มีอยู่วันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่พ่อของผมกลับมาจากการนำเห็ดหลินจือไปส่งลูกค้า ก็ได้นำผ้าผืนหนึ่งมาให้ผมกับแม่ดูแล้วบอกว่า มาหาเงินกับเศษขยะกันดีกว่า ตอนนั้นผมก็งง ๆ ครับ แต่พ่อก็ให้เหตุผลที่ดีมาก ๆ เลยครับ พ่อบอกว่า "จะได้ไม่เหงา"
หลังจากนั้นอีกสองสามวัน พ่อกับแม่ของผมก็เดินทางที่ที่บ้าน "ปางตาไว" เพื่อไปเรียนการเย็บเศษผ้าเพื่อให้ออกมาเป็น "ผ้าเช็ดเครื่อง" ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
ในที่นั่นพ่อกับแม่เล่าให้ผมฟังว่า เป็นบ้านที่มีสองสามีภรรยาทำงานกันเป็นแบบอุตสาหกรรมครัวเรือน ในการผลิตผ้าเช็ดเครื่องซึ่งได้มาจาก "เศษขยะ" หรือผ้าเศษ ๆ ที่เป็นของเสียหรือของเหลือใช้จากกระบวนการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปต่าง ๆ
โดยเศษผ้าที่นำมาผลิตนั้น เป็นเศษผ้าที่ซื้อมาจากต่างประเทศ (ในประเทศไทยถูกกว้านซื้อและประมูลในหมดแล้ว) ราคากิโลกรัมละ 2 บาท สำหรับชิ้นเล็ก และ 5 บาท สำหรับชิ้นใหญ่ ซื้อมาทีก็ประมาณ 10 ตันครับ
จากนั้นก็นำมาคัดแยก เรียง แล้วก็เย็บเป็นชิ้นงานส่งเข้าโรงงาน
ราคากิโลกรัมละ 10-12 บาทครับ
1 กิโลกรัม ก็จะได้ผ้าเช็ดเครื่องหรือชิ้นงานประมาณ 10-11 ผืน ก็ตกผืนละ 1 บาท
ที่นำเรื่องนี้มาเล่าให้ทุกท่านฟังก็เพราะว่า นอกจากจะเป็นงานหลักที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผมและครอบครัวของผมแล้ว
แต่จากการที่ได้ร่วมคุยร่วมประชุมกับพี่ ๆ ทั้งสองท่าน โดยเฉพาะกับพ่อและแม่ของผมก็ดี ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึง "ประสบการณ์" และ "ความรู้" ที่ฝังลึกอย่างมากมาย
เป็นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ผมและนักวิชาการหลาย ๆ ท่านอาจจะชิดซ้ายไปเลยครับ ทั้งในเรื่องของการผลิต การตลาด การจัดส่ง การเจรจาต่อรอง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่าง ๆ กว่าจะได้ผ้าแต่ละชิ้นแต่ละถุงมาตัดเย็บที่บ้าน ช่างเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็น พี่ ๆ ทุกท่านมีประสบการณ์ที่มากล้น มากมายกว่าทฤษฎีที่ผมเคยเรียนมาเสียอีก ซึ่งจะค่อย ๆ ทยอยเล่าให้ทุก ๆ ท่านทราบในบันทึกถัดไปครับ