Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ประเด็นที่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการสถานะบุคคลตามกฎหมายการเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่


เมื่อตระหนักว่า มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ มีผลมาเกือบจะ ๖ ปีแล้ว แต่การจัดการฐานะการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยก็ยังทำไม่ได้ตามเจตนาราย์ของมาตราดังกล่าว หากคำนึงถึงความจำเป็นที่จะสร้างความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องชี้ว่า เราเห็นด้วยกับการปฏิรูปแนวคิดในการจัดการฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยตามแนวคิดมนุษยนิยมของผู้ร่างมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ? หรือเราเห็นด้วยกับคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่จะย้อนไปยอมรับแนวคิดอมนุษย์นิยมที่ปรากฏในมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ เก่าในการจัดการฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ? คงถึงเวลาแล้วล่ะ ที่เราจะฟันธงกัน !!!

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่[1] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ น่าจะมี ๔ เรื่อง กล่าวคือ

ประเด็นแรก ก็คือ  เมื่อมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ เป็นเรื่องของการปฏิรูปกฎหมายการเข้าเมือง (Immigration Law) สำหรับคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย  ด้วยตระหนักในปัญหาที่มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ เก่า ทำให้ประเทศไทยมีการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ผู้ร่างมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ จึงกำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ (๑) ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่สำหรับคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และ (๒) กฎกระทรวงที่ออกมาจะต้องมีเนื้อหาที่อยู่บนสมดุลย์ระหว่างสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ด้วยแนวคิดดังกล่าว ผลก็คือ ประเทศไทยย่อมไม่ตกเป็นผู้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและยังคงสามารถไม่ยอมรับให้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมายทั้งบุตรและหลานของคนต่างด้าว ดังนั้น เราคงต้องชี้แล้วว่า เราเห็นด้วยกับผู้ร่างมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่หรือไม่ ? และเราเห็นด้วยกับ "กรอบการบัญญัติกฎกระทรวง ๒ ประการ" ตามบทบัญญัติของช่วงต้นของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ หรือไม่ ?

ประเด็นที่สอง ก็คือ เมื่อร่างกฎกระทรวงที่เสนอโดยคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่ง คปก. พิจารณาอยู่นี้ ยังคงยืนยัน "หลักการที่จะกำหนดฐานะการเข้าเมืองผิดกฎหมาย" ให้แก่คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย"  อย่างชัดเจนกล่าวคือ ร่างกฎกระทรวงนี้ยังยืนยันที่จะไม่ปฏิบัติตามช่วงต้นของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ และยืนยันที่จะขยายผลช่วงท้ายของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ที่จะยังคงยืนยันกำหนดให้คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยตกดป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยไม่สนใจว่า ประเทศไทยจพตกเป็นผู้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น เราก็คงต้องชี้แล้วล่ะว่า เห็นด้วยกับคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือเห็นด้วยกับผู้ร่างมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่

ประเด็นที่สาม ก็คือ เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยืนยันที่จะเลือกยกร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยตกเป็น "คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย" เหมือนดังที่บัญญัติในมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ เก่า และไม่ยอมที่จะกำหนด "ฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย" ตามหน้าที่ที่มีตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่  ผลที่ชัดเจนของเรื่อง ก็คือ กฎกระทรวงที่เป็นกฎหมายลูกบทที่จะออกมา จึงมีแนวคิดที่ขัดต่อมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ที่เป็นกฎหมายแม่บท ดังนั้น เราก็จะต้องชี้ต่อไปว่าการกระทำเช่นนั้นของคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นการกระทำที่ชอบด้วยหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยลำดับศักดิ์ของกฎหมายหรือไม่ ? 

ประเด็นที่สี่ ก็คือ เมื่อผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยยืนยันในที่ประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ ณ คปก. อย่างชัดเจนว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ซึ่งเป็นเจตนารมย์ของฝ่ายนิติบัญญัติใน พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการกำหนดฐานะและเงือนไขการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยให้แยกออกมาจากการกำหนดฐานะการเข้ามาและอาศัยอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดนอกไทยและเข้าเมืองไทยมา ซึ่งตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และผู้แทนดังกล่าวยังยืนยันใน “โฆฆะกรรม” ของกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ที่ขัดต่อมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ นั้น  หากเรายอมรับแนวคิดเช่นนี้ ผลก็คือ การปฏิรูปกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติใน พ.ศ.๒๕๕๑ จึงไม่อาจขัดต่อกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติใน พ.ศ.๒๕๒๒  ดังนั้น จึงเป็นภารกิจของเราอีกเช่นกันที่จะชี้ว่า  เห็นด้วยกับข้อคิดของผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ?

ในที่สุด ประเด็นที่จะต้องชี้ในเรื่องของร่างกฎกระทรวงนี้ ย่อมเป็นเรื่องของประเด็นการอาศัยอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยตามหลักกฎหมายการเข้าเมืองที่นำมาบัญญัติในมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขใน พ.ศ.๒๕๕๑ มิใช่ประเด็นในเรื่องหลักกฎหมายสัญชาติแต่อย่างใด ในขั้นตอนของการบังคับใช้กฎกระทรวงนี้ เป็นขั้นตอนที่ฟังยุติแล้วว่า คนที่เกิดในประเทศไทยดังกล่าวไม่มีสัญชาติไทยแล้ว เป็นคนต่างด้าวแน่แล้ว ประเด็นในการกำหนดสิทธิในสัญชาติจึงไม่ควรยกขึ้นมาให้สับสนในการพิจารณาร่างกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓

เมื่อตระหนักว่า มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ มีผลมาเกือบจะ ๖ ปีแล้ว แต่การจัดการฐานะการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยก็ยังทำไม่ได้ตามเจตนาราย์ของมาตราดังกล่าว หากคำนึงถึงความจำเป็นที่จะสร้างความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย  จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องชี้ว่า เราเห็นด้วยกับการปฏิรูปแนวคิดในการจัดการฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยตามแนวคิดมนุษยนิยมของผู้ร่างมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ใหม่ ?หรือเราเห็นด้วยกับคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่จะย้อนไปยอมรับแนวคิดอมนุษย์นิยมที่ปรากฏในมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ เก่าในการจัดการฐานะและเงื่อนไขการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ?  คงถึงเวลาแล้วล่ะ ที่เราจะฟันธงกัน !!!



[1]ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง


หมายเลขบันทึก: 520924เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 01:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 03:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท