Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาลุงตู่ หรือนายชาญ สุจินดา : ตอนที่ ๔ - ข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดของลุงตู่


กรณีศึกษา "ลุงตู่" นายชาญ สุจินดา : ตัวอย่างของคนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายที่พบ ณ ตรอกตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เพราะตกหล่นจากทะเบียนราษฎรตั้งแต่เกิดจนประสบปัญหาความไร้รากเหง้า โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ปรับปรุงล่าสุดในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

-----------

ข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายที่ ๒ โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ลุงตู่น่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดน

-----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  เรื่องของสิทธิในสัญชาติเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน จึงต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐเจ้าของสัญชาติ ดังนั้นกฎหมายที่กำหนดการได้สัญชาติไทยก็คือกฎหมายของรัฐไทยที่มีผลในขณะที่นายชาญมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอันอาจทำให้ได้สัญชาตินี้ ดังนั้นเมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า นายชาญเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ กฎหมายที่กำหนดปัญหานี้ จึงได้แก่พ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖เพราะกฎหมายนี้มีผลตั้งแต่วันที่๑๐เมษายนพ.ศ.๒๔๕๖จนถึงวันที่๑๒กุมภาพันธ์พ.ศ.๒๔๙๕

อนึ่งพ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖ยอมรับให้บุคคลมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลของกฎหมายภายใต้ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

ข้อเท็จจริงแรก ก็คือ  บุคคลย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา เมื่อมีข้อเท็จจริง ๒ ประการ ดังต่อไปนี้ (๑) บิดาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่บุตรเกิด และ (๒) บิดาเป็นบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด ทั้งนี้ เป็นไปภายใต้มาตรา๓ (๑) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖  หรือ

ข้อเท็จจริงที่สอง ก็คือ  บุคคลย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา เมื่อมีข้อเท็จจริง ๒ ประการ ดังต่อไปนี้ (๑) เกิดโดยมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย และ (๒) ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปภายใต้มาตรา๓ (๒) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖ หรือ

ข้อเท็จจริงที่สาม ก็คือ  บุคคลย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนหากเกิดในประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นไปภายใต้มาตรา๓ (๓) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖

ในประการแรก หากเราฟังว่า นายป่วน สุจินดา เป็นคนดั้งเดิมที่อาศัยในชุมชนนางเลิ้ง จึงน่าจะฟังว่า เขาเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ในประเด็นความเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชาญนั้น กรณีอาจจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งความเป็นไปได้ย่อมมี ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) หากเป็นการอยู่กินกันฉันสามีภริยาหลัง พ.ศ.๒๔๗๘ โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย  นายป่วนก็จะไม่มีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชาญ หรือ (๒)  หากฟังได้ว่า นายป่วนและนางผิวอยู่กินกันฉันสามีภริยาก่อน พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ นายป่วนก็จะมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชาญ ดังนั้น เมื่อมาพิจารณากำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของนายชาญ จึงอาจเป็นไปได้ใน ๒ ลักษณะเช่นกัน กล่าวคือ (๑) หากนายป่วนไม่มีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชาญ นายชาญก็จะไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืยสายโลหิตจากบิดา หรือ (๒) หากนายป่วนมีสถานะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชาญ นายชาญย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืยสายโลหิตจากบิดา โดยผลของมาตรา๓ (๑) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖ เพื่อที่จะมีความเห็นที่ชัดเจนในประเด็นนี้ นางสาวสายชลและคณะจึงต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับเวลาที่นายป่วนและนางผิวเริ่มต้นอยู่กินฉันสามีภริยา

ในประการที่สอง เมื่อเราฟังข้อเท็จจริงว่า นางผิวเป็นคนดั้งเดิมของชุมชนนางเลิ้ง และปรากฏตามมรณบัตรว่า เธอได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในยุคเก่า  นายชาญจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยการเกิดโดยผลของมาตรา๓ (๒) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖ หากเราฟังไม่ได้ว่า นายป่วนเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในทางกลับกัน หากเราฟังว่า นายป่วนเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  นายชาญก็ไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา เพราะปรากฏตัวบิดา

แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ตระหนักว่า ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใดในส่วนความเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายป่วน  นายชาญย่อมจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ดี 

ในประการที่สาม เมื่อเราฟังข้อเท็จจริงว่า นายชาญเกิดในประเทศไทยเมื่อพ.ศ.๒๔๘๔ นายชาญก็ย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา๓ (๓) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๕๖

นอกจากนั้น ยังปรากฏว่า  นายชาญได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยผลของมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ที่กำหนดให้นำมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕  ย้อนหลังมาใช้ต่อนายชาญ หากปรากฏว่า นายป่วนเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนาบชาญ

นอกจากนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่ชี้ว่า นายชาญเสียสัญชาติไทยที่ได้มา เขาจึงยังมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด จึงเป็นหน้าที่ที่นายทะเบียนท้องถิ่นของเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายที่จะเพิ่มชื่อของเขาในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๓๖ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร” แต่ภายใต้มาตรา ๓๗ แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน “การเพิ่มชื่อและรายการของบุคคลลงในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลาง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”  จึงต้องไปดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวเพื่อเพิ่มชื่อนายชาญในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลางต่อไป 


หมายเลขบันทึก: 521754เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2013 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท