ยางพารากับปัญหาเพลี้ยแป้ง


ยางพาราพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของประเทศไทย โดยที่ผ่านมามีการผลักดันส่งเสริมอย่างมากในหลายหน่วยงานของภาครัฐ เนื่องด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทั้งกลุ่ม BRIC และในปัจจุบันมีการเพิ่มประเทศแอฟริกาใต้เข้าไปอีก (BRICS) ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงในการใช้ทรัพยากรมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว อย่างน้อยเพียงแค่จีนและอินเดียสองประเทศ ผู้เขียนคิดว่าสร้างความร้อนแรงและสีสันให้โลกอยู่มาโขทีเดียว ถ้ายักษ์ใหญ่สองตนนี้ไม่สะดุดขากันเองล้มไปเสียก่อน เพราะอย่าลืมว่ามีอีกหลายประเทศที่จ้องที่จะกระทืบซ้ำรุมทึ้งมีอยู่อีกมากเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ในปัญหาการครอบครองหมู่เกาะเล็กน้อยที่เป็นข้อพิพาทแบ่งกันไม่ลงตัว ยิ่งจีนตัวใหญ่เท่าใดรู้สึกว่าน้ำใจความประนีประนอมจะยิ่งน้อยลงไปทุกวัน
 ในช่วงที่ความต้องการยางพาราในตลาดโลกมีสูงมากราคายางพาราในประเทศไทยยังคงขึ้นทะลุเพดานไปอยู่ที่ 140-150 บาทต่อกิโลกรัมก็เคยมีมาแล้ว จึงมีการระดมส่งเสริมให้ปลูกกันเกือบทั่วประเทศทั้งเหนือกลางออกตกอีสาน ใช่ว่าจะมีแต่เฉาพะภาคใต้อีกต่อไปแล้วนะครับ พี่น้องปักษ์ใต้จะต้องยินยอมน้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ด้วยนะครับ เพราะอาชีพปลูกยางที่มีมากขึ้นนั้นส่งผลทำให้ราคายางพาราอาจจะตกต่ำ ยิ่งประเทศจีนมีการยุยงส่งเสริมให้ทั้งเมียนมาร์ ลาว เวียดนามและกัมพูชาปลูกด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคาจะทำให้ราคายิ่งลดน้อยถอยต่ำลงกว่าเดิมก็เป็นไปได้. จึงควรต้องมองหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเองไว่บ้าง เพื่อชดเชยในช่วงระยะที่ยางพารามีราคาตกต่ำ (ความชำนาญในการผลิตน้ำยางของภูมิภาคอื่นก็จะเริ่มเพิ่มขึ้นในทุกขณะ)


 หลังจากผ่านฝนเริ่มมาชนกับหนาวอากาศที่เย็นสบายจะช่วยทำให้ต้นยางผลิตน้ำยางมากขึ้น เกษตรกรชาวสวนยางสามารถที่จะเห็นผลผลิตน้ำยางออกมาอย่างเอมอิ่มปริ่มล้นจอกกันถ้วนทั่วเลยทีเดียว หลังจากนั้นประมาณสองสามเดือนเมื่อเริ่มเข้าสู่อากาศที่อุ่นและร้อนขึ้นยางพาราก็เริ่มที่จะผลัดใบส่วนมากภาคใต้ก็จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม หลังจากนั้นก็จะเริ่มผลิใบใหม่ออกมาจนเข้าถึงระยะใบเพสลาด (กลางอ่อนกลางแก่). ก็จึงเริ่มต้นกรีดกันใหม่อีกทีหนึ่ง ในระยะที่มีสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยมีทั้งร้อน หนาว น้ำค้าง เย็น ฝนโปรย ส่งผลให้เกิดโรคและแมลงระบาดนอกฤดูกาลอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยางพาราที่มีปัญหาเพลี้ยแป้งในช่วงยางผลัดใบและกำลังเริ่มแตกใบอ่อน


 สภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนจะทำเกิดโรคราแป้ง หรือโรคใบร่วงออยเดียม (Powdery mildew or Oidium Leaf Disease) ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Oidium heveae Steinm ลักษณะทั่วไปจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นกระจุกเส้นใยสีขาว ถ้าส่องดูด้วยแว่นขยายจะเห็นสปอร์ติดกันเป็นลูกโซ่อยู่ปลายเส้นใย โดยกลุ่มของเชื้อราเจริญได้ดีบนใบ มองเห็นเป็นรอยหย่อมๆ ทั่วไป ซึ่งเชื้อสกุลออยเดียมที่พบทำลายใบและดอกยางเป็นชนิด Oidium heveae ซึ่งเจริญเติบโตบนเนื้อเยื่อของพืชที่มีชีวิตเท่านั้น เกษตรกรสามารถที่จะดูแลป้องกันได้ด้วยการใช้จุลินทรีย์ชีวภาพกำจัดเชื้อรา "ไตรโคเดอร์ม่า" หรือ "บีเอสพลายแก้ว" ทำการฉีดพ่นทุก 7 วันหรือการใช้หินแร่ภูเขาไฟ (ชื่อการค้า พูมิชซัลเฟอร์) หว่านรอบทรงพุ่มโคนต้นทุกครั้งที่ให้ปุ๋ยก็จะช่วยสร้างภูมิต้านทานสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผนังเซลล์ลดการเข้าทำลายของโรคแมลงได้เป็นอย่างดี


 มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 520885เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2013 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2013 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท