บทบาทของกิจกรรมทดสอบความชำนาญเพื่อการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบ ด้านสิ่งแวดล้อม


จากการที่ได้ไปสัมมนาเรื่อง “บทบาทของกิจกรรมทดสอบความชำนาญเพื่อการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบ ด้านสิ่งแวดล้อม” ที่จัดโดย ศูนย์บริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา หรือที่ชาว lab จะเรียกติดปากกันว่า การทำ PT ทำให้เราได้ทราบอะไรหลายๆ อย่างของกรมวิทยาศาสตร์บริการ อย่างเช่นว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการได้เปลี่ยนโลโก้ของกรมฯ ใหม่แล้ว จากเดิมที่เป็นรูปฟันเฟืองกลายเป็นรูปครุฑ ซึ่งอีกหน่อยก็จะเป็นที่ชินตากันในหมู่ชาวห้อง lab ที่ใช้บริการการทำ PT ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการฯ คนใหม่ การใช้เอกสารการทดสอบ PT เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เป็นต้น ส่วนการบริหารจัดการภายในยังเหมือนเดิม และกิจกรรมทดสอบความชำนาญในปีงบประมาณ 2556 ยังคงมีสาขาเหมือนเดิม คือ อาหาร สิ่งแวดล้อม เคมี และสอบเทียบ แต่มีจำนวนห้องปฏิบัติการที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงความเชื่อมั่นที่ห้องปฏิบัติการต่างๆ มีให้กับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ส่วนการออกแบบกิจกรรมการทดสอบความชำนาญมีทั้งแบบอิงเกณฑ์และอิงกลุ่ม 

เราก็ได้นำความรู้ที่ได้รับ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในห้องปฏิบัติการของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๔ ว่าในการทดสอบ PT อาจเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นได้ โดยสามารถดูได้จากสิ่งเหล่านี้ เช่น

-  ผลการวัดแตกต่างจากค่าที่ทราบ หรือค่ามาตรฐาน

-  ผลการวัดแตกต่างจากห้องปฏิบัติการอื่น

-  ผลการวัดแตกต่างจากคนอื่นๆ ในห้องปฏิบัติการเดียวกัน

-  ผลการวัดหลายครั้งแตกต่างกัน

และในการสัมมนาครั้งนี้ได้คุยเน้นหนักเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นของผลการวิเคราะห์ทดสอบใน 2 เทคนิคการตรวจวัด คือ การทิเทรต และการชั่งน้ำหนัก โดยรายละเอียดปัจจัยต่างๆ ที่มีผลการทบต่อความเชื่อมั่นพอจะแจกแจงได้ดังนี้


1.  การสร้างความเชื่อมั่นของผลการวิเคราะห์ทดสอบ EDTA, HCl, Hardness & Chloride

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทดสอบ คือ

1.1 ผู้ปฏิบัติงาน และการปฏิบัติงาน เช่น

- การทิเทรต สาเหตุส่วนใหญ่ คือ การดูสีที่จุดยุติไม่ถูกต้อง การแก้ไขก็คือต้องฝึกฝนผู้ปฏิบัติงานให้มีความสามารถ และมีประสบการณ์

- การอ่านค่าบนเครื่องมือคลาดเคลื่อน เช่น เทคนิคการใช้บิวเรต การอ่านตำแหน่งปริมาตรของเหลวในระดับสายตา

1.2 เครื่องมือ/อุปกรณ์ เช่น

- การใช้เครื่องมือ เครื่องแก้วที่ผ่านการสอบเทียบ

- การควบคุมคุณภาพของเครื่องมือ เช่น การล้างเครื่องแก้ว การดูแลรักษาเครื่องมือ เครื่องแก้ว ต้องถูกต้องตามวิธีทดสอบกำหนด และลดการปนเปื้อนที่จะส่งผลกระทบต่อการทดสอบ

1.3 สารเคมี วัสดุอ้างอิง เช่น ความบริสุทธิ์ไม่เหมาะสม มีสารปนเปื้อน การแก้ไข คือ การใช้สารเคมี วัสดุอ้างอิงที่มีมาตรฐานรับรอง

1.4 วิธีทดสอบ เช่น การทดสอบมีหลายขั้นตอน เทคนิคยุ่งยาก การแก้ไขก็คือต้องฝึกฝนผู้ปฏิบัติงานให้มีความสามารถ และมีประสบการณ์


2. การสร้างความเชื่อมั่นของผลการวิเคราะห์ทดสอบ COD, TDS & TSS

2.1 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทดสอบ COD

  - อัตราส่วนความเข้มข้นของตัวอย่างน้ำและสารละลายที่ใช้ reflux เช่น ในกรณีที่ตัวอย่างมีค่า COD < 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ทำให้ค่าที่ได้ไม่ดีพอควร ให้เพิ่มปริมาตรตัวอย่างได้ แต่ต้องให้ปริมาตรตัวอย่าง + ปริมาตรไดโครเมต ต่อปริมาตรกรดซัลฟุริก ต้องเท่ากับ 1 ต่อ 1 เสมอ 

  - การควบคุมความร้อนที่ใช้ reflux หลุมให้ความร้อนควรผ่านการสอบเทียบ

  - บิวเรตที่ใช้ต้องมีความสะอาด ไม่มีฟองอากาศเมื่อใส่ของเหลวลงไป บิวเรตต้องผ่านการสอบเทียบ และเทคนิคในการอ่านค่าปริมาตร ตำแหน่งปริมาตรของเหลวต้องอยู่ในระดับสายตา

  - การกำจัด Interference  การกำจัดคลอไรด์ด้วยเมอร์คิวริกซัลเฟต (HgSO4) ในอัตราส่วนที่เหมาะสม แต่ถ้าสารละลายยังเป็นขุ่นขาว แสดงว่าปริมาณ HgSO4 ที่เติมลงไปไม่เพียงพอก็ให้เติมลงไปอีกได้ เพราะไม่มีผลต่อการทดสอบ หรือถ้าตัวอย่างไม่มีคลอไรด์จะไม่เติมก็ได้

  - อย่าทำการทิเทรตขณะที่ตัวอย่างยังร้อน เพราะ indicator จะเสื่อมสภาพ

  2.2 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทดสอบ TSS & TDS

  - ตัวอย่าง

ควรให้อุณหภูมิของตัวอย่างเท่ากับอุณหภูมิห้อง และตัวอย่างที่จะนำมาทำการวิเคราะห์ต้องทำให้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะขณะตวงตัวอย่าง

  - การกรอง

·  คุณภาพของกระดาษกรอง จะต้องได้มาตรฐานตามที่การทดสอบกำหนด

·  เครื่องดูดสุญญากาศ ควรมีการดูดด้วยความแรงที่สม่ำเสมอ

·  เทคนิคการกรอง ควรเลือกใช้ปริมาณตัวอย่างให้เหมาะสมกับความเข้มข้นของสารแขวนลอยในตัวอย่าง โดยให้เหลือน้ำหนักแห้งตกค้างบนกระดาษกรอง ไม่น้อยกว่า 0.0025 กรัม แต่ไม่เกิน 0.2 กรัม

  - การระเหยและการอบแห้ง

·  ประเภทของถ้วยระเหย เช่น กระเบื้อง ทองคำขาว ซิลิก้า Foil เป็นต้น

·  การป้องกันการปนเปื้อนขณะระเหย เช่น สิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นไม่ควรมีฝุ่น หรือกิจกรรมอื่นใดที่ก่อให้เกิดฝุ่น

·  การควบคุมอุณหภูมิของตู้อบ ตู้อบที่นำมาใช้งานต้องผ่านการสอบเทียบและทวนสอบอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงการใช้งาน

·  ระยะเวลาอบแห้ง ควรทำอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อให้ความแตกต่างของน้ำหนักตัวอย่างในการชั่งน้อยกว่า 0.0005 กรัมหรือน้อยกว่า 4% ของน้ำหนักหลังการอบก่อนหน้านี้ตามที่การทดสอบกำหนด

  - การชั่งน้ำหนัก

·  เครื่องชั่ง เครื่องชั่งที่ใช้ควรมีความละเอียดในการอ่านค่า มีการอบอุ่นเครื่องก่อนใช้งานอย่างน้อย 30 นาที ควรทำการสอบเทียบเครื่องชั่งทุกปี และทำการทวนสอบเครื่องชั่งประจำวัน (Daily check) ก่อนการใช้งาน

·  ตู้ควบคุมความชื้น ควรมี Hygrometer ที่ผ่านการสอบเทียบ ในการอ่านค่าความชื้นในตู้ เพื่อไม่ให้มีค่าความชื้นเกินค่าที่การทดสอบกำหนด

·  ห้องชั่ง ควรมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมตามที่การทดสอบกำหนด ก่อนจะทำการชั่ง

และพวกเราในส่วนของเจ้าหน้าที่ทดสอบพารามิเตอร์ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จะนำเอาเทคนิคต่างๆ จากการสัมมนาครั้งนี้ มาปรับใช้กับห้องปฏิบัติการของเรา ในการทดสอบประจำวันและในการทดสอบ PT เราก็จะสามารถประเมินตนเองได้ว่าผลการทดสอบของเรามีความคลาดเคลื่อนตามที่ได้กล่าวมาแล้วหรือไม่ ติดตามต่อไปนะคะ


หมายเลขบันทึก: 532201เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท