Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กลุ่มประชากรต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยกลุ่มใดบ้างที่ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพภายใต้นโยบายที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบสำหรับ พ.ศ.๒๕๕๖ ??!!


ปัญหาความไร้สัญชาติจึงยังปรากฏต่อไปสำหรับผู้ติดตามแรงงานสัญชาติพม่าที่เกิดในประเทศไทย หากการเจรจาเพื่อเชื่อมกฎหมายการทะเบียนราษฎรระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่ายังไม่ได้ทำหรือยังทำไม่สำเร็จ งานจัดการแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจึงเป็นงานที่กระทรวงแรงงานหรือกระทรวงสาธารณะสุขทำแต่เพียงลำพังมิได้ ยังต้องมีการมีส่วนร่วมอย่าง “ตระหนักรู้ในศาสตร์แห่งการจัดการประชากร” ของทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทย” และเรื่องนี้ควรจะเป็น “วาระอาเซียน” หากเราไม่ต้องการให้ประชาชนอาเซียนประสบปัญหาความไร้สัญชาติมากไปกว่านี้

นโยบายศึกษา : สิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของกลุ่มประชากรต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ เรื่องที่ ๑๓ ว่าด้วย การให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151551501683834

----

ข่าว

----

หัวข้อข่าว - รมว.สธ.เตรียมออกประกาศให้ต่างด้าว 4 กลุ่มใหญ่ในไทยทำหลักประกันสุขภาพ

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2013 เวลา 09:43 น. โดย ณัฐญา เนตรหิน  ฐานเศรษฐกิจ - ข่าวรายวัน - คอลัมน์ : ข่าวในประเทศ

http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=174391:-4-&catid=176:2009-06-25-09-26-02&Itemid=524

พาดหัวข่าว - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกประกาศกระทรวงฯ สร้างระบบประกันสุขภาพ  ให้ต่างด้าว 4 กลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งประเภทใช้แรงงาน ผู้ติดตามแรงงาน ต่างชาติที่ข้ามมารักษาที่โรงพยาบาลชายแดน และนักท่องเที่ยวที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ  พร้อมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ในเร็วๆ นี้

เนื้อข่าว - นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการในการจัดบริการสุขภาพแก่กลุ่มประชากรต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยตามมติของคณะรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าว โดยมีเป้าหมาย 4  กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1.กลุ่มแรงงานสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา 

2.กลุ่มครอบครัวที่ติดตามมาพร้อมกับผู้ใช้แรงงาน

3.ต่างด้าวที่ข้ามมารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตามแนวชายแดน  และ

4.ต่างด้าวที่เข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีประกันสุขภาพหรือยังไม่มีก็ได้

เพื่อให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ 100 เปอร์เซ็นต์  สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่าย ทั้งการรักษา การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และลดปัญหาเด็กไร้สัญชาติในประเทศด้วย ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า เรื่องที่เร่งดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็วขณะนี้มี 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่

1.การพัฒนาศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพประชากรต่างด้าวเชื่อมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงแรงงาน  และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลของแรงงานคนนั้นๆ ได้ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น 

2.การจัดบริการสุขภาพแก่กลุ่มแรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งคาดว่าจะมีผู้รอขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติประมาณ 1 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจะทำการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย  โดยการคุ้มครองสุขภาพจะมีผลตั้งแต่วันที่ทำประกันจนถึง 90 วันก่อนที่ระบบประกันสังคมจะเริ่มมีผลการคุ้มครอง และให้บริการกลุ่มที่อยู่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น ผู้ที่ทำงานในกิจการประมง เกษตรและปศุสัตว์ งานก่อสร้าง  ผู้รับใช้ในบ้าน และกิจการอื่นๆ ต้องได้รับการตรวจสุขภาพและซื้อหลักประกันสุขภาพอายุคุ้มครองเป็นเวลา 1 ปีด้วย

3.การวางรูปแบบการทำหลักประกันสุขภาพให้โรงพยาบาลที่อยู่ตามแนวชายแดน เพื่อส่งเสริมให้ต่างด้าวที่เดินทางข้ามแดนมาใช้บริการรักษาพยาบาลซื้อหลักประกันสุขภาพทุกคน  และ

4.หารูปแบบการประกันสุขภาพกลุ่มที่เข้าประเทศโดยถูกกฎหมาย เช่น ต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย แต่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ  ได้มอบหมายให้นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางระบบให้สมบูรณ์แบบโดยเร็ว

ด้านนายแพทย์ชาญวิทย์  ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการด้านสาธารณสุขในประชากรต่างด้าวซึ่งมีหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการและแนวทางการตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพประชากรต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2556 ดังนี้ 

1.กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะเรียกเก็บค่าบริการตรวจสุขภาพ เช่น เอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือด 600 บาท และค่ารักษาพยาบาล 3 เดือนแรกที่กองทุนประกันสังคมยังไม่ครอบคลุม และค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

2.กลุ่มแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและผู้ติดตามเรียกเก็บรายละ 1,900 บาท แบ่งเป็นค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1 ปีรายละ 1,300 บาท ซึ่งประกันสุขภาพทุกแบบจะคุ้มครองทันทีนับตั้งแต่วันที่ซื้อประกัน สำหรับต่างด้าวที่คลอดบุตรในประเทศไทย เด็กทารกที่เกิดมาจะต้องทำบัตรประกันสุขภาพและมีสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวแต่ละคนด้วย  เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนตามเกณฑ์เช่นเดียวกับเด็กไทยเช่น การรับวัคซีนป้องกันโรคตามช่วงอายุ เป็นต้น  โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพต่างด้าวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติขยายการตรวจสุขภาพเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ สถานการณ์แรงงานต่างชาติ  ขณะนี้คาดว่าจะมีกลุ่มคนต่างด้าวพร้อมครอบครัวและบุตรอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ขึ้นทะเบียนใช้แรงงานในและนอกระบบประกันสังคมรวม 2-3 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นแรงงานผู้หญิงประมาณ 1-1.6 ล้านคน ผลการตรวจสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2554 พบต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา เป็นโรคติดต่อที่ต้องติดตามรักษาให้หายขาด เช่น มาลาเรีย วัณโรค ประมาณร้อยละ 1 และพบหญิงต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานตั้งครรภ์จำนวน 18,355 คน คิดเป็นร้อยละ 1.47-1.75 ของหญิงต่างด้าวทั้งหมด หากไม่มีระบบควบคุมใดๆ คาดว่าจะมีต่างด้าวตั้งครรภ์ปีละประมาณ 16,000-24,000 คน คลอดปีละประมาณ 10,000-20,000 คน และจะมีเด็กไร้สัญชาติสะสมในประเทศไทยประมาณ 4-5 แสนคน นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว

-------------------------

คำบ่นของอาจารย์แหวว

--------------------------

  เป็นข่าวที่สร้างความปิติสำหรับนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมากทีเดียว ที่เห็นรัฐไทยมีมุมมองที่เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขมากทีเดียว ดังจะเห็นว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและผู้ติดตามทั้งหมด อันทำให้ “ประชุมคณะกรรมการอำนวยการด้านสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว” ต้องยกร่าง “มาตรการและแนวทางการตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพประชากรต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2556[1] ซึ่งการให้บริการสาธารณสุขบนความจริงในลักษณะนี้ย่อมจะยั่งยืนมากกว่า ดังนั้น การยอมรับความจริงเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยดังที่เป็นอยู่น่าจะสร้างความมั่นคงแห่งชาติได้มากกว่าการปิดตาตัวเองต่อเรื่องจริง

แนวคิดที่จะส่งแรงงานท้องกลับประเทศต้นทางนั้นจึงเป็นแนวคิดที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง แต่แนวคิดที่จะดูแลแรงงานท้องตลอดการป้องกันมิให้บุตรของแรงงานที่เกิดในประเทศไทยไม่ตกเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติจึงเป็นวิสัยทัศน์ที่น่ายกย่อง

การประชุมคณะกรรมการอำนวยการด้านสาธารณสุขในประชากรต่างด้าวบังคับสำหรับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรนั้น อาจสร้างช่องโหว่ในเรื่องการป้องกันเด็กไร้รัฐทีเดียว

ลองจินตนาการฉากทัศน์ (Scenario) ในอนาคตดูเลยว่า หากแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย (ซึ่งในปัจจุบัน ท่านเรียกพวกเขาว่า “Irregular Worker”) เข้าสู่กระบวนการปรับสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Regularisation of Legal Personality) จนกลายเป็นแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมาย (ซึ่งในปัจจุบันท่านเรียกพวกเขาว่า “Regular Worker”) มีบุตรที่เกิดในประเทศไทย และโรงพยาบาลไทยก็ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้ หรืออาจเลยไปจนมีการบันทึกบุตรดังกล่าวในทะเบียนบ้านกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและให้เลขประจำตัวประชาชนด้วยก็ได้ แต่บุตรดังกล่าวไม่ถูกแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในสถานะคนสัญชาติพม่า อะไรจะเกิดขึ้น ?  แม้จะมีชื่อในทะเบียนบ้านกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ก็ไม่หมายความว่า เด็กเหล่านี้จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติในสถานะคนสัญชาติไทย

ปัญหาความไร้สัญชาติจึงยังปรากฏต่อไปสำหรับผู้ติดตามแรงงานสัญชาติพม่าที่เกิดในประเทศไทย หากการเจรจาเพื่อเชื่อมกฎหมายการทะเบียนราษฎรระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่ายังไม่ได้ทำหรือยังทำไม่สำเร็จ งานจัดการแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจึงเป็นงานที่กระทรวงแรงงานหรือกระทรวงสาธารณะสุขทำแต่เพียงลำพังมิได้ ยังต้องมีการมีส่วนร่วมอย่าง “ตระหนักรู้ในศาสตร์แห่งการจัดการประชากร” ของทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทย” และเรื่องนี้ควรจะเป็น “วาระอาเซียน” หากเราไม่ต้องการให้ประชาชนอาเซียนประสบปัญหาความไร้สัญชาติมากไปกว่านี้

------------------------------------------------------------

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ เรื่องที่ ๑๓ ว่าด้วย การให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

------------------------------------------------------------

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ มีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักในการที่ให้การดูแลทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง โดยให้เป็นไปตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับที่ สธ. จะได้กำหนดร่วมกับกระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ (พม.) ในการที่ให้การดูแลการบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และอนามัยเจริญพันธุ์ในแรงงานต่างด้าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ

-----------------------

สาระสำคัญของเรื่อง

-----------------------

กระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า

1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (12 มิถุนายน 2555) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร ต่อไปอีกจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เพื่อเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ โดยให้ สธ. ดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้มีประกาศเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กัมพูชา และพม่า ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว โดยยกเว้นไม่ขึ้นทะเบียนกรณีเป็นลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย กรณีเป็นลูกจ้างและนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล กรณีลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย กรณีเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย กรณีเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

2. นโยบายรัฐบาลด้านแรงงานเกี่ยวกับการให้การคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน และดูแลหลักประกันความมั่นคงในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน การปรับปรุงแนวทางการขยายความคุ้มครอง และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการประกันตนของแรงงานนอกระบบรวมทั้งการเตรียมการรองรับการเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 โดยเน้นระบบบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ จัดระบบอำนวยความสะดวก และมาตรการการกำกับดูแล ติดตามการเข้าออกของแรงงานทุกประเภท สธ. จึงเห็นความจำเป็นของการจัดการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และสามารถป้องกันควบคุมโรคที่มากับแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ



[1]http://fwfos.cfo.in.th/Portals/8/download/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%872556_12%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A156.pdf


หมายเลขบันทึก: 530534เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2013 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท