Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อคิดเชิงปรัชญาสำหรับนักศึกษานิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ระหัส ๕๒ ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๕๕ ...ขอให้โชคดีค่ะ


ความจริงและความดี : สองเรื่องที่สร้างสุขให้แก่ชีวิตของมนุษย์

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=110151570695093834

-----------------------------------------------------

“คำนำ”

บทความนี้เขียนขึ้นตามคำขอของคุณภาสุร์ ณ สงขลา ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการรุ่นคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ ๗๕ (รหัส ๕๒) สำหรับหนังสืออนุสรณ์ของรุ่น โดยที่คุณภาสุร์ ขอให้เขียนบทความ “เพื่อให้ข้อคิด เป็นคติและแนวทางดำเนินชีวิตในฐานะนักกฎหมายที่กำลังจะออกไปสู่สังคมแก่นักศึกษา” ผู้เขียนจึงเลือกที่จะชวนบัณฑิตใหม่ทบทวนความคิดเกี่ยวกับ “ความจริงและความดี” ซึ่งผู้เขียนตระหนักในวัยที่ชีวิตเข้าสู่วัยห้าสิบปีกว่าแล้วว่า เป็นสองเรื่องที่สร้างสุขให้แก่ชีวิตของมนุษย์

“ความจริง”

ความจริงที่มนุษย์ควรตะหนักและเข้าใจมี ๒ ส่วน กล่าวคือ (๑) ความจริงที่เป็นภาวะวิสัย (Objective Truth) และ (๒) ความจริงที่เป็นอัตวิสัย (Subjective Truth)

“ความจริงที่เป็นภาวะวิสัย” นั้น ย่อมหมายถึง เรื่องราวที่มนุษย์ไม่มีส่วนในการสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ อาทิ พระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า และตกตอนเย็น อากาศร้อนหรืออากาศหนาว พฤติกรรมของธรรมชาติอาจมีความผันแปรเพราะการุกรานของมนุษย์ต่อธรรมชาติจนโลกร้อนมากขึ้น แต่โอกาสที่น้ำจะท่วมหรือไม่ หรือแผ่นดินจะไหวหรือไม่ หรือคลื่นสึนามิจะเข้าสู่ฝั่งหรือไม่ เป็นการการทำและการตัดสินใจของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์อยู่ในธรรมชาติ มนุษย์ย่อมมีความขัดแย้งกับธรรมชาติ มนุษย์จึงต้องเข้าใจธรรมชาติ  เพื่อที่จะไม่เกิดความทุกข์จากธรรมชาติ อาทิ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะใส่เสื้อหนาวหากอาศัยอยู่ในเขตหนาว หรือเรียนรู้ที่จะใช้พัดลมหากอาศัยอยู่ในเขตร้อน

สิ่งที่เป็นธรรมชาติอีกประการหนึ่งที่มักจะลืมกันไป ก็คือ ความเป็นมนุษย์เองที่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ การที่มนุษย์จะเกิดหรือแก่หรือเจ็บหรือตาย ก็เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันหลายคน ก็เกิดสังคมของมนุษย์ ดังนั้น สังคมของมนุษย์ก็เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติเช่นกัน และเมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันใช้ทรัพยากรร่วมกัน สิ่งที่เป็นธรรมดาหรือธรรมชาติอีกประการที่ตามมา ก็คือ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์จึงต้องเรียนรู้ที่จะปรองดองระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

เมื่อทบทวนความคิดเกี่ยวกับชีวิตมาถึงตรงนี้ เราจะตระหนักใน “ความจริงที่เป็นอัตวิสัย” ซึ่งหมายถึง เรื่องราวที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นไปโดยเจตนาหรือไม่ ก็ตาม หรืออาจจะเป็นไปบนพื้นฐานของเหตุผลหรือองค์ความรู้หรือไม่ ก็ตาม ความจริงที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ย่อมมาจากกระทำของมนุษย์ นับหนึ่งจากอารมณ์หรือเหตุผลของมนุษย์ การที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งมาเรียนในรั้วธรรมศาสตร์ ก็อาจมาจากอารมณ์หรือเหตุผล เมื่อสี่ปีที่แล้ว ท่านสอบเข้ามาเรียนในคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้ สิ่งนี้ก็เป็นความจริงที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้น  แต่เมื่อวันนี้ ท่านทั้งหลายเรียนจนจบหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตจากธรรมศาสตร์ ก็เป็นความจริงที่เป็นผลงานชีวิตของท่านอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะมีนักศึกษาระหัส ๕๒ ที่ยังเรียนไม่จบ หรือรีไทร์ไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นความจริงที่แต่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นเอง อาจจะเป็นความจริงที่สร้างความสุขซึ่งเป็นความสำเร็จให้แก่ชีวิต หรือเป็นความจริงที่สร้างความทุกข์ให้แก่ชีวิต

ในการทบทวนความจริงที่แวดล้อมชีวิตของมนุษย์ เราพบว่า การใช้เหตุผลและองค์ความรู้จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสงบสุขและยั่งยืน ไม่ว่าธรรมชาตินั้นจะเป็นเรื่องของมนุษย์หรือไม่ก็ตาม เราคงไม่เปียกฝนเอาง่ายๆ หากเรามีร่มหรือเสื้อฝนติดตัวเสมอ เราคงไม่ถูกมนุษย์คนอื่นเดินชนเอาจนเจ็บตัว หากเรามีความระแวดระวังในการเดินสวนกับบุคคลอื่น เราคงจะหลบทันแม้บุคคลนั้นจะเดินเข้ามาชนเรา  ความสุขหรือความปลอดภัยในชีวิตของมนุษย์ในส่วนหนึ่งย่อมมาจาก “สติปัญญาของมนุษย์” และคุณภาพของ “ปัญญา” จะดีขึ้น หากมนุษย์มีความรู้และความเชี่ยวชาญในความรู้นั้น ส่วนเรื่องของ “สติ” นั้น ย่อมทำหน้าที่เป็น “เข็มทิศของปัญญา” การมีปัญญาในเรื่องที่ไม่สร้างสุข ก็จะไม่เกิดสุข แต่จะเป็นทุกข์ การมีปัญญาในเรื่องที่สร้างสุข ก็จะมีความสุข

การที่นักศึกษาระหัส ๕๒ ดำเนินชีวิตภายใต้ธรรมชาติมาครบ ๔ ปี ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่ก็คงเรียนจนจบตามหลักสูตรแล้วเข้าสู่ความเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต ซึ่งหมายความว่า ท่านทั้งหลายสะสมสติปัญญามาแล้วระดับหนึ่งที่จะรักษาความยุติธรรมให้แก่สังคมได้ ที่ใดมีความยุติธรรม ที่นั้นย่อมมีความสุข หากท่านทั้งหลายเคารพในหลักความยุติธรรมและใช้หลักนี้ในการรักษาสันติภาพและสันติสุขให้แก่สังคม ท่านทั้งหลายก็คือ “ของขวัญที่มีค่าที่ธรรมศาสตร์ให้แก่สังคม” แต่หากท่านมิได้ใช้กฎหมายเพื่อรับใช้สังคม กลับทำตนเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติและสังคม ท่านก็คือ “ความอับอายของธรรมศาสตร์” ในอนาคต

“ความดี”

เรื่องของความดีเป็น “ความรู้” ที่สร้างสุขให้แก่มนุษย์  ซึ่งความรู้นี้จะสร้างสุขให้แก่มนุษย์ที่มีความรู้นี้และปฏิบัติตามได้ ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะตกอยู่ในความยากลำบากโดยภัยธรรมชาติหรือโดยภัยจากมนุษย์ด้วยกันเอง ความรู้ของมนุษย์นั้นอาจถูกแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน กล่าวคือ (๑) ความรู้ในเรื่องจริง  (๒) ความรู้ในการจัดการเรื่องจริง และ (๓) ความรู้ในความดี/ความชั่วของเรื่องจริง ซึ่งประการหลังนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็น “ความรู้เชิงศีลธรรม” ซึ่งมนุษย์อาจรู้ได้โดยสามัญสำนึกตามธรรมชาติ แต่อาจ “ตายด้าน” ด้วยอารมณ์ที่คุ้นชินกับการบริโภคประโยชน์อย่างเกินส่วนเกินพอดี จึงไม่อินังขังขอบต่อการทำลายธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกันเอง แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์ที่ปฏิเสธจิตสำนึกทางศีลธรรมของตนเองพวกนี้ก็จะพ่ายแพ้ในเวลาต่อไป เพราะธรรมชาติหรือมนุษย์ที่เสียประโยชน์ก็ย่อมจะมีการตอบโต้อย่างเกินพอดีกลับมาเช่นกัน ความสุขที่ไร้ศีลธรรมจึงมักไม่ยั่งยืนและฉาบฉวย

“คำส่งท้าย”

ท่านนักศึกษาระหัส ๕๒ ทุกท่านที่ตั้งใจเรียนด้วยสติปัญญา ก็จะมีความสุขมาตลอด ๔ ปี และคงจะมีความสุขได้ในก้าวต่อไปของชีวิต และหากมีความดีเป็นเครื่องประดับ ความสุขนั้นก็คงปรากฏต่อท่านตลอดไปทั้งชีวิต หากยังมีท่านนักศึกษาระหัส ๕๒ ท่านใดที่ยังไม่จบ ก็ขอให้มีกำลังใจที่จะทบทวนว่า ปัญหาความไม่จบเกิดจากอะไร และรีบแก้ไขในปัญหานั้นบนความจริงและความดี ก็คงจะจบได้ในไม่ช้า

ผู้เขียนในฐานของผู้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของทุกท่าน และวิชาสิทธิมนุษยชนของบางท่าน ก็ขอเอาใจช่วยให้ท่านทั้งหลายเข้าใจในความจริงรอบตัวท่าน และมีจิตสำนึกที่จะทำความดี อันจะทำให้ชีวิตนักกฎหมายของท่านประสบต่อความสุขตามปรารถนาตลอดไป


หมายเลขบันทึก: 531680เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2013 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2013 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท