ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๕๖. สัปดาห์แห่งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ (๒)



          วันที่ ๓๐ ม.ค. ๕๖  ตอนเช้ารายการของ PMAC 2013 คือ Site Visit ไป ๙ ทีม  เพื่อศึกษาดูงานด้านระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้อ  ซึ่งผมอยากไปดูบ้าง แต่ไม่มีสิทธิ์ เพราะไปแล้วกลับมางานพระราชทานรางวัลไม่ทัน  ผมจึงได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน ไตร่ตรองเรื่องต่างๆ ในทำนอง AAR

          ตกเย็น งานพระราชทานรางวัลฯ จัดเหมือนทุกปี  ผมมีหน้าที่เดินแถวนำผู้ได้รับพระราชทานรางวัล  แล้วไปนั่งฟังการสนทนา ที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ พระราชทานโอกาสให้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเข้าเฝ้า และคู่สมรส พร้อมทั้งเอกอัครราชทูต ของประเทศนั้นๆ เหมือนทุกๆ ปี  ปีนี้ท่านทูตเป็นของสหราชอาณาจักร และประเทศไนจีเรีย  สหราชอาณาจักรมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลนับไม่ถ้วน  ส่วนไนจีเรีย ศ. อามาซิโก เป็นท่านที่ ๒  ท่านแรกคือ ศ. นพ. ลูคัส ได้รับรางวัลจากผลงานของหน่วยงานชื่อ  TDR (Tropical Disease Research)

          ตอนนั่งในช่วงผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลเข้าเฝ้า ผมนั่งด้านหลัง Prof. Nancy Wexler จึงได้เห็นอาการเคลื่อนไหวแบบบังคับไม่อยู่ (involuntary movement) อย่างชัดเจน  แต่ก็แปลก ตอนจับแก้วน้ำ ท่านทำได้โดยไม่มีปัญหา   Prof. Wexler มาจากครอบครัวที่เป็น Huntington Disease  และตนเองก็เป็นด้วย  แรงบันดาลใจจากการได้เห็นคนในครอบครัวเป็นโรค ทำให้ท่านมุมานะทำวิจัยจนค้นพบยีนของโรคนี้

          ผมไม่เข้าร่วมงานพระราชทานเลี้ยง ด้วยเหตุผลต้องการออมแรงไว้สังเกตการณ์เนื้องานจริงๆ ของ PMAC 2013

          รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๓๑ ม.ค. ๕๖ งานของผมเริ่มตั้งแต่ ๗.๓๐ น.  มีการนัดประชุมรับประทานอาหารเช้า และหารือกับทีมของรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. สุธรรม ศรีธรรมา  เพื่อตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ จัดทำยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพ  ผู้กี่ยวข้องมากันพร้อมหน้า น่าชื่นใจ  เพื่อหาทางขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการศึกษา กับระบบบริการสุขภาพ ให้เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน 

           พอถึงเวลา ๘.๓๐ น. เราก็ลงไปตั้งแถวรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม  ในพิธีเปิดการประชุม PMAC 2013 “The World United Against Infectious Diseases : Cross – Sectoral Solutions”  ผมฟังสุนทรพจน์ (keynote speech) ของคุณพันธุ์ฉวี สุขบัติ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ที่ทำงานระบาดวิทยาชายแดนลาว-ไทย (สวันนะเขต - มุกดาหาร) ด้วยความชื่นใจ และซึ้งใจ  โดยเฉพาะคำว่า “ดิฉันมีความสุขกับงาน  จนไม่ติดว่าเป็นงาน  แต่รู้สึกว่าโชคดีที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ตนรัก”  ตัวอย่างของงานเฝ้าระวัง (surveillance) โรคระบาดที่ทำร่วมกันระหว่างลาวกับไทยที่สะวันนะเขต-มุกดาหาร น่าชื่นชมยิ่ง

          ในพิธีเปิดการประชุม มีผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิดประชุม ๔ คน  ๒ คนแรกคือผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  คนสุดท้ายคือ David Rockefeller, Jr.  ที่ทำให้ผมได้ความรู้ว่า  มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ ได้เข้าไปทำงานแก้ปัญหาการระบาดของพยาธิปากขอในรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๙ ก่อนจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ

          สาระหลักของการประชุม PMAC 2013 คือ เพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อ ต้องร่วมมือกัน ๓ ฝ่าย  คือฝ่ายดูแลสุขภาพคน (Public Health), ฝ่ายดูแลสุขภาพสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า (Animal Health), และฝ่ายดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment)  เพราะโรคมันติดต่อกันได้  

          ที่จริงความรู้เรื่องโรคสัตว์สู่คน (Zoonosis) รู้กันมานาน  แต่ความรู้เรื่องเชื้อโรคมันกลายพันธุ์เร็ว จนในที่สุดติดต่อในคนได้ง่าย และระบาดใหญ่ (Pandemic) ได้ง่ายเพิ่งจะเข้าใจ  ทำให้เห็นความเชื่อมโยงถึงกันหมด ของสรรพสิ่งในโลก 

          คนที่พูดใน Plenary I มี ๓ คน  ที่น่าสนใจมากคือ Larry Brilliant  กล่าวว่า เรื่องโรคติดเชื้อ สิ่งที่คนกลัวคือโรคระบาดใหญ่  แต่เราน่าจะเก่งพอแล้ว ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ได้  โดยระบบเฝ้าระวัง  และระบบการรายงาน ที่ดี  การกวาดล้างโรคไข้ทรพิษสำเร็จก็เพราะเปลี่ยนวิธีคิดจากเน้นการฉีดวัคซีนแบบปูพรม  มาเป็นเน้นใช้การเฝ้าระวังโรคนำการฉีดวัคซีน  คือเปลี่ยนจาก vaccination – based เป็น surveillance – based  และเขาเสนอว่า ในยุคปัจจุบัน ไอซีที จะช่วยให้ความร่วมมือเฝ้าระวังโรคร่วมกันเป็นเครือข่ายข้ามประเทศดำเนินได้ดี  ป้องกันโอกาสเกิดการระบาดใหญ่ได้  เขาถึงกับตั้งความหวังว่า จะไม่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคใดๆ ในโลก  เพราะความสามารถในการเฝ้าระวัง

          ตอนเที่ยง ผมนัดทีมของมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทร์ ที่ต้องการมาร่วมทำงาน PMAC  มารับประทานอาหารเที่ยงและหารือกันว่าจะร่วมกันได้อย่างไร  ตกลงกันว่า ใน PMAC 2014 ซึ่งเป็นเรื่องการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ  ทีมมูลนิธิสมเด็จพระศรีฯ จะจัดการศึกษาข้อมูลในส่วนของวิชาชีพพยาบาลในอาเซียน   มองจากมุมของความต้องการของระบบบริการ ในด้านจำนวน คุณภาพ และการกระจาย  ส่วนของวิชาชีพพยาบาล จะเป็นห้องย่อยหนึ่งในงาน PMAC 2014  โดย ศ. นพ. ภิเศก กับ ศ. พญ. วณิชา จะเป็นผู้ประสานงานรายละเอียดกับทีมมูลนิธิสมเด็จพระศรีฯ 

          ตกเย็น มีงานฉลอง ๑๐๐ ปี (Centennial Celebration) ของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์  ผมได้รับการติดต่อให้เป็นผู้พูดสุนทรพจน์ในงานสั้นๆ ๑๐ นาที  จึงนำคำกล่าวมาลงไว้ ที่นี่   ในงานเขาแจกหนังสือ Beyond Charity : A Century of Philantropic Innovation  เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากสำหรับคนที่สนใจงานสาธารณกุศล 

          ตอนค่ำมีงานเลี้ยงต้อนรับของการประชุม ผมไม่ไปร่วมเหมือนทุกปี  คือผมทำให้เป็นธรรมเนียมประจำตัว ว่าผมเลี่ยงงานพิธีการหรืองานรื่นเริงทั้งหลาย  เป็นนิสัยเฉพาะตัว 


หมายเหตุ ผมเพิ่งไปดูนิทรรศการ ๑๐๐ ปี มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ ที่ PMAC 2013  และพบว่า สิ่งที่ผมพูดอยู่ในนิทรรศการเกือบทั้งหมด  และมีส่วนที่ผมไม่ได้พูดถึงด้วย  


วิจารณ์ พานิช

๓๑ ม.ค. ๕๖ ปรับปรุงเพิ่มเติม ๔ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 520315เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท