ลูกปัดหินคาร์เนเลียนที่เมืองท่าโบราณเขาสามแก้ว


  • ลูกปัดเป็นเครื่องประดับที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลานาน คนก่อนประวัติศาสตร์ใช้วัสดุที่ใกล้ตัว เช่น เปลือกหอย, กระดูกสัตว์ และหิน มาเจาะรูแล้วร้อยเป็นเส้น ใช้เป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ หรือร้อยติดกับเส้นผมและเสื้อผ้า ในหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบว่ามีการสวมสร้อยลูกปัดให้กับคนตาย ลูกปัดจึงเป็นเครื่องประดับที่มีค่าของคนในอดีต ได้ค้นพบแหล่งผลิตลูกปัดโบราณในภาคใต้ เช่น แหล่งโบราณคดีควนลูกปัดหรือคลองท่อม กระบี่, แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ สุราษฎร์ธานีย์, แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ระนอง และแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ชุมพร เป็นต้น   
  • แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วเป็นเมืองท่าโบราณรุ่นแรกในภาคใต้ กำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๕ – ๑๐ พบว่ามีการติดต่อกับต่างแดนได้พบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้าในสมัยโบราณ เช่น กลองมโหระทึก, ตราประทับ และต่างหูลิง-ลิง-โอ เป็นต้น และพบว่าเขาสามแก้วเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเพื่อเป็นสินค้าออกส่งออก เช่น กำไลและลูกปัดแบบต่างๆ ที่ทำมาจากหินและแก้ว ได้ค้นพบหินวัตถุดิบซึ่งอยู่ในขั้นตอนการผลิตที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เช่น ลูกปัดที่ยังไม่ได้เจาะรู, รูที่เจาะไม่เสร็จสมบูรณ์, การขัดฝนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เป็นต้น ลูกปัดที่พบเป็นจำนวนมากในแหล่งเขาสามแก้ว คือ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน มีหลายรูปแบบ เช่น วงกลม, ทรงเหลี่ยม, ทรงพระจันทร์เสี้ยว และทรงกระบอก เป็นต้น ธราพงศ์ ศรีสุชาติ นักวิชาการผู้ทำการศึกษาแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วให้ข้อคิดเห็นว่า หินคาร์เนเลียนที่พบในแหล่งเขาสามแก้วอาจเป็นหินที่นำมาจากอินเดียเพราะอินเดียมีแหล่งหินคาร์เนเลียนที่มีคุณภาพดีมีสีสันสดใส หรืออาจจะใช้หินวัตถุดิบในท้องถิ่นซึ่งมีสีสันไม่จัดจ้านแล้วใช้วิธีการหุงแร่ซึ่งรับมาจากอินเดีย การหุงแร่จะทำให้หินคาร์เนเลียนมีสีสันสดใสโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตลูกปัดจากอินเดีย
  • จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าเขาสามแก้วเป็นเมืองท่าและแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญในพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๐ มีการติดต่อและรับวิธีการผลิตลูกปัดมาจากอินเดีย กลุ่มคนที่เป็นแรงงานในการผลิตนั้นน่าจะเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในภาคใต้ การก่อตั้งเมืองท่าเขาสามแก้วคงเป็นสื่อกลางและตัวกระตุ้นให้กลุ่มคนดั้งเดิมติดต่อกับกลุ่มคนจากต่างแดนที่มีเทคโนโลยีการผลิตสูงกว่า ทำให้วิถีชีวิตของคนดั้งเดิมในภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปและมีพัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในที่สุด




เอกสารอ้างอิง

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “เขาสามแก้ว : ชุมชนโบราณ,” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม๑.   กรุงเทพ: สถาบันทักษิณคดีศึกษา, ๒๕๒๙.    

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ลูกปัดต่างชาติในแหล่งโบราณคดีประเทศไทย,” ศิลปากร, ปีที่ ๓๓, ฉบับที่ ๑(มีนาคม-  เมษายน ๒๕๓๓) ๕-๑๙.

หมายเลขบันทึก: 519616เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท