จิตอาสา..ความสุขที่คุณสัมผัสได้


ด้วยผู้คนที่มากมายทั้งผู้ป่วย ญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องมาใช้และให้บริการแก่กันที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพิจิตร หลายคนมีไข้ ไอ เจ็บคอ  เดินไม่ได้ แก่ชรา บ้างก็เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง บรรยากาศโดยรวมก็เป็นแบบ จริงจัง เครียด มีความทุกข์ อีกทั้งยังต้องทนรอคอยอีกด้วย จึงอาจจะนำมาซึ่งความไม่พอใจต่อการมารับบริการของผู้ป่วยได้ ด้วยการลดปัญหาด้านนี้เราต้องเน้นการสื่อสารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้เวลามากในการพูดคุย มีเวลาในการลดอารมณ์ความโกธร เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ให้บริการด้านนี้ก็มีจำกัด ที่นี่จึงขาดคนทำงานด้านนี้ แนวทางหนึ่งในหลายๆ แนวทางที่โรงพยาบาลเลือกเพื่อนำมาสร้างความประทับใจแก่ผู้ป่วยและญาติก็คือกลุ่มผู้มาทำงานจิตอาสา ซึ่งก็คือคนในท้องถิ่นที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือนั่นเอง

ตรงนี้เป็นจุดเริ่มของ การมีประชาสัมพันธ์อาสา จิตอาสาเล่นไวโอลิน เป็นต้น การมีจิตอาสาทำให้การให้บริการของโอพีดีเริ่มปรับเปลี่ยนโฉมไป มีความเครียดน้อยลง มีความสุขมากขึ้น ในจุดที่ผมมีส่วนร่วมก็คือจุดของจิตอาสาร้องเพลง ช่วงแรกก็เป็นอะไรที่ให้ความรู้สึกว่าเจ้าคาราโอเกะนี่เป็นอะไรที่แปลกปลอมและเป็นส่วนเกินอย่างมาก เพราะเราใช้ชุดเครื่องเสียงที่ร้องเพลงในห้องประชุมมาติดตั้งกันเลย วันแรกที่ให้บริการก็สร้างความหงุดหงิด รำคาญแก่หน่วยที่ตรวจคนไข้ หน่วยคัดกรอง หน่วยจ่ายยาอย่างมาก และวันนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยว่า จุดบริการอื่นๆ เขาคงคิดว่าเป็นงานแบบครั้งคราวเท่านั้นก็ไม่มีอะไร แต่เมื่อมีการกำหนดการบริการที่ชัดเจนคือทุกวันพฤหัส ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการหน่วยหนึ่งซึ่งให้บริการไปพร้อมๆกับหน่วยอื่นๆ ก็ทำให้การค้นหาการควบคุมเสียงจึงเกิดขึ้น ผมต้องปรึกษากับอาจารย์สังเวย แก้วอ่วม ซึ่งท่านก็ได้ให้คำแนะนำกันมา พอผมได้แนวทางก็ได้ลงมือเซ็ทเครื่องเสียงให้ได้ดั่งที่ออกแบบไว้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ที่นี่ตรงนี้เราเริ่มต้นกันตั้งแต่การนำเครื่องเสียงเก่าๆ ลำโพงที่ไม่ได้ใช้มาต่อ มาติดตั้งเพื่อให้สามารถให้บริการตรงนี้ได้ เราได้แอมป์คาราโอเกะ และชุดลำโพงที่ใช้ในห้องประชุมมา เมื่อนำมาทดสอบปรากฏว่าเสียงที่ดังออกจากลำโพงนั้น ดังมากจนสามารถสร้างความรบกวนการให้บริการของหน่วยอื่นๆ ได้ ผมต้องหาวิธีที่จะให้เสียงนั้นพอเหมาะ และผู้ร้องเพลงสามารถฟังเสียงได้อย่างไพเราะ ตรงนี้ผมเลือกที่จะปรับทิศทางของลำโพงให้หันเข้าหาผู้ร้อง แบบนี้ผู้ป่วยและญาติก็จะได้ยินเสียงเพลงเป็นเสียงสะท้อนจากผนังแทน เมื่อทดสอบฟังก็พบว่าแผ่วเบาสามารถให้บริการได้ ในทุกครั้งที่มีบริการจิตอาสาร้องเพลงผมก็จะมานั่งคุมให้

เสียงบ่นจากหน่วยบริการอื่นๆ ก็ค่อยๆ น้อยลง ด้วยว่าเสียงไม่รบกวนการทำงานของเขารวมทั้งเขาปรับตัวยอมรับการมีหน่วยใหม่เพิ่มขึ้นมาด้วย นับจากนั้นก็ทำให้กลุ่มจิตอาสาร้องเพลงสามารถให้บริการได้ต่อเนื่องเรื่อยๆ มา กลายเป็นมุมๆหนึ่งที่ให้บริการ ผ่อนคลายความเครียด ทำให้โอพีดีซึ่งเป็นสถานที่ที่สมัยก่อนผมนึกถึงตัวผมเองนะ มาใช้บริการทีนี่ เราจะต้องใจตุ๋มๆ ต่อมๆ ระทึกไปหมด วิงเวียนหัว ตัวร้อนจากอาการป่วย มันหนาวมันเศร้า กลับกลายมาเป็นบรรยากาศคล้ายที่บ้าน ห้างสรรพสินค้า คนไข้ที่ป่วยกายป่วยใจมา พอได้ฟังเพลงใจก็ชื้นขึ้น มีความผ่อนคลายมากขึ้น มีรอยยิ้มของหลายคนเกิดขึ้นที่นี่ อีกทั้งด้วยว่าจิตอาสาหลายคนมีจิตใจชอบช่วยเหลือ บางคนขายก๋วยจั๊บก็นำก๋วยจั๊บมาเลี้ยงผู้มารับบริการที่นี่ บางคนจัดงานวันเกิดก็นำอาหารมาให้บริการกัน บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยมิตรภาพและรอยยิ้ม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายที่นี่ นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้

คนสมัยนี้หลายคนชอบเพลงร่วมสมัย แต่ในเวทีนี้มีจุดเด่นคือเราจะสามารถฟังเพลงเพราะๆ ในอดีต

ที่หาฟังจากที่อื่นๆไม่ได้แล้ว อย่างเช่น เพลงบัวขาว ส่วนเพลงที่ฟังกันประจำก็น่าจะเป็นเพลงของคุณสุเทพ วงษ์กำแหง , ธานินทร์ อินทรเทพ ,ชรินทร์ นันทนาคร เพลงที่ถูกอกถูกใจก็ต้องเป็นเพลงจากคุณอ้อ ซึ่งเขาเป็นนักร้องร้องเพลงประจำอยู่ที่ร้านอาหาร ท่านนี้ก็มาเป็นจิตอาสาช่วยให้ความสุขด้วยเช่นกัน เพลงส่วนใหญ่ที่ร้องก็เป็นเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ , ต่าย อโณทัย อะไรประมาณนี้

ในส่วนของการบรรเลงไวโอลิน เพลงที่บรรเลงผ่านเครื่องดนตรีชิ้นนี้ สามารถเข้ากับการให้บริการที่โอพีดีได้ดีมาก นี่ก็มีให้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว

ผ่านการให้บริการจิตอาสาร้องเพลงมาก็หลายเดือน สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือความชัดเจน ไพเราะของเสียงเพลงที่ให้บริการ ผมต้องการเพิ่มความไพเราะแบบมอบความสุขให้อย่างเต็มที่แก่ผู้มารับบริการ

อยากเติมเสียงให้เต็มที่ด้านหน้าเวที เราจึงค้นหาสิ่งนั้นนั่นก็คือ ลำโพงที่ให้เสียงในรัศมีใกล้ๆ ด้วยว่าคุณสมบัติของลำโพงที่ต้องการนำมาเพิ่ม ต้องเป็นลำโพงที่ให้เสียงในรัศมีใกล้ หากเป็นไปได้ก็อยากจะใช้ลำโพงที่ใช้กับเครื่องเสียงบ้าน ผมมีลำโพงตู้ไม้อยู่คู่หนึ่งคิดว่าน่าจะใช้ได้ จึงนำมาต่อเพิ่มเพื่อเปล่งเสียงออกไปยังจุดหน้าเวทีที่อับเสียง โดยจัดวางลำโพงในระดับที่ต่ำกว่าหูของผู้ฟังเพื่อกำหนดขอบเขตของเสียงไม่ให้ไปไกล และไม่รบกวนการรับฟังการเรียกชื่อรับยาของผู้ป่วยและญาติ ด้วยการเพิ่มลำโพงนี้ทำให้เราได้เสียงที่ ใช่เลย ..ผมสังเกตเห็นผู้ป่วยและญาติหลายคนให้ความสนใจกับการร้องเพลง การฟังเพลงกันมากขึ้น และในวันนี้การให้บริการจิตอาสาร้องเพลงก็ยังทำหน้าที่ต่อไป อย่างน่าสนใจ และหลายคนคงรอคอย เช่นเดียวกับผมซึ่งรอคอยที่จะมาให้บริการความสุขแก่ผู้ป่วยด้วยเช่นกัน


หมายเลขบันทึก: 521740เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2013 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชื่นชมนะครับ

เป็นการลงมือทำที่เกิดประโยชน์ให้กับสังคมมากเลยครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท