dobee
นางสาว ฮามีดะห์ ดะห์ กอเล็ง

วิกฤตที่หนักหนามากในตอนนี้


วิกฤติกระเป๋านร.ไทย เด็กแบกหนักเกินค่าความปลอดภัย2เท่า

เด็กไทย’อึดเรียนแค่ชั้นประถมแบกกระเป๋าหนัก 6 กก.ไปโรงเรียน หวั่นลืมหนังสือมาเรียน ‘ผู้ปกครอง’โวยครูไม่วางแผนการสอน เด็กจำต้องนำทุกอย่างใส่กระเป๋า วอนโรงเรียนทำตู้เก็บหนังสือ ‘ตัวแทนครู’อ้างเด็กไม่จัดตารางสอนเอง ‘แพทย์’เตือนแบกของหนักอนาคตเสี่ยงโรคกระดูก

ปัจจุบันระบบการศึกษาของประเทศไทยกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เด็กนักเรียนไทยโดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ยังคงประสบปัญหากับการแบกกระเป๋านักเรียนหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทาง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในเรื่องของการเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ "หอข่าว" มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ลงพื้นที่สำรวจน้ำหนักกระเป๋านักเรียนจากสถานศึกษาในจังหวัดกรุงเทพมหานครที่เปิดสอนหลักสูตรในระดับประถมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา ตั้งอยู่ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ตั้งอยู่ถนนดินแดง เขตดินแดง โรงเรียนแม่พระประจักษ์ ตั้งอยู่ถนนวุฒากาศ 47 เขตจอมทอง และโรงเรียนจารุวัฒนานุกูล ตั้งอยู่ถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน โดยสุ่มจากนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง 120 คน โรงเรียนละ 30 คน แยกเป็นระดับชั้นละ 5 คน พบว่า ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักกระเป๋าอยู่ที่ 6 กิโลกรัม จากค่าเฉลี่ยของน้ำหนักตัวเด็กประมาณ 30 กิโลกรัม ซึ่งมาตรฐานของน้ำหนักกระเป๋าจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กโรงพยาบาลรามาธิบดี กำหนดไว้ไม่ควรหนักเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเด็ก ซึ่งหมายความว่าน้ำหนักกระเป๋าที่เด็กสามารถถือได้ต้องไม่เกิน 3 กิโลกรัม

‘นักเรียน'ชี้ไม่จัดตารางเหตุกลัวลืมหนังสือเรียน

เด็กชายบิว  (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแม่พระประจักษ์ ซึ่งมีน้ำหนักตัว 24 กิโลกรัม แบกกระเป๋าหนัก 7 กิโลกรัมได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่กระเป๋าหนักว่าตนไม่จัดตารางสอนเพราะกลัวลืมหนังสือเรียน หรือหยิบมาไม่ตรงกับครูสอน เช่น หนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์มี 2 เล่ม กลัวเวลาคุณครูเรียกจะหยิบเล่มที่เรียนมาไม่ตรงจึงนำมาโรงเรียนหมดทุกเล่ม โดยในกระเป๋ามีประมาณ 10 เล่ม

เด็กหญิงเอ (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแม่พระประจักษ์ น้ำหนักตัว  27 กิโลกรัมแบกกระเป๋าหนัก  5  กิโลกรัมกล่าวว่า จัดตารางสอนเองทุกวันแต่ยังเอาหนังสือ มาเรียนไม่น้อยกว่า 7 เล่ม โดยจะมีวิชาหลักที่ต้องเรียนทุกวันคือคณิตศาสตร์กับภาษาไทยซึ่งวิชาคณิตศาสตร์มีวันละ2 เล่มเป็นของโรงเรียนกับของกระทรวงศึกษาธิการอย่างละเล่ม

ด้านเด็กชายภู (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีน้ำหนักตัว 32 กิโลกรัมแบกกระเป๋านักเรียนหนัก 7  กิโลกรัมกล่าวว่า วิชาหลักที่ต้องเอาหนังสือเรียนไปทุกวันมีอยู่ 4 วิชา วิชาหนึ่งมีจำนวน 2 เล่ม สมุดอีก 1 เล่ม ต้องเอาไปโรงเรียนทุกวัน แต่บางวันไม่มีการบ้านก็แอบใส่ไว้ใต้โต๊ะเรียน โรงเรียนมีตู้ให้เก็บหนังสือแต่ว่าไม่เปิดให้ใช้ โดยส่วนตัวอยากให้โรงเรียนอนุญาตให้เก็บหนังสือเรียนไว้ใต้โต๊ะ หรือเปิดตู้เก็บของให้นักเรียนใช้จะได้ไม่ต้องแบกกระเป๋าหนัก

ผู้ปกครองโวยครูไม่วางแผนการสอน

นายเกื้อกูล คำปันศักดิ์ ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีกล่าวว่า ลูกชายของตน ต้องแบกกระเป๋าไปโรงเรียนหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งทางโรงเรียนเองมีตู้ให้เก็บหนังสือแต่ไม่ยอมเปิดให้เด็กใช้

นางณฐา หาญหฤทัยวรรณ ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประยุรวงศาวาสกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้โรงเรียนหาตู้เก็บหนังสือหรือตู้ล็อกเกอร์ของเด็กแต่ละห้อง ให้เด็กเก็บหนังสือไว้โรงเรียนบ้าง วันไหนมีการบ้านก็เอากลับมาทำ สะพายกระเป๋าหนักนอกจากเสียสุขภาพ เวลาขึ้นรถลงรถก็ลำบากเพราะกระเป๋าจะถ่วงไปข้างหลัง ยิ่งโดยสารรถประจำทางยิ่งอันตราย เพราะคนเยอะกระเป๋าใบใหญ่คนรอบข้างก็รำคาญ

"อยากถามว่าได้เรียนครบทุกเล่มไหม ที่ขนไปได้เรียนครบทุกวิชาหรือเปล่า ถ้าขนไปแล้วได้เรียนก็โอเค แต่ถามเด็กทราบว่าบางทีไม่ได้เรียนบางทีมีแจกชีท แล้วชีทเยอะมากเทอมหนึ่ง 2-3 กิโลกรัมหนังสือเรียนเยอะชีทก็เยอะเลยไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เขาเรียนด้วยชีทหรือเรียนด้วยหนังสือกันแน่" นางณฐากล่าว

นางณิตานัสธ์ พุ่มแพรพันธ์ ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมผู้ปกครองและครูและผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์กล่าวว่า กระเป๋านักเรียนไทยหนักจริงอาจเพราะหนึ่งวิชามีหลายเล่ม อย่างวิชาภาษาไทยมี 4 เล่ม เป็นหนังสือภาษาพาทีหนังสือวรรณคดีลำนำ สองเล่มนี้มีความหนามาก และมีหนังสือแบบฝึกหัดกับสมุดอีก ซึ่งวิชาภาษาไทยเป็นวิชาหลัก ต้องแบกมาโรงเรียนแทบทุกวัน

ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมผู้ปกครองและครูกล่าวอีกว่า ปัญหาที่แท้จริงคงไม่ได้อยู่ที่ไม่จัดตารางสอน แต่อยู่ที่ครูประจำวิชาไม่วางแผนการเรียนการสอนให้ดี ไม่ระบุว่าวันไหนเรียนหนังสือเล่มใดทำให้เด็กต้องแบกหนังสือทุกเล่มของวิชานั้น หากไม่นำมาหมดทุกเล่มหรือเอามาไม่ตรงที่ครูสอน เด็กก็ถูกทำโทษ

"ตารางสอนบอกวิชาโดยรวมอย่างวันจันทร์เรียนภาษาไทยแต่ในตารางสอนไม่ได้ระบุว่าเรียนเล่มไหน เป็นหน้าที่ของครูต้องเตรียมการสอนตั้งแต่คาบแรก บอกเด็กเลยว่าวันจันทร์จะเรียนภาษาพาที วันอังคารเรียนวรรณคดีลำนำ เพื่อเด็กไม่ต้องแบกหนังสือเรียนมาหมด มันหนัก อันตรายทั้งสุขภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย" นางณิตานัสธ์กล่าว

ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมผู้ปกครองและครูกล่าวเพิ่มเติมว่าเด็กที่ผู้ปกครองไม่ได้มารับมาส่งนั้นเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาขึ้นรถโดยสารประจำทาง กระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมากกับรถโดยสารประจำทางที่ชอบออกตัวเร็ว มีโอกาสทำให้เด็กตกลงมาได้ ยิ่งช่วงเวลามาเรียนและเลิกเรียนจะตรงกับเวลาทำงานและเลิกงานของหลายสถานที่ทำให้รถโดยสารแออัดมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้มีเฉพาะการโดยสารรถประจำทางเท่านั้น เพราะเด็กเดินทางมาโรงเรียนจากหลายเส้นทางทั้งขึ้นรถ ลงเรือแม้แต่เดินก็เกิดอันตรายได้ โดยส่วนตัวเคยเห็นที่สะดุดบันไดสะพานลอยอยู่บ่อยๆเพราะเด็กชอบโน้มตัวไปด้านหน้าเพื่อต้านน้ำหนักกระเป๋า

ครูอ้างนร.ไม่จัดตารางสอน

นางศิริวรรณ  ยังรอต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนแม่พระประจักษ์กล่าวว่า กรณีที่กระเป๋านักเรียนหนักเพราะหนังสือเรียนในวิชาหลักที่ต้องเอามาทุกวันมีประมาณ 5 วิชาคือคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ทางโรงเรียนสั่งซื้อหนังสือที่มีขนาดและความหนาไม่มาก แต่แบ่งเป็นเล่มเนื้อหากับเล่มแบบฝึกหัดซึ่งคุณครูประจำวิชาจะตกลงกับนักเรียนว่าวันนี้เรียนเล่มไหนถ้ากระเป๋า

หนักคงเป็นเพราะมีอุปกรณ์การเรียนการสอนเพิ่มเติม อย่างเช่นวิชาศิลปะที่ต้องเตรียมอุปกรณ์มา ซึ่งวันนั้นก็อาจจะทำให้กระเป๋านักเรียนหนักขึ้น และเด็กบางคนชอบนำสัมภาระมาจากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา กระติกน้ำ ของเล่นอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเรียน จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเป๋านักเรียนมีน้ำหนักมาก

นางศิริวรรณกล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการตู้เก็บหนังสือทางโรงเรียนยังไม่มีการกำหนดการให้เก็บหนังสือไว้ใต้โต๊ะ หรือมีตู้เก็บหนังสือให้ หากโรงเรียนมีตู้ให้เก็บหนังสือแล้ว นักเรียนมักจะทิ้งหนังสือไว้ที่โรงเรียนจนหมด ไม่ยอมเอากลับไปทำการบ้านหรือทบทวนบทเรียน อย่างไรก็ตามหลังเลิกเรียนของทุกวัน ทางโรงเรียนจัดให้มีการเรียนเสริมในตอนเย็นช่วงนั้นจะให้นักเรียนทำการบ้านจนเสร็จและสามารถส่งไว้หน้าห้องได้เลย แต่ส่วนมากนักเรียนมักทำไม่เสร็จและต้องแบกกลับบ้านเป็นประจำ

นางฐิติพร พิณพาทย์ ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแม่พระประจักษ์กล่าวถึงสาเหตุที่เด็กกระเป๋าเรียนหนักว่า สาเหตุหลักคือไม่ยอมจัดตารางสอนคงเพราะกลัวลืมหนังสือมาเรียน อีกกลุ่มจะเป็นเด็กที่หิ้วของนอกเหนือจากตำราเรียน อย่างของเล่น ตุ๊กตา หนังสือการ์ตูนมาเล่นกับเพื่อน และอีกสาเหตุคือไม่ยอมส่งการบ้าน ตอนนี้นอกจากหนังสือที่ทางโรงเรียนจัดให้ซื้อแล้วยังมีหนังสือยืมเรียนของรัฐบาลในโครงการเรียนฟรี ทำให้นักเรียนมีหนังสือเรียนของ 5 วิชาหลักเพิ่มขึ้น ใน 1 วิชาหลักมีประมาณ 3 เล่ม โดยปกติหนังสือที่ยืมเรียนทางโรงเรียนไม่ให้เอากลับบ้าน เว้นแต่ว่าจะมีการบ้านแล้วนักเรียนไม่ยอมทำให้เสร็จในช่วงเรียนเสริมตอนเย็น

นางฐิติพรได้ความเห็นอีกว่า หากถามถึงการแก้ปัญหา จะแก้ที่สื่อการเรียนการสอนอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะสำหรับเด็กประถมฯ หนังสือเป็นสิ่งสำคัญจะลดหนังสือแล้วให้เป็นการจดตามคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนหนึ่งคือผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลบุตรหลานในเรื่องของการจัดกระเป๋าสอนให้เขามีระเบียบมีความรับผิดชอบ

รร.พร้อมพรรณวิทยาจัดโครงการกระเป๋าเบา

นางวิไลวรรณ หงษ์ยุพา ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยากล่าวว่า ทางโรงเรียนและประธานกรรมการโรงเรียน ได้ตระหนักถึงปัญหากระเป๋านักเรียนหนัก จึงออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้

ชื่อโครงการกระเป๋าเบา โดยทางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเก็บหนังสือไว้ในลิ้นชักได้เพราะเด็กต้องใช้หนังสือเรียนทุกวัน ถ้าวิชาไหนที่ไม่ต้องนำกลับไปทบทวนบทเรียนหรือทำการบ้าน ทางโรงเรียนเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องให้เด็กขนไปขนมา

ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยากล่าวอีกว่า โรงเรียนมีการกำหนดวันเลยว่าวันไหนจะให้นักเรียนนำวิชาไหนกลับบ้านเพื่อทบทวน อย่างวันจันทร์ให้นำวิชาภาษาไทยกลับไปอ่าน คุณครูประจำชั้นจะตรวจกระเป๋าเด็กก่อนออกจากห้องว่าในกระเป๋ามีหนังสือภาษาไทยไหม หรือแบกหนังสืออื่นเกินความจำเป็น

กลับบ้านหรือไม่ ในหนึ่งสัปดาห์จะแบ่งให้ตรง 5 วิชาหลัก ส่วนนักเรียนจะนำกลับบ้านทุกวันจะเป็นสมุดจดศัพท์ กับสมุดจดการบ้าน

แพทย์ห่วงส่งผลถึงกระดูกในอนาค

นายระพินทร์ พิมลศานติ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์ผ่าตัดกระดูกและข้อและอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์ กายภาพบำบัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลให้สัมภาษณ์ว่า การแบกกระเป๋าหนักเกินไปส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยลักษณะของกระเป๋าที่ใช้จะส่งผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป เช่น กระเป๋าสะพายหลังจะทำให้ส่วนของกล้ามเนื้อทราปิเซียส (Trapezius) หรือกล้ามเนื้อบ่าทำงานหนักเพราะต้องรับน้ำหนักจากการเกร็งและการกดทับของกระเป๋าในส่วนของกระดูกจะเป็นกระดูกสะบักหลังกับไหปลาร้า แต่กระดูกอาจไม่ส่งผลโดยตรงมากนักเนื่องจากกระดูกบริเวณนี้มีกล้ามเนื้อบ่าขนาดใหญ่คลุมอยู่ แต่กรณีในเด็กอายุ 5-10 ปี กล้ามเนื้อของเด็กมีความหยืดหยุ่นค่อนข้างดี แต่จะส่งผลถึงในอนาคตมากกว่า

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์กล่าวว่า  หากเป็นกระเป๋าถือจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อแขนไหล่และกล้ามเนื้อบ่าจนถึงคอ เนื่องจากเวลาถือกระเป๋าถือคนส่วนมากจะถือข้างที่ถนัด ทำให้กล้ามเนื้อแขนข้างที่ใช้เป็นหลักทำงานหนักมากกว่า นอกจากนั้นการถือของหนักจะเหมือนตัวถูกดึงไปข้างหนึ่ง คอของเด็กจะเอียงต้านไปทิศตรงข้าม ทำให้ส่งผลกระทบถึงคอเกิดอาการเมื่อยล้า จึงเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อมากกว่า ปวดจากตัวกระดูกและข้อโดยตรง ยกเว้นแต่ว่าจะถูกกระตุก กระชาก แต่อาจเป็นเรื่องของกล้ามเนื้ออักเสบชนิดเรื้อรัง หรือทางแพทย์แผนไทยเรียกว่าอาการเส้นจม

นายระพินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า การแบกกระเป๋าหนักๆ จนเป็นความเคยชิน จะส่งผลต่ออนาคตและมีโอกาสเป็นโรคกระดูกเร็วขึ้นเนื่องจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง การยกของหนักหรือท่าทางในชีวิตประจำวันอย่างนั่งผิดท่านอนผิดท่าการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้ปกครองต้องควบคุมเวลาในการใช้งานคอมพิวเตอร์รวมถึงการนอนอ่านหนังสือบนเตียงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ แนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมงเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เกร็ง ซึ่งจะช่วยชะลอความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กระเป๋าหนักส่งผลให้เด็กไม่สูง หรือไม่ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์บอกว่า ผลกระทบที่ว่าจะทำให้เด็กไม่สูงนั้น ทางการแพทย์ยังตอบไม่ได้แน่ชัด ยังไม่มีเหตุและผลรองรับ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าอาจส่งผลเล็กน้อย เด็กที่สะพายของหนักอาจสูงน้อยกว่าปกติ "ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตท่าทางเวลาลูกหิ้วกระเป๋า ถ้าตัวเด็กเอียงไม่ว่าซ้ายขวาหน้าหลังถือเป็นเรื่องไม่ดี เพราะไม่เกิดความสมดุลทางร่างกายไม่ว่าจะหิ้วกระเป๋าในรูปแบบไหน ท่าทางที่ถูกต้องควรตั้งตรง ท่าที่ถูกต้องมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะปวดเมื่อยหรือมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อในอนาคต" นายระพินทร์กล่าว

ด้านนายแพทย์พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลกรุงเทพ บอกถึงการป้องกันการสะพายกระเป๋าหนักในกรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า แนะนำให้จัดเรียงของในกระเป๋าให้มีความสมดุลโดยให้ของที่หนักที่สุดอยู่ติดแผ่นหลังมากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการถ่วงน้ำหนักของกระเป๋าการปรับสายกระเป๋าก็มีส่วนช่วยเช่นกัน ปรับให้กระเป๋าแนบกับลำตัวมากที่สุด แต่อย่าแน่นจนสายกระเป๋ารัดจนเกินไปไม่เช่นนั้นก็เกิดอาการกดทับได้ และที่สำคัญไม่ควรสะพายแบบข้างเดียว

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลกรุงเทพแนะอีกว่าในกรณีกระเป๋าถือแนะนำว่าให้ถือในลักษณะสลับมือกันถือ เพื่อไม่เป็นการใช้งานข้างใดข้างหนึ่งหนักเกินไป รวมไปถึงท่ากายบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ

‘กระทรวงศึกษา'เลี่ยงให้ข้อมูล

ผู้สื่อข่าว "หอข่าว" ได้ติดต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อถามถึงนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องกระเป๋านักเรียนหนักซึ่งมีเจ้าหน้าที่พนักงานบอกให้ผู้สื่อข่าวยื่นเอกสารขอสัมภาษณ์ไปยังหน้าห้องท่านเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้การติดต่อรวดเร็วยิ่งขึ้นแต่เมื่อผู้สื่อข่าวยื่นเอกสารไปเจ้าหน้าที่ได้โยนเรื่องไปยังกองอำนวยการกลุ่มสารนิเทศเพื่อทำแบบบันทึกและส่งกลับมายังท่านเลขาธิการสพฐ.อีกครั้ง จนวันที่ 10 มกราคม 2556 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมายังผู้สื่อข่าวเพื่อขอข้อมูลน้ำหนักกระเป๋า แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าว : หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ"หอข่าว" จัดทำโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 519629เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

We noted that young students were carrying "overweight backpacks" some 3 years ago on our journey through the South of Thailand. I commented about this in my poem about family life in Thailand

< http://www.gotoknow.org/posts/437600 >

... พระเรียงข้าง ทางดิน บิณฑบาต
สองแถวปาด จอดจับ รับโดยสาร
เสียงเครื่องคน ล้นลำ ไปทำงาน
เด็กหลังอาน หอบกระเป๋า ไปเข้าเรียน
เสียงถนน กรนลั่น ดันไอเสีย
ควันลุกเลีย จับฟ้า ใครบ้าเขียน
โลกหมดแรง แปลงไอ ไปวนเวียน
ป่าไม้เตียน เหี้ยนหลอ ไม่พอเพียง...

It has taken awhile for someone to notice this. But how long will it take for someone to do something about it? Do we have to wait until one of those kids gains power and act? Perhaps it is time to digitized textbooks and put them on tablets?

(It won't happen when money comes before well-being of children. Sigh!)

There are more observations that should have been noted by governments and schools in the poem. These are social issues that need remedy actions -- urgently. They will cost more to repair the damages than to prevent the problems in the first place. (If we have people who have vision and passion to move the country to a greater things. Sigh!)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท