัทใหญ่ๆ ไม่พอใจขีดความสามารถในการทำงานของบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย จึงพากันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาของตนเอง ที่เรียกว่า corporate university  นศ. เรียนโดยการทำงานควบคู่ไปกับการเรียนวิชา   จะเห็นว่า ในยุคใหม่ การเรียนจะเข้าสู่การเรียนโดยลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้น  เมื่อเรียนจบก็เข้าทำงานได้เลย

จะเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ในปัจจุบันคือความกระตือรือร้นที่จะเรียน หรืออยากเรียน  หากอยากเรียนจริงๆ ก็หาทางเรียนเองได้ไม่ยาก  จึงมาถึงประเด็นสำคัญคือ จะเรียนเองได้ต้องมีทักษะในการเรียนรู้  การศึกษาระดับพื้นฐานต้องฝึกทักษะในการเรียนรู้ให้แก่เด็ก  จนเด็กมีทักษะแก่กล้าตามที่ NCTE ระบุ (ตอนที่ ๑)  การเรียนด้วยตนเองจนจบปริญญาโดยไม่ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็จะเป็นจริง   

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖



   


หมายเลขบันทึก: 532901เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 04:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2013 04:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคะอาจารย์ ตัวอย่างระบบเรียนทางไกลและสอบวัด Expertise หนึ่งคือ การสอบอนุมัติบัตร CTropMed
โดยรูปแบบเป็นการเรียนรู้จาก online modules + workshop สั้นๆ+ประสบการณ์  และไปสอบ 

  • เห็นด้วยค่ะอาจารย์  
  •   เด็กต้องมีทักษะขั้นพื้นฐานจนแก่กล้าตามที่ NCTE ระบุ    การเรียนด้วยตนเองจนจบปริญญาโดยไม่ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็จะเป็นจริง  
  • ทักษะขั้นพื้นฐานสำคัญมากนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท