มาเตรียมตัวครู...ก่อนให้นักเรียนเตรียมตัวอ่าน


                           มาเตรียมตัวครู...ก่อนให้นักเรียนเตรียมตัวอ่าน



เฉลิมลาภ   ทองอาจ
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


       

             

             

             การสอนอ่านยังคงเป็นประเด็นด้านการสอนภาษาที่มีความสำคัญของประเทศไทย และต้องการปัจจัยและแรงกระตุ้นต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก  เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยหันมารักและสนใจการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น เพราะการอ่านนั้นเป็นพื้นฐานและเป็นตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพประชากร  ทุกประเทศจึงล้วนแต่ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อที่จะเพิ่มอัตราการอ่านหนังสือของประชากร ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

             ข้อค้นพบจากการวิจัยเรื่อง "การอ่านและพฤติกรรมการใช้ห้องสมุดของเยาวชนอเมริกา" (Younger Americans’ Reading and Library Habits) ของ  Pew Research Center  ในเดือนตุลาคม 2012 ได้แสดงให้เห็นถึงอัตราต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอ่านของเยาวชนในประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อค้นพบที่สำคัญ ประกอบด้วย 

              1.  83% ของเยาวชน อายุระหว่าง 16-29 ปี ใช้เวลาอ่านหนังสือเป็นประจำ โดยเยาวชน 75% อ่านหนังสือจริง  19% อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และ 11 % ฟังหนังสือเสียง (audiobook)

              2.  เยาวชนอเมริกันที่อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นั้น  มักจะอ่านจากเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และคอมพิวเตอร์ มากกว่าที่จะอ่านโดยใช้อุปกรณ์เช่น แทบเลต 

              3.  60% ของเยาวชนอเมริกันใช้ห้องสมุด โดยกว่า 46% ใช้เพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัย  38% เข้าไปใช้บริการยืมหนังสือ  และสื่อการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ และ 23% ใช้บริการยืมหนังสือพิมพ์ แมกกาซีนและวารสารต่างๆ 

              4.  นักเรียนระดับมัธยมศึกษา (อายุประมาณ 16-17 ปี) จะเข้าไปใช้บริการห้องสมุดเพื่ออ่านและทำวิจัยตามความสนใจของตน  โดยจะเน้นการใช้บริการตรวจสอบหนังสือที่ต้องการและรับคำปรึกษาการวิจัยจากเจ้าหน้าที่  ทั้งนี้ นักเรียนกลุ่มนี้จะขอรับคำแนะนำในการอ่านหนังสือมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

                จากสถิติต่างๆ ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การอ่านเป็นพฤติกรรมสำคัญที่แฝงอยู่ในชีวิตของเยาวชนทั้งในด้านการเรียนและการดำเนินชีวิตประจำวัน  ประเด็นที่น่าสังเกตคือ การใช้บริการห้องสมุดนั้นอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาวิจัยและการค้นคว้าส่วนบุคคล แสดงให้เห็นว่า คุณภาพด้านการบริการข้อมูลสารสนเทศของห้องสมุดท้องถิ่นในต่างประเทศนั้นอยู่ในระดับที่สูงยิ่ง และที่สำคัญคือ การเข้าถึงการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถส่งต่อไปยังระบบเครือข่ายต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จากที่กล่าวมานี้ คือการจัดปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการเกิดพฤติกรรมการอ่านและความสามารถในการอ่าน

               ตัวเลขดังกล่าว น่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับประเทศไทย ที่มีการวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า เยาวชนไทยอ่านน้อย และแทบจะไม่ได้ใช้บริการห้องสมุด เพราะห้องสมุดท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น มีสภาพที่ไม่ได้เอื้อต่อการสืบค้นหรือศึกษาข้อมูลแต่อย่างใด  อย่างไรก็ตาม การหวังพึ่งแต่ปัจจัยภายนอกนั้น อาจจะเป็นการมองข้ามการให้ความสำคัญกับกระบวนการอ่านของผู้เรียน ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีใดๆ  การเตรียมตัวครูก่อนการสอนอ่าน จึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ก่อนที่จะไปพึ่งพิงกับเทคโนโลยีเหล่านั้น  ซึ่งครูภาษาไทยควรจะเข้าใจหลักการสอนอ่านเป็นเบื้องต้น  

             การอ่านเป็นทักษะของการรับสาร ถ้ากล่าวในเชิงทฤษฎี การอ่านก็คือกระบวนการสร้างความหมายจากสิ่งที่อ่าน  ความหมายนี้ คือ มโนทัศน์ซึ่งอยู่ในภายความคิดของผู้อ่านเอง  อันเกิดจากการปรุงแต่งของความรู้และประสบการณ์ของผู้อ่านเอง เรื่องที่คนหนึ่งอ่าน จึงอาจจะสื่อความหมายได้เป็นอย่างหนึ่ง และเมื่อมีผู้อ่านอีกคนหนึ่งมาอ่านเรื่องเดียวกันนั้นซ้ำ เขาก็อาจจะรับรู้ความหมายแตกต่างกันไปได้ เช่นนี้ จึงเรียกว่า เกิดจากการปรุงแต่งของประสบการณ์ ซึ่งแน่น่อนว่า นักเรียนของเราแต่ละคนมีประสบการณ์หรือความรู้ไม่เท่ากัน ดังนั้น การสร้างความหมายเพื่อที่จะนำไปสู่ความเข้าใจนั้น จึงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลด้วยการสอนอ่านที่มีประสิทธิภาพ  ด้วยการปูความรู้พื้นฐานและการทบทวนประสบการณ์เดิมของนักเรียนกับสิ่งที่จะอ่าน จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญดังจะได้อธิบายต่อไป 

              การเตรียมตัวก่อนอ่าน (((((((  (preparation for reading) นี้ ทางแวดวงการสอนภาษาข้างฝากตะวันตก ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก จุดประสงค์ของการเตรียมตัวนักเรียนก่อนการอ่าน คือ ตรวจสอบดูว่า นักเรียนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่านมากน้อยเพียงใด เพราะหากความรู้ไม่มี หรือไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่จะอ่านกับชีวิตของตนได้ การอ่านในครั้งนั้น ย่อมประสบกับภาวะยากลำบากอย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับอีกจุดประสงค์หนึ่ง คือ การทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใคร่รู้ที่จะอ่าน และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำความเข้าใจเรื่องที่อ่านด้วยตนเอง  เพราะหากนักเรียนขาดแรงจูงใจหรือความสนใจอ่านตั้งแต่ยังไม่ทันอ่านเสียแล้ว ก็คงจะหวังไม่ได้ว่า การอ่านครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จไปได้ ซึ่งกลวิธีหรือเทคนิคง่ายๆ ที่ครูภาษาไทยสามารถนำมาใช้ในกิจกรรมการเตรียมตัวนักเรียนก่อนการอ่านก็คือ การใช้คำถาม

                 เทคนิคการใช้คำถาม สามารถนำมาใช้ตั้งแต่การซักถามและสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง ว่าหมายถึงอะไร น่าจะนำเสนออะไร น่าจะมีวัตถุประสงค์ใด หรือน่าจะสื่อถึงแนวคิดหรือประเด็นใดเป็นพิเศษ  การใช้คำถามอีกลักษณะหนึ่ง คือ การถามโดยยกคำศัพท์ วลี สำนวนหรือประโยคใจความสำคัญของเรื่องที่อ่าน โดยยกขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก่อนที่จะลงมืออ่านเรื่องนั้น  เช่นนี้ ครูก็จะสามารถตรวจสอบความรู้เดิมของนักเรียน และเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆ  ที่จะใช้ในการตีความหรือสร้างความเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ ทั้งนี้ ถ้าจะสังเกตย้อนกลับมาที่บทบาทของผู้สอน ทุกท่านคงจะเห็นใช่ไหมครับว่า  ก่อนที่จะเตรียมตัวนักเรียนก่อนอ่าน ครูภาษาไทยก็จะต้องเตรียมตัวตนเองให้อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “การเตรียมตัวก่อนการสอนอ่าน”ด้วย

                  ครูภาษาไทยจะต้องเตรียมตัวก่อนการสอนอ่านอย่างไร ? ง่ายที่สุดคือ ครูจะต้องไม่ลืมว่า หัวข้อ  ประเด็น  แนวคิดสำคัญ ประโยคหรือคำศัพท์สำคัญในเรื่อง ที่นักเรียนจะต้องทราบ และจะต้องรู้อย่างชัดเจน ไม่พลาดคลาดเคลื่อนในเรื่องนั้นคืออะไร สิ่งเหล่านี้ ครูจะต้องถามตนเองก่อนว่ารู้อย่างถูกต้องแน่ชัดแล้วหรือไม่ ตัวอย่างเช่น กรณีสอนการอ่านวรรณคดีเรื่อง  โคลงภาพพระราชพงศาวดาร พันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต ในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕  ครูจะต้องไม่ลืมว่า แนวคิดสำคัญของเรื่องคือ “ความยึดมั่นและซื่อตรงในกฎเกณฑ์ที่สังคมตั้งขึ้น” เมื่อครูทราบแนวคิดนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง ความสำคัญของกฎหมาย ความจำเป็นของที่จะต้องมีระเบียบและกฏเกณฑ์ในสังคม รวมถึงความรับผิดชอบในกฏเกณฑ์นั้น สิ่งเหล่านี้ ต้องเป็นสิ่งที่นำมาพูดกันในชั้นเรียนภาษาไทยก่อนที่จะเรียนเนื้อหาของโคลงภาพดังกล่าวโดยละเอียด หลายครั้งที่มีครูภาษาไทยสอนผิดประเด็น ไม่ตรงจุด  คือ สอนเรื่องนี้จนกลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์  มุ่งศึกษาข้อมูลของพระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ ฯลฯ  จนไม่ได้พูดกันถึงเรื่องความรับผิดชอบ  และหน้าที่ของพลเมืองที่มีต่อกฏหมายแม้  แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ ผู้สอนจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับเตรียมตนเองก่อนการสอนอ่านให้มาก  ซึ่งกระผมเห็นว่า  การเรียนรู้และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูภาษาไทยที่สอนเรื่องเดียว  กันนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่สำคัญที่จะทำให้ครูมีความพร้อมก่อนการสอนอ่าน

                   การสอนอ่านให้ประสบความสำเร็จมีหลักการง่ายๆ อยู่สองสามประการโดยสรุปคือ เตรียมตัวให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานก่อนการอ่านอย่างเพียงพอ ระหว่างการอ่านเน้นให้ผู้เรียนสร้างความเข้าใจ  ด้วยการจัดการข้อมูลที่อ่านให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมาย (ทำตาราง แผนภาพ แผนผัง ตอบคำถาม สรุปย่อ ออกมาเล่าหน้าชั้น ฯลฯ) และสรุปความคิดหลัง  การอ่าน  ที่ได้จากการอ่านเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตนเอง  ดังที่กล่าวมานี้  คือหลักการสำคัญ ที่จะนำไปสู่การสร้างชั้นเรียนการอ่านมีคุณภาพต่อไป  

                                         __________________________________________________


หมายเลขบันทึก: 518075เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2013 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2013 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท