จิตติ์ ดวงบุปผาวงค์
พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย มาตย์วงค์

การฝึกสมาธิ


ในการศึกษาเล่าเรียนรวมไปถึงการดำเนินชีวิต ของคนเรายุคปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรา รู้ตื่น ตลอดเวลา คือการฝึกให้ตนมีสมาธิ อยู่ตลอดเวลา

ในการจัดการศึกษายุคใหม่เช่นกัน ต้องมุ่งสร้างองค์ความรู้ ที่รู้ตื่น เบิกบาน โดยเฉพาะว่าที่ ครู (ศึกษาศาสตร์) โดยได้เข้าบรรยาย ในรายวิชา การปฏิบัติกรรมฐาน ศึกษาศึกษาศาสตร์ (การสอนภาษาไทย และการสอนภาษาอังกฤษ) สรุปใจความดังนี้

.๑  ความหมายของสมาธิ    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ. ศ ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของสมาธิไว้ว่า “ความตั้งมั่นให้จิต ; ความสำรวมใจให้แน่วแน่เพื่อเพ่งเล็งในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยพิจารณาอย่างเคร่งเครียดเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสิ่งนั้น” (พจณานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ ๒๕๒๕: ๘๐๐) พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)  อธิบายความหมายของสมาธิไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่า “ สมาธิ แปล กันว่า ความตั้งมั่นของจิตหรือภาวะที่จิตใจแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด คำจำกัดความของสมาธิที่พบเสมอคือ ‘จิตตัสเส กัคคตา’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘เอกัคคตา’ ซึ่งแปลว่า ภาวะจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งส่านหรือส่ายไป”  (พระราชวรมุนี ๒๕๒๕ ก : ๘๒๔)

             ส่วนคัมภีร์วิสุทธิมรรคให้คำจำกัดความว่า “ความมีอารมณ์อันเดียวแห่งจิตเป็นกุศล เป็นสมาธิ” นอกจากนี้ยังได้อธิบายลักษณะ รสปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานแห่งสมาธิไว้ว่า  “สมาธิมีความไม่ซัดส่ายเป็นลักษณะ มีความกำจัดความซัดส่ายเป็นรส มีความไม่หวั่นไหว เป็นปัจจุปัฏฐาน ส่วนปทัฏฐานแห่งสมาธินั้นคือความสุข ตามพระบาลีว่า จิตของผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่นดังนี้” (วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ ๒๕๒๘: ๒-๓)

              จากความหมายและคำจำกัดความที่ยกมานี้ ทำให้เข้าใจความหมายของสมาธิว่า หมายถึง ภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียว  แน่วแน่ต่ออารมณ์เดียวหรือภาวะที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับอารมณ์อันหนึ่ง ซึ่งอารมณ์ในที่นี้แตกต่างจากความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไปในภาษาไทย กล่าวคือ หมายถึงสิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยว จะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจก็ตาม อารมณ์ในที่นี้จึงหมายถึงอารมณ์ ๖  ซึ่งได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ที่มากระทบ หรือที่เรารับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดั้งนั้นอารมณ์ ๖ จึงได้แก่อายตนะภายนอก ๖ ส่วน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายใน ๖ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ ๖ เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง เช่น ตาเป็นใหญ่ในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน เป็นต้น (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ ๒๕๒๕ ๓o๑ )

             .๒  หลักการของการฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิก็คือการใช้อารมณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นเครื่องฝึกหัดให้จิตกำหนด เพื่อให้จิตอยู่ในความควบคุมสมารถจับอยู่กับอารมณ์อันนั้นอันเดียวได้ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เลื่อนลอยไปหาอารมณ์อื่น วัตถุ สิ่ง หรืออารมณ์ที่จะเอามาให้จิตกำหนดนี้เป็นอะไรก็ได้แต่ให้เป็นกลางๆ คือ ไม่ล่อให้จิตคิดปรุงแต่งซึ่งโดยมากจะใช้สิ่งดีงาม หรือ สิ่งที่เป็นกลางๆ

             สิ่งดีงาม เช่น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงค์ ความเมตตากรุณา ซึ่งเอามาใช้เป็นอารมณ์หรือสิ่งที่จิตเกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวได้ นอกจากสิ่งดีงามที่กล่าวแล้ว ก็อาจใช้สิ่งกลางๆ คือ สิ่งที่ไม่ได้มีความหมายทางบวก หรือทางลบ เช่น ลมหายใจซึ่งเป็นกลางๆ หรือแม้แต่วัตถุสีเขียว สีแดงไฟ  แสงสว่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เมื่อเอามาให้จิตกำหนด ก็ทำให้จิตกำหนดจับแน่วแน่ พยายามให้จิตอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งเดียว ไม่เลื่อนลอย ไม่ฟุ้งซ่านไปหาอารมณ์อื่น ถ้าหากทำให้จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้นสิ่งเดียวได้สำเร็จ เรียกว่า การฝึกสมาธิ

             หลักการของการฝึกสมาธิจึงขึ้นอยู่ที่ว่า ทำอย่างรึงจะให้จิตมารวมเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่ามีอารมณ์หนึ่งเดียว ทำให้จิตกำหนดจับอยู่กับสิงเดียว คิดอยู่เรื่องเดียว ในแง่หนึ่งเหมือนกันว่าสามารถควบคุมบังคับจิตได้ ซึ่งความจริงมันก็เป็นไปได้เอง หลักการของการฝึกสมาธิจึงรวมเป็นแนวเดียวส่วนรูปแบบจะมีกี่รูปแบบก็ได้ (รูปแบบของการฝึกสมาธิจะกล่าวถึงในบทที่ ๒)

             .๓  สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ  สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นปฏิปักษ์เป็นศัตรูของสมาธิ เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเสียจึงจะเกิดสมาธิได้ หรือจะพูดว่าเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเสียด้วยด้วยสมาธิก็ได้ สิ่งเหล่านี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า นิวรณ์ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปุยุตฺโต) ให้ความหมายของนิวรณ์ไว้ดังนี้

              นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกีดกั้น เครื่องขัดขวาง แปลเอาความตามหลักวิชาว่า สิ่งที่กีดกั้นการทำงานของจิต สิ่งที่ขัดขวางความดีของจิต สิ่งที่ทอนกำลังปัญญา หรือแสดงความหมายให้เป็นวิชาการยิ่งขึ้นว่า สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลกรรม ธรรมฝ่ายชั่วที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี หรือกุศลกรรมที่ทำให้จิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง (พระราชวรมุนี ๒๕๒๕ ก : ๘๒๘)

             คำอธิบายลักษณะของนิวรณ์ที่เป็นพุทธพจน์มีว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกั้น เป็นเครื่องห้าม ๕ อย่าง เหล่านี้ครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทราม…”  (พระไตรปิฎก   เล่มที่ ๑๙   ๒๕๒๕  :  ๑๒๕)   “ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ กระทำให้มืด กระทำไม่ให้มีจักษุ กระทำไม่ให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความดับปัญญา เป็นไปในความฝักใฝ่แห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน…” (พระไตรปิฎก  เล่มที่  ๑๙  ๒๕๒๕ : ๑๒๕)

      นิวรณ์ มี ๕ อย่าง คือ

                     ๑.๓.๑  กามฉันทนิวรณ์ ความพอใจในกาม หรืออภิชฌา ความเพ็งเล็งอยากได้ หมายถึงความอยากได้กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นกิเลสพวกโลภะ จิตที่ถูกล่อด้วยอารมณ์ต่างๆ คิดอยากได้โน่น อยากได้นี่ ติดใจโน่น ติดใจนี่ คอยเขวออกไปหาอารมณ์อื่น ครุ่นข้องอยู่ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่เดินเรียบไป ไม่อาจเป็นสมาธิได้

                   ๑.๓.๒  พยาบาทนิวรณ์ ความขัดเคืองแค้นใจ  ได้แก่ ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง ความผูกใจเจ็บ การมองในแง่ร้าย การคิดร้าย มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู ตลอดจนความโกธร ความหงุดหงิด ฉุนเฉียว ความรู้สึกขัดใจ ไม่พอใจต่างๆ จิตที่มัวกระทบนั่นกระทบนี่ สะดุดนั่น สะดุดนี่ เดินไม่เรียบไม่ไหลเนื่อง ย่อมไม่อาจเป็นสมาธิ

                    ๑.๓.๓  ถีนมิทธนิวรณ์  ความหดหู่ และเซื่องซึม หรือเซ็งและซึม แยกเป็น ถีนะ ความหดหู่ ห่อเหี่ยว ถดถอย ระย่อ ท้อแท้ ความซบเซาเหงาหงอย ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิต กีบ มิทธะ ความเซื่องซึม เฉื่อยเฉา ง่วงเหงาหาวนอน โงกง่วง อืดอาด มึนมัว ตื้อตัน อาการซึม ๆ  เฉาๆ ที่เป็นไปทางกาย จิตที่ถูกอาการทางกาย และทางใจอย่างนี้ครอบงำ  ย่อมไม่เข้มแข็ง ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะแก่การใช้งาน จึงไม่อาจเป็นสมาธิได้

                    ๑.๓.๔  อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์  ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ แยกเป็น อุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่าย พร่าพล่านไป กับ กุกกุจจะ ความวุ่นวายใจ รำคาญใจ เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำย่อมพล่าน  ย่อมคว้างไป ไม่อาจสงบลงได้จึงไม่เป็นสมาธิ

                    ๑.๓.๕  วิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลสงสัย ได้แก่ความเคลือบแคลง   ไม่แน่ใจ สงสัย เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม พระสงค์ เกี่ยวกับ สิกขา เป็นต้น พูดสั้นๆ ว่า คลางแคลงในกุศลกรรมทั้งหลาย ตัดสินใจไม่ได้ เช่นว่า ธรรมนี้ (สมาธิภาวนานี้ ฯลฯ) มีคุณค่า มีประโยชน์แก่การปฏิบัติหรือไม่  จะได้ผลจริงหรือไม่  คิดแยกไปสองทาง กำหนดไม่ลง  จิตที่ถูกวิจิกิจฉารัดไว้กวนให้ค้างให้พร่าลังเลอยู่  ย่อมไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิ (พระไตรปิฎก  เล่มที่  ๑๙   ๒๕๒๕ : ๘๙ ; พระราชวรมุนี ๒๕๒๕   ก :   ๘๒๘-๘๓0 )

       ๑.๔  ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ  จิตที่เป็นสมาธิหรือมีคุณภาพดี มีสมรรถภาพสูง  มีลักษณะดังนี้

                   ๑.๔.๑  แข็งแรง มีพลังมาก  ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่ากระจายออกไป

                    ๑.๔.๒  ราบเรียบ สงบซึ้ง  เหมือนสระหรือบึงน้ำใหญ่ที่มีน้ำนิ่งไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว

                    ๑.๔.๓ ใส กระจ่าง มองเห็นอะไร ๆ  ได้ชัด เหมือนน้ำสงบนิ่ง  ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอนนอนก้นหมด

                    ๑.๔.๔  นุ่มนวลควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง  ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร้าร้อน  ไม่กระวน กระวาย (พระราชวรมุนี  ๒๕๒๕  ก  :  ๘๓0)

              ไวพจน์ที่แสดงความหมายของสมาธิคำหนึ่งคือ เอกัคคตา  แปลว่า  ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว แต่ถ้าว่าตามรูปศัพท์ จะเห็นลักษณะของจิตที่คล้ายกับในข้อแรก คือ เอกัคคตา =  เอก + อัคค + ตา (ภาวะ)  คำว่า อัคคะ ในที่นี้ท่านให้แปลว่า  อารมณ์  แต่ความหมายเดิมแท้ก็คือ จุดยอด หรือจุดปลาย โดยนัยนี้จิตเป็นสมาธิก็คือจิตที่มียอดหรือจุดปลายเดียว ซึ่งย่อมมีลักษณะแหลม พุ่งแทงทะลุสิ่งต่างๆ ไปได้ง่าย

              จิตที่เป็นสมาธิขึ้นสมบรูณ์ เฉพาะอย่างยิ่งสมาธิถึงขั้นฌาน พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า จิตประกอบด้วยองค์ ๘ คือ  (๑) ตั้งมั่น   (๒) บริสุทธิ์   (๓) ผ่องใส   (๔) โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา    (๕) ปราศจากสิ่งมัวหมอง   (๖) นุ่มนวล   (๗) ควรแก่งาน    (๘) อยู่ตัวไม่วอกแวก หวั่นไหว ซึ่งองค์ ๘ นั้น ท่านนับจากคำบรรยายที่พุทธพจน์ว่า   “เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ   บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส   อ่อน  ควรแก่งาน  ตั้งมั่นถึงความไม่วอกแวกหวั่นไหว  อย่างนี้  ย่อมโน้มจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ…” (พระไตรปิฎก  เล่มที่   ๑๒  ๒๕๒๕ :  ๒๙ )  ท่านว่าจิตที่มีองค์ประกอบเช่นนี้เหมาะแก่การนำเอาไปใช้ได้ดีที่สุด  ไม่ว่าจะเอาไปใช้งานทางปัญญา  พิจารณาให้เกิดความรู้เข้าใจถูกต้องชัดแจ้ง หรือใช้ในทางสร้างพลังจิต ให้เกิดอภิญญาสมาบัติอย่างใดๆก็ได้

       ๑.๕  ระดับของสมาธิ   ในชั้นอรรถกถาท่านจัดแยกสมาธิออกเป็น ๓ ระดับ คือ

                  ๑.๕.๑  ขณิกสมาธิ   สมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิขั้นต้น  ซึ่งคนทั่วไปอาจใช้ประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่การงานในชีวิตประจำวันให้ได้ผลดี และจะได้เป็นจุดตั้งต้นในการเจริญวิปัสสนาก็ได้

                    ๑.๕.๒  อุปจารสมาธิ  สมาธิเฉียดๆ หรือสมาธิจะแน่วแน่เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน หรทอสมาธิใน บุพภาคแห่งอัปปนาสมาธิ

                    ๑.๕.๓  อัปปนาสมาธิ  สมาธิแน่วแน่  หรือสมาธิที่แนบสนิท เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่งมีฌานทั้งหลาย ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ  (พระราชวรมุนี  ๒๕๒๕  ก : ๘๒๖)

              อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ มีกล่าวถึงบ่อยๆ ในคำอธิบายเกี่ยวกับการเจริญกรรมฐาน  และมีที่กำหนดค่อนข้างชัดเจน คือ อุปจารสมาธิ  เป็นสมาธิเมื่อจิตตั้งมั่นโดยละนิวรณ์ทั้ง  ๕  ได้ ถ้ามองในแง่การกำหนดอารมณ์กรรมฐานก็เป็นช่วงที่เกิดปฏิภาคนิมิต  (ภาพที่มองเห็นในใจของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน  ซึ่งประณีตลึกซึ้งเลยจากขั้นที่เป็นภาพติดตาไปอีกขั้นหนึ่ง)  เป็นสมาธิจวนเจียนจะแน่วแน่โดยสมบรูณ์ ใกล้จะถึงฌาน  มีชำนิชำนาญคุ้นดีแล้วก็จะแน่วแน่กลายเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นองค์แห่งฌานต่อไป  แต่สมาธิอย่างแรก คือ ขณิกสมาธิ  ดูเหมือนจะไม่มีเครื่องกำหนดหมายที่ชัดเจนและไม่มีกล่าวถึงในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ดังข้อความว่า  “ สมาธินั้นก็มีเพียงสองอย่างเท่านั้น  ซึ่งเป็นสมาธิที่ประสงค์เอาในที่นี้คือ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ …”  (วิสุทธิมรรคแปล ภาค  ๒  ตอน  ๒  ๒๕๒๘ :  ๗๙  ) แต่ในคัมภีร์ปรมัตถมัตถมัญชุสา กล่าวว่า มูลสมาธิ (สมาธิขั้นมูล  สมาธิเบื้องต้น หรือ สมาธิต้นเค้า )  และบริกรรมสมาธิ (สมาธิขั้นตระเตรียม หรือเริ่มลงมือ ) ที่กล่าวถึงในคัมภีร์วิสุทธิมรรค  เป็นขณิกสมาธิ (พระราชวรมุนี  ๒๕๒๕  ก  : ๘๒๗ )

      ๒.  อิทธิบาท ๔ ในฐานะเป็นตัวสำคัญในการสร้างสมาธิ

              อิทธิบาท แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ (ฤทธิ์หรือความสำเร็จ)   หรือธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ หรือแปลง่ายๆว่า  ทางแห่งความสำเร็จมี ๔ อย่างคือ  ฉันทะ-ความพอใจ   วิริยะ-ความเพียร  จิตตะ-ความคิดจดจ่อ  และ วิมังสา-ความสอบสวนไตร่ตรอง  แปลให้จำง่ายตามลำดับว่า  มีใจรักพากเพียรทำ  เอาจิตฝักใฝ่ใช้ปัญญาสอบสวน

              อิทธิบาทนั้นพระพุทธเจ้าตรัสพัวพันไว้กับเรื่องสมาธิ  เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิและนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ  สมาธิเกิดจากอิทธิบาทข้อใด  ก็มีชื่อเรียกตามอิทธิบาทข้อนั้น  ดังพุทธพจน์ที่ปรากฏในฉันทสูตร สังยุตตนิกาย มหาวรรค  ว่า

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะแล้วได้สมาธิ  ได้เอกัคคตาจิตนี้ เรียกว่า ฉันทสมาธิ  เธอยังฉันทะให้เกิด  พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้  ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่งๆขึ้นไป  เพื่อความไพบูรณ์ เพื่อความเจริญ บริบูรณ์แห่งกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร ฉันทะนี้ด้วย  ฉันทสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาท  ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร

              ...ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะแล้ว ได้สมาธิ ...  นี้เรียกว่า  วิริยสมาธิ ... ฯลฯ  เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว  เหล่านี้เรียกว่า  ปธานสังขาร   วิริยะนี้ด้วย  วิริยสมาธินี้ด้วยและปธานสังขารเหล่านี้ด้วย  ดังพรรณนามานี้ นี้เรียกว่า อิทธิบาท  ประกอบด้วย วิริยสมาธิ  และปธานสังขาร

              ... ถ้าภิกษุอาศัยจิตตะแล้ว ได้สมาธิ...  นี้เรียกว่า  จิตตสมาธิ ...ฯลฯ  เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว  เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร  จิตนี้ด้วย  จิตสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย  ดังพรรณนามานี้  นี้เรียกว่า อิทธิบาท  ประกอบด้วยจิต  สมาธิและปธานสังขาร

              ... ถ้าภิกษุอาศัยวิมังสาแล้ว  ได้สมาธิ...  นี้ เรียกว่า  วิมังสาสมาธิ ... ฯลฯ  เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้  เรียกว่า ปธานสังขาร  วิมังสานี้ด้วย  วิมังสาสมาธินี้ด้วย  และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย  ดังพรรณนามานี้  นี้เรียกว่า  อิทธิบาท  ประกอบด้วย วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร  (พระไตรปิฎก  เล่มที่  ๑๙    ๒๕๒๕    : ๒๘๐ – ๒๘๑ )

              จากพุทธพจน์ที่ยกมานี้  จึงมีสมาธิ  ๔  ข้อ  คือ

                     (๑)  ฉันทสมาธิ-สมาธิที่เกิดจากฉันทะ  หรือสมาธิที่มีสันทะเป็นใหญ่

                     (๒) วิริยสมาธิ-สมาธิที่เกิดจากวิริยะ   หรือสมาธิที่มีวิริยะเป็นใหญ่

                     (๓)  จิตตสมาธิ-สมาธิที่มีจิตตะ    หรือสมาธิที่มีจิตตะเป็นใหญ่

                     (๔)  วิมังสาสมาธิ-สมาธิที่เกิดจากวิมังสา   หรือสมาธิที่มีวิมังสาเป็นใหญ่

              สมาธิเหล่านี้จะเกิดควบคู่ไปด้วยกันกับความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า ปธานสังขาร  แปลว่า สังขารที่เป็นตัวความเพียร  หรือความเพียรที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง แปลง่ายๆ ว่า ความเพียรที่เป็นแรงสร้างสรรค์  หรือความเพียรสร้างสรรค์

              สมาธิเกิดจาก  ฉันทะ วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา  หรือเกิดจากความมีใจรัก  พากเพียรทำ  เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน  ได้อย่างไร  มีแนวความเข้าใจดังนี้

         ๒.๑   ฉันทสมาธิ   สมาธิเกิดจากฉันทะ  ฉันทะ  แปลว่า ความพอใจ ได้แก่ความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจ ใฝ่รักในจุดหมายของสิงที่ทำนั้น อยากทำสิ่งนั้นๆให้สำเร็จ   อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุถึงจุดหมาย พูดง่ายๆ    ว่ารักงาน และรักจุดหมายของงาน  พูดให้ลึกลงไปในทางธรรมว่าความรักความใฝ่ใจปรารถนาต่อภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบรูณ์ ซึ่งเป็นจุดหมายของสิ่งที่กระทำ หรือซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการกระทำนั้น อยากให้สิ่งนั้นๆ  เข้าถึงหรือดำรงอยู่ในภาวะที่งดงามที่ประณีต  ที่สมบูรณ์ที่สุดของมัน  หรืออยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ ของงานนั้นอาจมีเป็นจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายที่ดีงามนั้น

            ความอยากที่เป็นฉันทะนี้เป็นคนละอย่างกันกับความอยากได้สิ่งนั้นๆ มาเสพเสวย  หรืออยากเอามาเพื่อตัวตนในรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นตัณหา  ความอยากของฉันทะนั้นให้เกิดความสุขชื่นชมเมื่อเห็นสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ บรรลุความสำเร็จเข้าถึงความสมบรูณ์ อยู่ในภาวะอันดีงามของมัน  หรือพูดแยกออกไปว่า ขณะเมื่อสิ่งนั้นหรืองานนั้นกำลังเดินหน้าไปสู่จดหมาย ก็เกิดปีติ  เป็นความเอิบอิ่มใจ  ครั้นสิ่งหรืองานที่ทำบรรลุจุดหมาย ก็ได้รับโสมนัส เป็นความฉ่ำชื่นใจที่พร้อมด้วยความรู้สึกโปร่งโล่ง ผ่องใสเบิกบานแผ่ออกไปเป็นอิสระไร้ขอบเขต ส่วนความอยากของตัณหาให้เกิดความสุขความชื่นชมเมื่อได้สิ่งนั้นมาให้ตนเสพเสวยรสอร่อยหรือปรนเปรอความยิ่งใหญ่พองขยายของตัวตน เป็นความฉ่ำชื่นใจ ที่เศร้าหมองหมกหมักตัว กีดกั้นกักตนไว้ในความคับแคบ  และมักติดตามมาด้วยความหวงแหนห่วงกังวล  เศร้าเสียดายและหวั่นกลัวหวาดระแวง

              ถ้าสามารถปลุกเร้าให้ฉันทะเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า เกิดความรักในคุณค่าความดีงาม  ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น   หรือจุดหมายอย่างเต็มที่แล้ว คนก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจอุทิศให้แก่สิ่งนั้น เมื่อรักแท้ก็มอบใจให้อาจถึงขนาดยอมสละชีวิตเพื่อสิ่งนั้นได้  เจ้า ขุนนาง เศรษฐี  พราหมณ์  คนหนุ่มสาวมากมายในสมัยพุทธกาลยอมสละวัง ทรัพย์สมบัติ  และโลกามิสมากมายออกมาบวช ก็เพราะเกิดฉันทะในธรรม เมื่อได้สดับซาบซึ้งคำสอนของพระพุทธเจ้า  แม้คนทั้งหลายที่ทำงานด้วยใจรักก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีฉันทะนำแล้วก็ต้องการทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดให้สำเร็จผลอย่างดีที่สุดของสิ่งนั้นของงานนั้น  ไม่ห่วงพะวงกับสิ่งล่อเร้า หรือผลตอบแทนทั้งหลาย จิตใจก็มุ่งแน่วแน่มั่นคงในการดำเนินสู่จุดหมาย  เดินเรียบสม่ำเสมอ ไม่ซ่านไม่ส่าย ฉันทสมาธิจึงเกิดขึ้นโดยนัยนี้ และพร้อมกันนั้นปธานสังขาร  คือ ความเพียรสร้างสรรค์ย่อมเกิดควบคู่มาด้วย

              ๒.๒ วิริยสมาธิ  สมาธิเกิดจากวิริยะ  วิริยะแปลว่า  ความเพียร ได้แก่ความอาจหาญ  แกล้วกล้า บากบั่น ก้าวไป  ใจสู้  ไม่ย่อท้อไม่หวั่นกลัว ต่ออุปสรรคและความอยากลำบาก  เมื่อคนรู้ว่าสิ่งใดมีคุณค่าควรแก่การบรรลุถึง ถ้าวิริยะเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว เมื่อได้ยินว่าจุดหมายนั้นจะบรรลุถึงได้ยากนัก มีอุปสรรคมาก  หรืออาจใช้เวลายาวนานเท่านั้นปี เท่านี้เดือน เขาก็ไม่ท้อถอย กลับเห็นเป็นสิ่งท้าทายที่เขาจะเอาชนะให้ได้  ทำให้สำเร็จเช่นนักบวช นอกศาสนาหลายท่านในสมัยพุทธกาล เมื่อสดับพุทธธรรมแล้วเลื่อมใส  ขอบรรพชาอุปสมบท  ครั้นได้รับทราบว่า ผู้เคยเป็นนักบวชนอกศาสนาจะต้องประพฤติวัตรทดสอบตนเองก่อน เรียกว่า อยู่ปริวาส (ติตถิยปริวาส) เป็นเวลา  ๔ เดือน  ใจก็ไม่ท้อถอย  กลับกล้าเสนอตัวประพฤติวัตรทดสอบเพิ่มเป็นเวลานานถึง ๔ ปี  ท่านเหล่านี้ เช่น ท่านอเจลกัสสป  ซึ่งเรื่องของท่านปรากฏอยู่ในอเจลกัสสปสูตร  สังยุตตนิกาย  นิทานวรรค  พระไตรปิฎก  เล่มที่  ๑๖

              นอกจากนี้ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๑๓ ก็มีปรากฏอีก ๓ ท่าน คือ ท่านเสนิยะอเจละ ปรากฏในกุกกุโรวาทสูตร   ท่านวัจฉโคตตปริพาชก   ปรากฏในมหาวัจฉโคตตสูตร  และ  ท่านมาคัณฑิยปริพาชก  ปรากฏในมาคัณฑิยสูตร  เป็นต้น

              ส่วนผู้ขาดความเพียรอยากบรรลุความสำเร็จเหมือนกัน  แต่พอได้ยินว่าต้องใช้เวลานานเป็นปีก็หมดแรง ถอยหลัง ถ้าอยู่ในระหว่างปฏิบัติก็ฟุ้งซ่าน  จิตใจวุ่นวาย ปฏิบัติได้ผลยาก คนที่มีความเพียร เท่ากับมีแรงหนุนเวลาทำงาน หรือปฏิบัติธรรมก็ตาม จิตใจจะแน่วแน่มั่นคง  มุ่งตรงต่อจุดหมาย  สมาธิก็เกิดขึ้นได้  เรียกว่าเป็นวิริยสมาธิ  พร้อมทั้งมีปธานสังขาร คือ ความเพียรสร้างสรรค์เข้าประกอบคู่ไปด้วยกัน

              ๒.๓  จิตตสมาธิ   สมาธิที่เกิดจากจิตตะ จิตตะ  แปลว่า  ความคิดจดจ่อหรือเอาใจฝักใฝ่  ได้แก่  ความมีใจผูกพัน จดจ่อ เฝ้าคิดเรื่องนั้นใจอยู่กับงานนั้น ไม่ปล่อย ไม่ห่างไปไหน  ถ้าจิตตะเป็นไปอย่างแรงกล้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง  คนผู้นั้นจะไม่สนใจไม่รับรู้เรื่องอื่นๆ  ใครพูดอะไรเรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ  แต่ถ้าพูดเรื่องงานนั้นจะสนใจเป็นพิเศษทันที  บางทีจัดทำเรื่องนั้น งานนั้น ขลุกง่วนอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่เอาใจใส่ร่างกาย  การแต่งเนื้อแต่งตัว อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่สนใจ  เรื่องอื่นเกิดขึ้นใกล้ๆบางทีก็ไม่รู้ ทำจนลืมวันลืมคืน ลืมกินลืมนอน

              ความมีใจฝักใฝ่จดจ่อเช่นนี้ย่อมทำให้สมาธิเกิดขึ้น จิตจะแน่วแน่แนบสนิทในกิจที่ทำ มีกำลังมากเฉพาะสำหรับกิจนั้น เรียกว่าเป็นจิตตสมาธิ พร้อมกันนั้นก็เกิดปธานสังขาร  คือ เกิดความเพียรสร้างสรรค์ร่วมสนับสนุนไปด้วย

               ๒.๔  วิมังสาสมาธิ  สมาธิที่เกิดจากวิมังสา  วิมังสา แปลว่า ความสอบสวนไตร่ตรอง ได้แก่ การใช้ปัญญาพิจารณา หมั่นใคร่ควรตรวจตรา  หาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อน เกินเลย บกพร่องหรือขัดข้องเป็นต้น ในกิจที่ทำ รู้จักทดลองค้นหาทางแก้ไขปรับปรุง ข้อนี้เป็นการใช้ปัญญาชักนำสมาธิ ซึ่งจะเห็นได้ไม่อยาก  คนมีวิมังสาชอบคิดค้นหาเหตุผล ชอบสอบสวนทดลอง เมื่อทำอะไรก็คิดพิจารณาทดสอบไป  เช่นคิดว่าผลนี้เกิดจากอะไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้  ผลคราวนี้เกิดจากปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เท่านั้น ถ้าชักองค์ประกอบนี้ออกเสียจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเพิ่มองค์ประกอบนี้เข้าไปแทน จะเกิดผลอย่างนี้ ลองเปลี่ยนองค์ประกอบนั้นแล้วไม่เกิดผลอย่างที่คาดหมายเป็นเพราะอะไร จะแก้ไขที่จุดไหน ฯลฯ หรือในการปฏิบัติธรรม ก็ชอบพิจารณาใคร่ครวญสอบสวน เช่นว่า ธรรมข้อนี้ๆมีความหมายว่าอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร  ควรใช้ในโอกาสอย่างไร ควบคู่สัมพันธ์กับข้อธรรมอื่นข้อใด ปฏิบัติธรรมคราวนี้ไม่ค่อยก้าวหน้า อินทรีย์ใดอ่อนไป อินทรีย์ใดเกินไป  คนในสมัยปัจจุบันอยู่ในสภาพอย่างนี้ขาดแคนธรรมข้อใดมาก  จะนำธรรมข้อนี้เข้าไปจะใช้วิธีอย่างใด ควรเน้นความหมายด้านไหน เป็นต้น

              การคิดหาเหตุผลและสอบสวนทดลองอย่างนี้ ย่อมช่วยรวมจิตใจให้คอยกำหนดและคิดตามเรื่องที่พิจารณาอย่างติดแจตลอดเวลา เป็นเหตุให้จิตแน่วแน่ แล่นดิ่งไปกับเรื่องที่พิจารณา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และมีกำลัง เรียกว่า เป็นวิมังสาสมาธิ ซึ่งก็จะมีปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์เกิดมาด้วย เช่นเดียวกับสมาธิอื่นๆ

              สาระของการสร้างสมาธิตามหลักอธิบาทก็คือ เอางานสิ่งที่ทำหรือจุดหมายที่ต้องการเป็นอารมณ์ของจิต แล้วปลุกเร้าระดมฉันทะ วิริยะจิตตะ หรือวิมังสา เข้านำหนุน สมาธิก็เกิดขึ้นและมีกำลังแข็งกล้า  ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข  และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี

             โดยนัยนี้ในการปฏิบัติธรรมก็ดี ในการเล่าเรียนศึกษา หรือประกอบกิจการงานอื่นใดก็ดี  เมื่อต้องการสมาธิเพื่อให้กิจที่ทำนั้นดำเนินไปอย่างได้ผลดี ก็พึงปลุกเร้าและชักจูงอิทธิบาท ๔ อย่างนี้  ให้เกิดเป็นองค์ธรรมเด่น นำขึ้นสักข้อหนึ่ง แล้วสมาธิความสุขสบายใจและการทำงานที่ได้ผลก็เป็นอันหวังได้เป็นอย่างมากกว่าจะเกิดมีตามมาเอง พร้อมกันนั้นการฝึกสมาธิหรือการปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็จะเกิดมีขึ้นในห้องเรียน ในบ้าน ในทุ่งนา ในที่ทำงาน และในสถานที่ทุกๆแห่ง (พระราชวรมุนี   ๒๕๒๕  ก : ๔๒-๘๔๔)      

 

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/891/573/original_280px-Mahayanabuddha.jpg?1363679249

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/891/574/original_DSC_0047.jpg?1363679253

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 528777เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาสนับสนุนการฝึกสมาธิสติภาวนาครับผม

มาสนับสนุนการฝึกสมาธิสติภาวนาครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท