ชีวิตที่พอเพียง: ๑๗๗๓.รบกับใจ



          บทความเรื่อง Mental Combat เขียนโดย Matthieu Aikins ลงพิมพ์ในนิตยสาร Popular Science ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ น่าอ่านมาก  เป็นเรื่องบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นกับทหารอเมริกันที่ไปรบในอิรัก และอัฟกานิสถาน  ผมค้นบทความนี้ในGoogle ไม่พบ พบแต่ข้อมูลว่าในปี ๒๕๕๕  ทหารอเมริกันในอิรักมีจำนวนฆ่าตัวตายมากกว่าตายจากการรบดูได้  ที่นี่

          คุณไอกิ้นเขียนบทความน่าอ่านมาก เล่าประสบการณ์ตรงของตนเองที่ติดตามทหารไปในที่รบ  เขาบอกว่าตนเองตื่่นเต้นมาก แต่ทหารเฉยๆเพราะผ่านการฝึกซ้อมมาหลายครั้ง  และเมื่อลงมือปฏิบัติการรบก็ปฏิบัติได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้สมอง  เขาใช้คำว่าใช้ muscle memory

          ปัญหาคือเป็นวีรบุรุษ (และวีรสตรี) ยามศึกแต่กลับเป็นโรคจิตยามสงบ

          บทความบอกว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา  ทหารอเมริกันที่ไปรบที่อิรักและอัฟกานิสถานกว่า ๒ แสนคน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคPTSD (Post Traumatic Stress Syndrome)   เกือบ ๔ เท่าของจำนวนที่บาดเจ็บและตาย คือแม้ทหารผ่านศึกส่วนใหญ่ปรับตัวได้ดีในชีวิตปกติ  แต่มีจำนวนหนึ่งมีบาดแผลทางใจที่ลบไม่ออก  แสดงอาการออกมาเป็นอาการนอนไม่หลับ การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงในครอบครัว การหย่าร้าง ติดเหล้า ติดยาเสพติด  สัดส่วนของทหารผ่านศึกที่ปรับตัวไม่ได้นี้เพิ่มขึ้นตลอดมา

          เรื่องราวของบาดแผลทางใจจากการไปรบ มีระบุในมหากาพย์ Iliad ของมหากวีHomer  แต่ที่มีรายงานทางการแพทย์เริ่มในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในชื่อ shell shock  คือคิดว่าเกิดจากเสียงปืนใหญ่แต่ไม่ทันสิ้นสงครามก็เข้าใจใหม่ว่าเป็นบาดแผลทางอารมณ์

          ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ วงการแพทย์ก็ให้ชื่อโรคนี้ใหม่ว่าbattle fatique โรคนี้แพร่หลายขึ้นในสงครามเวียดนามจนในปี1980 จึงได้ชื่อว่าPTSD อย่างเป็นทางการ

          กองทัพอเมริกันร่วมกับ NIMH (National Institute of Mental Health) ลงทุนวิจัยในโครงการยักษ์ชื่อSTARRS ใช้เงินวิจัย ๖๕ ล้านเหรียญ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้  จะสรุปผลได้ในปีหน้า

          กองทัพไม่รอผลSTARRS แต่จัดโครงการCSF2 (Comprehensive Soldier and Family Fitness) ใช้เงิน ๑๒๕ ล้านเหรียญ ฝึกทหารให้ทนความเครียดทางอารมณ์นี้ได้ คือเวลานี้ก่อนไปรบทหารอเมริกันได้รับการฝึกครบด้าน (อารมณ์, สังคม, กายภาพ, ครอบครัว, และจิตวิญญาณ)

          กองทัพอเมริกันไปตั้งFreedom Restoration Centerที่ฐานทัพในอัฟกานิสถาน เพื่อเยียวยาบาดแผลทางใจแก่ทหารที่มีอาการPTSD โดยใช้positive psychology ในการรักษาตามแนวทางPenn Resiliency Program

          อ่านเรื่องนี้แล้ว ผมเห็นภาพยุทธภูมิในอัฟกานิสถานชัดเจนขึ้น เห็นว่าเป็นยุทธภูมิไล่ล่า ไม่ใช่การสู้รบแบบที่ทั้งสองฝ่ายมีสถานะใกล้เคียงกัน แต่เป็นการรบแบบฝ่ายหนึ่งรุกรานบ้านเมืองของอีกฝ่าย  ทหารที่มีสำนึกนี้ย่อมเกิดบาดแผลทางใจได้ง่ายกว่าคนที่จิตใจหยาบกระด้างไร้มนุษยธรรม

          ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องPTSD นี้ไว้ที่นี่


วิจารณ์  พานิช

๙ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 530731เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2013 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2013 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท