กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ


ใครๆก็เป็นโรคนี้ได้ (ดังที่เป็นข่าวระดับโลก) หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่าเคยเป็นกันทุกคน

กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อย แม้ในประเทศที่เรียกว่าเจริญแล้วก็ยังเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับที่สองรองจากไข้หวัด ดังนั้นใครๆก็เป็นโรคนี้ได้ (ดังที่เป็นข่าวระดับโลก) หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่าเคยเป็นกันทุกคน อาการของโรคคือ อยู่ๆก็ท้องเดินถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และเป็นไข้ ถ้าโรคไม่รุนแรงก็มีอาการไม่ครบทุกอย่าง สาเหตุเกิดจากเชื้อโรค ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อไวรัส อีกส่วนหนึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อเป็นการติดต่อจากบุคคลสู่บุคคล หรือติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ถ้าชัดเจนว่าติดต่อผ่านอาหารก็อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคอาหารเป็นพิษ


สัปดาห์ที่แล้วหนุ่มใหญ่คนหนึ่งมีกำหนดจะเดินทางไปต่างประเทศตอนค่ำวันรุ่งขึ้น แต่ท้องเดินถ่ายเหลววันละ 4-5 ครั้งมาสองวันแล้ว จะทำอย่างไรดี ถามดูได้ความว่า ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน รู้สึกคล้ายตัวอุ่นๆแต่ยังไม่ได้วัดปรอท ความอยากอาหารยังเป็นปกติ

     สรุปว่า กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบแบบไม่รุนแรง เป็นมาสองวันแล้ว น่าจะหายเป็นปกติได้ภายในวันสองวัน ไม่น่าเป็นห่วง ไม่น่าจะมีปัญหาที่จะเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากจะหายหรือเกือบหายก่อนเดินทาง

     สิ่งที่ควรทำคือ จิบน้ำเกลือแร่ในปริมาณเท่ากับที่คาดว่าสูญเสียไปทางอุจจาระ รับประทานอาหารที่มีกากน้อย (ยกเว้นนมสด) ในปริมาณน้อยเท่าที่จะพอแก้หิว (น้ำหนักตัวมากอยู่แล้ว ถือเสียว่าเป็นโอกาสได้ลดน้ำหนัก อย่าคิดเอาส่วนที่ขาดทุนไปนี้กลับคืนก็แล้วกัน) ตอนสายวันรุ่งขึ้นรายงานมาว่า ถ่ายเหลวอีกสองครั้งแต่ปริมาณลดลง อย่างอื่นเหมือนเดิม ถามมาว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเนื่องจากจะหายอยู่แล้ว (โทษที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยามากกว่าประโยชน์ที่อาจจะได้) ค่ำนี้เดินทางได้ ปัญหาเหลืออยู่แค่ความน่ารำคาญหรือความไม่สะดวกที่เกิดจากการที่ต้องถ่ายบ่อยกว่าควร ให้ซื้อยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) เก็บติดตัวไว้ 4 แคปซูล หากยังถ่ายเหลวอยู่และต้องการให้หยุด ให้รับประทานหนึ่งแคปซูลทุกครั้งที่ถ่ายเหลว (ประโยชน์ที่จะได้จากยาสูงกว่าโทษที่อาจจะเกิดจากยา) น่าจะหายก่อนยาหมด หรือจะไม่ใช้ยาเลยก็ได้แล้วแต่รสนิยม ในที่สุดก็เดินทางไปและเดินทางกลับมาเรียบร้อยแล้วไม่ได้ใช้ยา


หลายปีมาแล้ว หนุ่มใหญ่อเมริกันมาเที่ยวกรุงเทพได้สองวัน เช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาปวดท้องอาเจียนและท้องเดินตอนตีหนึ่ง คอยจนตีห้าจึงตามหมอ ซึ่งอาเจียนก็หายแล้ว ปวดท้องยังอยู่แต่พอทน ยังคงถ่ายเหลวเป็นน้ำ วัดปรอทไม่มีไข้ อธิบายให้ฟังว่า น่าจะเกิดจากอาหารเป็นพิษจากมื้อกลางวันที่เป็นอาหารทะเล ไม่มีอันตรายมากกว่านี้ จะให้ยาแก้ปวดท้องและผงเกลือแร่ เขาถามว่าถ้าไม่ใช้ยาอะไรเลยจะหายไหม ตอบว่าหาย เขาก็ขอไม่ใช้ยา ถ้าอย่างนั้นผงเกลือแร่ไม่ต้องก็ได้ จิบน้ำอัดลมใส่เกลืออร่อยกว่า เพราะโรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เอง  


กรณีที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเกิดโรคนี้กับเด็กทารก ผู้สูงวัย หรือผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคอื่นอยู่ก่อนแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ประเด็นสำคัญคืออาการคลื่นไส้อาเจียนทำให้ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นเหตุให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากท้องเดินด้วย อาจทำให้เกิดโรคไตตามมา กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดที่เรียกกันว่าให้น้ำเกลือ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายในสองสามวัน หรือนานกว่านั้นเล็กน้อย อาการแรกที่หายก่อนคืออาการคลื่นไส้อาเจียน สังเกตว่าจะหายภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน จากประสบการณ์ในอดีตที่เคยให้ยาแก้อาเจียนตามที่นิยมกัน เช่น เมโตคลอปราไมด์ (Metoclopramide) เมื่อใช้บ่อยพอก็พบผลข้างเคียง เปลี่ยนมาใช้ยาโปรคลอเปอราซีน  (Prochlorperazine) เมื่อใช้บ่อยพอก็พบผลข้างเคียงทำนองเดียวกันคือ ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการประหลาด เช่น ปากเบี้ยวคอบิด น่าตกใจ จึงสรุปว่าประโยชน์จากยาไม่คุ้มกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และเมื่อไม่ได้ใช้ยาแก้อาเจียนอีกก็พบว่าไม่เป็นปัญหา เพราะอาเจียนหยุดได้เอง หรือหยุดหลังให้ยาแก้ปวดท้อง (ในกรณีที่ปวดท้องมาก) หรือหลังการให้น้ำเกลือ (ในกรณีที่จำเป็นต้องให้น้ำเกลือ) ในกรณีที่มีอาการปวดท้องมากอาจใช้ยาลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น บุสโคพาน (Buscopan) แต่ถ้าไม่เดือดร้อนไม่ต้องใช้ยาก็ได้ โดยให้งดอาหารและน้ำไว้ก่อนจนหายคลื่นไส้อาเจียนจึงเริ่มจิบน้ำเกลือแร่ คอยจนหายปวดท้องจึงเริ่มรับประทานอาหารที่มีกากน้อย (ยกเว้นนมสด) ปริมาณน้อย ถ้าหิวก็เพิ่มจำนวนมื้อ ท้องเดินจะหายเป็นอาการสุดท้าย ก็เริ่มอาหารปกติได้ บางคนยังคงถ่ายเหลววันละหลายครั้ง อาจลดจำนวนครั้งของการถ่ายลงได้ด้วยยาประเภทโลเพอร์ราไมด์ (Loperamide) 

 

มีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่สองสามวันแล้วก็ยังไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีไข้ด้วยอาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การตรวจอุจจาระก็มีประโยชน์อาจทำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะได้


หมายเหตุ

 ด้วยเหตุผลดังกล่าวไว้ข้างต้น ส่วนหนึ่งของยาที่ควรมีไว้ประจำบ้าน คือ

1.  ผงเกลือแร่ 4 ซอง หนึ่งซองละลายน้ำหนึ่งแก้วก็จะเป็นน้ำเกลือแร่ที่ใช้จิบทดแทนการสูญเสียน้ำ  

2.  ยาโลเพอร์ราไมด์ (Loperamide) 4 แคปซูล ในกรณีที่ต้องการลดจำนวนครั้งของการถ่ายเหลว หลังจากที่อาการอื่นๆหายแล้วเหลือแต่อาการท้องเดิน ใช้หนึ่งแคปซูลทุกครั้งที่ถ่ายเหลว  

3.  บุสโคพาน (Buscopan) 10 เม็ด ใช้แก้ปวดท้องที่เกิดจากการบีบตัวของลำไส้ 2 เม็ด ถ้าหายแล้วปวดอีกใช้ได้ทุก 4 ชั่วโมง (ถ้าครั้งแรกใช้แล้วไม่หายก็ไม่ควรใช้อีก)


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

6 มีนาคม 2556


หมายเลขบันทึก: 521576เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2013 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2013 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์คะผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเริ่มมีไตวายด้วยถ้าท้องเดินเวลาให้น้ำตาลเกลือแร่ต้องระวังอะไรบ้างคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท